สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า มูดี้ส์ (Moody’s) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือยักษ์ใหญ่ของโลก กล่าวเตือนว่า อันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ และสถาบันการเงินพหุภาคีชั้นนำอื่นๆ ในระดับ AAA อาจได้รับผลกระทบ หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ตัดสินใจลดการสนับสนุนลง แม้จะระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ก็ตาม
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร (Executive order) เพื่อตรวจสอบการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อองค์กรระหว่างรัฐบาลระหว่างประเทศทั้งหมดที่ตนเป็นสมาชิก และถอนตัวจากหน่วยงานบางแห่งขององค์กรสหประชาชาติ (UN)
มูดี้ส์ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า “สหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นหลักในหลายธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างหลายประเทศ (MDB) ที่ได้รับการจัดอันดับ ดังนั้น หากสหรัฐฯ ลดการสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญ นั่นจะเป็นปัจจัยลบต่อความน่าเชื่อถือทางเครดิต” โดยสหรัฐฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มธนาคารโลก ซึ่งมีสัดส่วนการถือครองหุ้น 16.4% ในธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและการพัฒนา (IBRD) ซึ่งเป็นสถาบันที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม และถือหุ้น 19% ในสมาคมการพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA) ที่ให้เงินกู้และเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก
ทั้งนี้ ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรายงานของมูดี้ส์
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังถือหุ้นสูงถึง 30% ในธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งอเมริกา (Inter-American Development Bank) ในภูมิภาคละตินอเมริกา, 15.6% ในธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) และอีก 10% ในธนาคารเพื่อการบูรณะและการพัฒนาแห่งยุโรป (European Bank for Reconstruction and Development) ที่ถูกก่อตั้งขึ้นหลังสงครามเย็น
ทั้งนี้ การทบทวนการสนับสนุนของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อธนาคารเพื่อการพัฒนา ตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน
มูดี้ส์ ระบุว่า โครงสร้างของสถาบันเหล่านี้ส่วนใหญ่เปิดช่องให้ผู้ถือหุ้นสามารถ “ถอนตัวออกได้อย่างเป็นระบบ แต่เป็นไปได้ยากที่สหรัฐฯ จะดำเนินการที่รุนแรงเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมใน MDB หลัก” ด้วยหลายเหตุผล รวมถึงการสูญเสียอิทธิพลต่อนโยบายการให้กู้ของสถาบันเหล่านี้
ทั้งนี้ ในกรณีของธนาคารโลก สหรัฐฯ ได้ออกเงินทุนประมาณ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐใน IBRD และมีข้อผูกมัดด้านเงินทุนที่เรียกคืนได้ก่อนกำหนด (callable capital) จำนวน 4.92 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเงินกู้และหลักประกันของ IBRD ที่จ่ายออกไปและยังค้างชำระอยู่ประมาณ 2.63 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา: รอยเตอร์