“เวียดนาม” เป็นประเทศปลายทางยอดนิยมของบริษัท ที่ย้าย หรือกระจายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงหลายปีที่สงครามการค้าและความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น ทำให้ตอนนี้เวียดนามมีความสำคัญมากในห่วงโซ่อุปทานโลก
ยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ประกาศนโยบาย “Friend- Shoring” ซึ่งหมายถึงการสร้างห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่เป็นพันธมิตรที่เชื่อถือ-เชื่อใจได้เท่านั้น และต้องการให้เวียดนามเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ก็ยิ่งทำให้เวียดนามซึ่งมีความสัมพันธ์ค่อนข้างใกล้ชิดกับจีนอยู่ในสถานะ “สำคัญ” ยิ่งขึ้นอีก
ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯ กับรัฐบาลจีน บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันหลายราย เช่น แอปเปิล เอชพี และอินเทล ย้ายฐานการผลิตส่วนหนึ่งออกจากจีน โดยมีเวียดนามเป็นฐานที่มั่นใหม่ ยังไม่นับบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอื่นๆ อย่าง ซัมซุง แอลจี ฟ็อกซ์คอนน์ และเลโก้ ที่เลือกเวียดนามโดยไม่ได้มีปัจจัยเรื่องรัฐบาลกดดันมากเท่าบริษัทอเมริกัน
ความสำคัญของเวียดนามถูกเน้นย้ำครั้งล่าสุด เมื่อ “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกามาเยือนเวียดนามเมื่อวันที่ 20-21 ก.ค. 2023 หลังจากเสร็จภารกิจการประชุมรัฐมนตรีคลัง G20 ที่อินเดีย
การเยือนเวียดนามของเยลเลนเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่จะยกระดับความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับเวียดนาม ในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังพยายามลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีน เยลเลนบอกกับ “ฟาม มินห์ ชินห์” นายกรัฐมนตรีเวียดนามว่า “สหรัฐฯ ถือว่าเวียดนามเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและ เปิดกว้าง” ซึ่งเป็นการเน้นย้ำเพื่อมุ่งสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เพื่อตอบโต้อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีน
และเธอกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมกับนักธุรกิจสหรัฐฯ ในกรุงฮานอยว่า สหรัฐฯ มองเวียดนามเป็น “หุ้นส่วนที่สำคัญ” ในการขยายแหล่งผลิตพลังงานสีเขียว และสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นทานทนมากขึ้น
เยลเลน มองว่าเวียดนามได้กลายเป็น critical node ซึ่งหมายถึงเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก และเธอได้กล่าวถึงการลงทุนครั้งใหญ่ของเหล่าบริษัทสหรัฐฯ ในเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของเวียดนามในห่วงโซ่อุปทานของโลก
รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการกระชับความสัมพันธ์กับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหนึ่งในวิธีการกระชับความสัมพันธ์จะทำผ่านโครงการของกลุ่ม G7 ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะระดมเงินทุน 600,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย
ซึ่งโครงการนี้ของกลุ่ม G7 ถูกมองว่ามีเจตนาจะถ่วงดุลอิทธิพลของจีนที่ขยายอิทธิพลในประเทศกำลังพัฒนาผ่านโครงการ Belt and Road Initiative หรือเส้นทางสายไหมใหม่
หนึ่งในความพยายามของสหรัฐฯ ที่จะดึงเวียดนามเป็นพันธมิตร คือ เยลเลนเผยว่า สหรัฐฯ กำลังระดมเงินทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สนับสนุนโครงการ Just Energy Transition Partnership ของเวียดนาม เพื่อช่วยให้เวียดนามสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050 ตามเป้าหมาย
ถึงอย่างนั้น การปฏิบัติหน้าที่เพื่อยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามของ เยลเลนก็ไม่สำเร็จราบรื่น อ้างอิงตามที่ รอยเตอร์รายงานว่า ความพยายามนี้ของสหรัฐฯ ถูกต่อต้านจากฝั่งเวียดนามเล็กน้อย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่า เกิดจากทางเวียดนามกังวลว่า จีนอาจจะมองความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นนี้ว่า เวียดนามเลือกที่จะเป็นศัตรูกับจีน
ที่มา: รอยเตอร์