IMF มองเศรษฐกิจโลกปีนี้ส่งสัญญาณทรงตัว-เงินเฟ้อยังชะลอต่อเนื่อง

IMF มองเศรษฐกิจโลกปีนี้ส่งสัญญาณทรงตัว-เงินเฟ้อยังชะลอต่อเนื่อง

IMF มองเศรษฐกิจโลกปีนี้ส่งสัญญาณทรงตัว-เงินเฟ้อยังชะลอต่อเนื่อง ชี้นโยบาย “ทรัมป์” หนุนผันผวน

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เผยแพร่รายงาน World Economic Outlook ฉบับใหม่ คาดเศรษฐกิจโลกจะเติบโตในเกณฑ์ทรงตัว ขณะที่แนวโน้มเงินเฟ้อยังคงชะลอตัวลง โดยนางคริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ดีกว่าที่คาดไว้ แม้จะยังคงมีความไม่แน่นอนสูงเกี่ยวกับนโยบายการค้าของว่าประธานาธิบดีคนใหม่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกและผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในระดับที่สูงเป็นเวลานานขึ้น

นางจอร์เจียวา ระบุว่า ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจชุดล่าสุด ที่แสดงให้เห็นถึงตลาดแรงงานที่มั่นคง ทำให้เฟดจึงสามารถรอข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนที่จะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้ พร้อมชี้ว่า โดยรวมแล้ว คาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงขึ้นเล็กน้อย เป็นระยะเวลานานขึ้น”

IMF มีกำหนดเผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในวันที่ 17 ม.ค.นี้ ไม่กี่วันก่อนที่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ซึ่งความคิดเห็นของนางจอร์เจียวาเป็นการส่งสัญญาณแรกถึงการเปลี่ยนแปลงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกของ IMF ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม นางจอร์เจียวา ไม่ได้เปิดเผยการคาดการณ์โดยละเอียด

ก่อนหน้านี้ ในเดือนต.ค.ปีที่แล้ว IMF ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2024 สำหรับสหรัฐฯ บราซิล และอังกฤษ แต่ปรับลดสำหรับจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน โดยอ้างถึงความเสี่ยงจากสงครามการค้าใหม่ที่อาจเกิดขึ้น รวมไปถึงความขัดแย้งทางภูมิศาสตร์และนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ซึ่งในช่วงดังกล่าว เฟดยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกในปี 2024 ที่ 3.2% ตามที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนก.ค. และปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกในปี 2025 ที่ 3.2% ลง 0.1% โดยเตือนว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะกลางของโลก จะลดลงเหลือ 3.1% ในช่วง 5 ปี ซึ่งต่ำกว่าแนวโน้มก่อนเกิดโรคระบาดเป็นอย่างมาก

นางจอร์เจียวา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ไม่น่าแปลกใจเลย ที่เมื่อพิจารณาจากขนาดและบทบาทของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว ทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีศุลกากรและภาษีอื่น ๆ การผ่อนคลายด้านกฎระเบียบในภาคธุรกิจ และประสิทธิภาพของรัฐบาล” และยังเสริมอีกว่า “ความไม่แน่นอนดังกล่าวอยู่ในระดับสูงเป็นพิเศษในแง่ของทิศทางนโยบายการค้าในอนาคต ซึ่งเพิ่มแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศและภูมิภาคที่มีความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานโลกมากขึ้น ชาติเศรษฐกิจขนาดกลาง และภูมิภาคเอเชีย”

ทั้งนี้ IMF ระบุว่า แนวโน้มในภูมิภาคต่าง ๆ  จะมีทิศทางที่หลากหลาย โดยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะหยุดชะงักบ้างในสหภาพยุโรป และจะอ่อนตัวลง “เล็กน้อย” ในอินเดีย ขณะที่บราซิลกำลังเผชิญกับเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย ด้านจีน ซึ่งเป็นชาติเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก IMF มองเห็นถึงแรงกดดันด้านภาวะเงินฝืดและความท้าทายที่ยังคงมีอยู่เกี่ยวกับอุปสงค์ในประเทศ

ที่มา: รอยเตอร์