โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM BBLAM
ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้ตกอยู่ในภาวะผันผวน ส่งผลให้พอร์ตการลงทุนของเราติดลบ จนทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนกันว่า “จะไปต่อหรือพอแค่นี้” แต่จนถึงปัจจุบันก็เชื่อว่า หลายคนน่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป และอาจจะยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะจัดการกับพอร์ตการลงทุนของตัวเองยังไงดี? เพราะท่ามกลางสถานการณ์การลงทุนที่มีความผันผวนอย่างในตอนนี้ เราก็มักจะได้รับข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ว่า “ยังมีโอกาสในการลงทุนที่ผ่านเข้ามาอยู่เสมอ” จนทำให้เรารู้สึกลังเลใจว่า ควรที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุนราคาให้ต่ำลงดีไหม? หรือควรจะขายคืน เพื่อหยุดการขาดทุน (Cut Loss) หรือว่าควรจะอยู่เฉยๆ ปล่อยให้เวลาคลี่คลายสถานการณ์ไปเอง
ความรู้สึกต่างๆ เหล่านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อจิตใจของเราและนักลงทุนหลายๆ คน จนทำให้เกิดสภาวะทางจิตวิทยาที่รู้สึกถึง “ความไม่ปลอดภัย (Insecure)” และได้สะท้อนออกมาเป็นทัศนคติและพฤติกรรมในการลงทุนในลักษณะต่างๆ โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ก็น่าจะเป็น “การระแวงสงสัย” การให้คำแนะนำการลงทุนของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็น นักวิเคราะห์ หรือผู้ให้คำแนะนำการลงทุน โดยเฉพาะกับคำแนะนำที่สื่อความว่า ในสภาวะผันผวนยังมีโอกาสในการลงทุนอยู่ หรือควรลงทุนเพิ่มในช่วงนี้เพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน ฯลฯ ได้ถูกนำไปตีความว่า เป็นการชวนให้ซื้อเพื่อที่บริษัทผู้นำเสนอขายจะได้รับค่าธรรมเนียมจากการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการตีความที่คลาดเคลื่อนไปมาก
ในความจริงแล้ว บริษัทผู้นำเสนอขายสินทรัพย์การลงทุนต่างๆ นั้น มีหน้าที่ในการรายงานข้อมูลตามความเป็นจริง รวมถึงวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมา ภายใต้แนวคิด มุมมองที่แตกต่างกันไป โดยการให้ข้อมูลในแต่ละครั้ง ก็ไม่ได้เป็นการให้คำแนะนำเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งแต่ละคนก็มีเป้าหมาย เงื่อนไข รวมถึงต้นทุนราคาของสินทรัพย์ในการลงทุนที่แตกต่างกันไป ดังนั้น ตัวเราเองในฐานะที่เป็นผู้ลงทุน หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ ไปแล้ว จะต้องเป็นผู้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และประเมินเองว่าจะตัดสินใจลงทุนหรือไม่? จะปรับสัดส่วนการลงทุนเพิ่ม หรือลดให้เหมาะสมได้อย่างไร? และการลงทุนในสินทรัพย์นั้นยังสอดคล้องกับเป้าหมายในการลงทุนของเราอยู่หรือเปล่า?
อย่างสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เศรษฐกิจโลกน่าจะมีความผันผวนไปอย่างน้อยๆ ก็น่าจะประมาณ 5 ปี ซึ่งก็ทำให้นักวิเคราะห์ และผู้ให้คำแนะนำการลงทุน หันมาสนใจการลงทุนในหุ้นกันมากขึ้น เพราะอย่างแรก คือ มีความสอดคล้องกันในเรื่องระยะเวลาในการลงทุน และอย่างที่สอง คือ มีธุรกิจหลายๆ อย่างที่มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไปได้ดีในอนาคต แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านเข้ามากระทบอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลให้ราคาหรือมูลค่าบริษัทนั้นๆ กลับเติบโตได้ต่ำกว่าความเป็นจริง รวมถึงปัจจัยบางอย่างอาจจะแค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป จึงทำให้เหล่าบรรดานักวิเคราะห์ และผู้ให้คำแนะนำการลงทุนมองว่า นี่แหละ! เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะได้รับคำแนะนำให้ลงทุน หรือเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นให้มากขึ้น แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า “คำแนะนำไม่ใช่ข้อบังคับที่ต้องทำตาม” ดังนั้น เราจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะลงทุนอะไร? จำนวนเท่าไร? นานแค่ไหน? สัดส่วนการลงทุนเป็นอย่างไร? และจะซื้อเพิ่ม หรือขายคืนเมื่อไร? โดยเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมาย สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ และกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลาย ทั้งประเภทของสินทรัพย์และภูมิภาคที่เลือกลงทุนด้วย สำคัญที่สุด คือ เมื่อลงทุนไปแล้วต้องคอยติดตามข่าวสาร รวมถึงทบทวนพอร์ตลงทุนอยู่เสมอด้วย