BF Knowledge Tips: กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ คิดให้ดีก่อนลงทุน

BF Knowledge Tips: กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ คิดให้ดีก่อนลงทุน

ชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีเงินได้ รู้จักกับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ  หรือ RMF เพราะต้องการลงทุนเพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี แต่ก่อนจะเลือกกองทุนนี้ อยากให้ลองคิดสักนิดว่า ความต้องการของเรา สอดคล้องกับคุณลักษณะของกองทุนรึเปล่า อย่าคิดแค่ว่า เพราะต้องการลดหย่อนภาษีถึงลงทุนในกองทุนประเภทนี้ นั่นเป็นเพราะ

1. ระยะเวลาลงทุนที่ยาวนาน

สำหรับใครหลายๆ คนที่เริ่มต้นลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเริ่มเสียภาษี จึงเริ่มลงทุน ดังนั้น หากต้องการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ แนะนำว่า ต้องมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน ว่าการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ เพื่อเป้าหมายเกษียณอายุในอนาคต ไม่อย่างนั้นแล้ว อาจจะทำผิดเงื่อนไขได้ง่ายๆ เมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่ปี หรือเพียงเพราะต้องการใช้เงิน จึงรีบร้อนขายคืนออกมา ดังนั้น หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนก็จะทำให้เราสามารถลงทุนต่อเนื่องยาวนานจนถึงอายุ 55 ปีได้ และที่ผ่านมาต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ด้วย ทั้งนี้ เมื่อนับการลงทุนตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงวันที่ต้องการขายคืนต้องไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม ที่สำคัญคือ ห้ามหยุดการลงทุนติดต่อกัน 2 ปี ดังนั้น เป้าหมายในการลงทุนต้องชัดเจน

2. คำนวณเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณแล้วหรือยัง?

ข้อนี้ หลายคนลืมคำนึงถึง และคิดแค่ว่า เรามีเงินลงทุนสำหรับเกษียณแล้ว เพราะเราห่วงกังวลแต่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีมากจนเกินไป ทำให้ไม่ได้กลับมาคำนวณว่า แล้วที่เราลงทุนไปนั้น เพียงพอกับที่เราต้องการใช้จ่ายหลังเกษียณหรือเปล่า ดังนั้น ทางที่ดี ควรคำนวณด้วยว่า หลังเกษียณเราต้องการใช้จ่ายเท่าไหร่ อาจจะคำนวณค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อน และคำนวณต่อปี จากนั้นให้คูณจำนวนปีที่เราคาดว่าจะใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ซึ่งจะทำให้เราเห็นจำนวนเงินก้อนใหญ่ที่ต้องมีก่อนถึงเวลาเกษียณ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มการลงทุนในกองทุนเปิดทั่วไป หรือการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ ดังนั้น อย่าลืมคำนวณเงินที่ต้องการใช้หลังเกษียณกันด้วยค่ะ

3. เลือกนโยบายกองทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

นั่นเป็นเพราะกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพเป็นกองทุนที่เราต้องลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ระยะยาว ดังนั้น หากเราประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้แล้ว ไม่ควรลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายเสี่ยงต่ำกว่าที่เรายอมรับได้ เพราะด้วยระยะเวลาการลงทุนที่ยาวนาน หากเราไม่เลือกนโยบายการลงทุนที่มีความเสี่ยงเลย โอกาสที่เราจะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินเฟ้อคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้น เราควรปรับสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มสูงเพิ่มขึ้นอีกสักหน่อย เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของเงินลงทุนในระยะยาว

4. เพื่อไม่ให้ผิดเงื่อนไขการลงทุนควรลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

อย่างเช่นลงทุนทุกเดือน เดือนละครั้ง เพราะนอกจากจะไม่ทำให้เราลืมลงทุนแล้ว ต้นทุนที่ได้ยังเป็นต้นทุนแบบถัวเฉลี่ยที่เราทยอยสะสมลงทุนอย่างสม่ำเสมอ

5. ทบทวนและปรับแผนการลงทุนตามความเหมาะสม

ควรทำอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อจะได้รู้ว่าเราเข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้นแล้วหรือยัง หากยังไม่ขยับใกล้เป้าหมายนั่นเป็นเพราะอะไร ในปีที่เราลงทุนเกิดเหตุการณ์สำคัญอะไรขึ้นหรือเปล่า หรือสัดส่วนการลงทุนของเราหนักไปในการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้มากเกินไปหรือเปล่า ต้องปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนใหม่มั้ย เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลา ความสำคัญของเป้าหมาย และความเสี่ยงที่ยอมรับได้น้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากอายุที่มากขึ้น

ดังนั้น ก่อนการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ คิดให้ดีๆ ก่อน เมื่อตัดสินใจลงทุนแล้ว จะได้ลงทุนได้อย่างเหมาะสม ถูกต้องตามเงื่อนไขการลงทุน และมีกำลังใจในการลงทุนระยะยาวเพื่อเป้าหมายสำคัญในอนาคตของเราค่ะ