เฟดลดดอกเบี้ยแน่ แม้เปลี่ยนเก้าอี้ นโยบายการเงินยังคงเดิม นักวิเคราะห์มองลดเกิน 0.75%
การหมุนเวียนสับเปลี่ยนตำแหน่งประจำปีของคณะกรรมการผู้มีสิทธิออกเสียง กำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ในปี 2567 โน้มเอียงมาทางสายเหยี่ยว (hawkish) มากขึ้นกว่ากลุ่มที่กำลังจะพ้นตำแหน่งไปจากในปี 2566 อย่างไรก็ตาม การสับเปลี่ยนดังกล่าวจะไม่เปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายสำคัญการหั่นอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า
นักวิเคราะห์จำนวนมากมีข้อโต้แย้งที่ตรงกันข้าม โดยอัตราเงินเฟ้อที่ร่วงลงรวดเร็วอย่างต่อเนื่องกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งมองว่าผู้กำหนดนโยบายของเฟดหลายคนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75%
การเปิดเผยดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 ธ.ค.) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดชอบใช้ในการพิจารณา ยังได้เสริมให้มุมมองที่เฟดต้องลดดอกเบี้ยแข็งแรงมากขึ้นไปอีก ทั้งมาตรวัดเงินเฟ้อผู้บริโภคแบบทั่วไปและแบบพื้นฐานที่ไม่รวมอาหารและพลังงานนั้น ชะลอตัวลงมากกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ซึ่งกำลังทำให้อัตราเงินเฟ้อรายปีในช่วง 3 เดือนและ 6 เดือนที่ผ่านมาของสหรัฐฯ ลดลงสู่ระดับหรือต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% ของเฟด
ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงของการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดได้กลายมาเป็นสายพิราบ (dovish) หรือสายที่เน้นผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากหลักฐานจากข้อมูลที่สะสมมาเห็นชัดว่าแรงกดดันด้านราคาหรือเงินเฟ้อกำลังผ่อนคลายลง และตลาดแรงงานกำลังชะลอความร้อนแรงลงในการเผชิญกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดตั้งแต่เดือน มี.ค. ปี 2565 จนถึงเดือน ก.ค. ปี 2566
เบรท ไรอัน (Brett Ryan) จากดอยซ์แบงก์ (Deutsche Bank) กล่าวว่า “ทุกๆ คนจะเป็นสายเหยี่ยวเมื่อต้องต่อสู้กับเงินเฟ้อ” แต่เนื่องจากว่าความเสี่ยงด้านขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้ลดลงมาแล้ว จึงได้เปลี่ยนมุมมองไป
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางตรึงอัตราดอกเบี้ยคงที่ไว้ที่ 5.25-5.50% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ ให้ข้อสังเกตว่า ช่วงเวลาของการหั่นอัตราดอกเบี้ยจะเป็น “คำถามถัดไป” ของเฟด ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลดิ่งฮวบลง และตลาดรับรู้ในราคาของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มขึ้นในเดือน มี.ค. ปีหน้า
ยังมีอีกคำชี้แจงเหตุผลสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีหน้า คือ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อร่วงลง การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้สม่ำเสมอจะผลักดันให้ต้นทุนการกู้ยืมที่แท้จริงสูงขึ้น ดังนั้น เฟดจะต้องจัดการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการคุมเข้มทางการเงินที่มากเกินไป
สก๊อต แอนเดอร์สัน (Scott Anderson) นักเศรษฐศาสตร์ของ BMO (The Bank of Montreal) สถาบันการเงินข้ามชาติชื่อดังของแคนาดา ให้ความเห็นว่า “ถ้าหากว่าเฟดตัดสินใจที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินรุนแรงมากกว่านี้อีกเล็กน้อย จะเป็นเหตุผลที่แท้จริงเนื่องมาจากอัตราเงินเฟ้อ ไม่ใช่เพราะว่าเกิดจากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หรือเติบโตขึ้นอย่างทันทีทันใด”
ที่มา: รอยเตอร์