กลไกกองทุนรวมไว้ใจได้แค่ไหน
โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
กองทุนรวมเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีทั้งผู้ที่เคยลงทุนและไม่เคยลงทุนมาก่อน การจัดตั้งและเสนอขายกองทุนรวมจึงถูกควบคุมดูแล จากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้กองทุนที่ออกแบบมามีความชัดเจน เข้าใจง่าย ให้ทราบว่าเงินของผู้ลงทุนจะถูกนำไปทำอะไร นโยบายการลงทุนเป็นอย่างไร มีความเสี่ยงอะไรบ้าง คนลงทุนก็รู้ว่าเงินของตนเองจะถูกทำไปทำอะไร ในแต่ละวันก็มีกลไกตรวจสอบ และดูแลสิทธิและผลประโยชน์ตามสัดส่วนให้กับผู้ลงทุนอย่างดี
แต่หลายคนก็สงสัยว่าการเอาเงินของเราไปให้กองทุนรวมบริหารไว้ใจได้แค่ไหน และปลอดภัยจริงหรือเปล่า ตรงนี้จะอธิบายให้ครอบคลุมทั้ง 2 ด้าน คือปลอดภัย และไม่ปลอดภัย
คำว่าปลอดภัยในที่นี้ หมายถึง เป็นรูปแบบการลงทุนที่ปลอดภัย ไว้ใจได้ มีกลไกและกระบวนการทำงานที่ไว้ใจได้ น่าเชื่อถือได้ สำหรับประชาชน อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่ากองทุนรวมเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไป ดังนั้นจึงมีการควบคุมดูแล ออกแบบให้มีความชัดเจน มีกลไกมาตรฐาน เริ่มตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเลย ไม่ใช่ว่าใครก็จัดตั้งกองทุนรวมได้ คนที่จะจัดตั้งกองทุนรวมได้ ต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เท่านั้น หรือเรียกย่อๆ ว่า บลจ. ซึ่งบลจ. แต่ละแห่งก็ต้องได้รับใบอนุญาตจาก สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งเป็นองค์กรตามกฎหมายที่หน้าดูแลเรื่องการลงทุนต่างๆ ในบ้านเรา รวมถึงกองทุนรวม อยู่ภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ
บลจ.จะได้ใบอนุญาต จะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบต่างๆ มากมาย เพื่อให้มั่นใจว่า มีความสามารถเพียงพอที่จะบริหารกองทุนรวม มีระบบงานที่เพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจให้ประชาชนไว้วางใจ
พอมาถึงขั้นตอนการจัดตั้งกองทุน จะตั้งกองทุนรวมสักหนึ่งกอง ก็ต้องยื่นให้สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติโครงการก่อน ตรงนี้ยังไม่ใช่อนุมัติจัดตั้งกองทุน เป็นแค่โครงการก่อน เพื่อดูว่ามีความเป็นไปได้ไหม จะเอาเงินไปลงทุนอะไร เสี่ยงแค่ไหน มีความชัดเจนในโครงการหรือไม่ อ่านแล้วผู้ลงทุนจะเข้าใจผิดได้ไหม และไปลงทุนในสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เรียกว่าเจาะกันถึงไส้เลยทีเดียว เพื่อความชัดเจน เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว ก็จะนำกองทุนมาเสนอขายกับประชาชนครั้งแรก เรียกกว่า IPO ส่วนมากก็จะราคา 10 บาท รวบรวมเงินจากผู้สนใจ ถ้ามีจำนวนมากพอ ถึงไปยื่นจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอีกที
หลังจากจัดตั้งกองทุนได้เรียบร้อย ผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินไปบริหาร ไปลงทุนตามนโยบายที่เขียนไว้ในหนังสือชี้ชวน มีกลไกการควบคุมดูแลการลงทุน และเงินของผู้ถือหน่วยตามสัดส่วนการลงทุนไปตลอด ไปจนกระทั่งปิดกองทุนเลย เรียกว่า ถ้ากองทุนรวมมีชีวิต ก็จะมีกลไกควบคุมตั้งแต่แรกเกิด เติบโต ไปจนวันสุดท้ายของชีวิตเลย
สาเหตุที่ทำให้ต้องควบคุมเยอะขนาดนี้ เพราะเงินที่กองทุนรวมบริหาร เป็นเงินเก็บ เงินออม หรือบางทีก็เป็นทรัพย์สินทั้งชีวิตของคนเลยก็ว่าได้ จึงต้องมีระบบการดูแลอย่างดี ไม่ให้เกิดการรั่วไหล การโกงเกิดขึ้น รวมถึงมีระบบนายทะเบียนที่ชัดเจนเพื่อกำหนดสิทธิว่าแต่ละคนมีสิทธิในกองทุนนั้นอยู่เท่าไร สำนักงาน ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญกับระบบงานกองทุนรวมมาก เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนจะได้รับการดูแลอย่างดีและชัดเจนในการลงทุน
ส่วนที่ว่าไม่ปลอดภัย ก็คือ การลงทุนในกองทุนรวมไม่มีการรับประกันว่าจะได้เงินต้นคืนทุกบาททุกสตางค์เหมือนฝากธนาคาร เพราะนี่คือการลงทุน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง ความเสี่ยงหลักๆ คือ โอกาสที่อาจจะขาดทุน แลกกับโอกาสได้รับผลตอบแทนดีๆ จากการลงทุน