จับตาแนวคิดใหม่ “ออมผ่านการใช้จ่าย” เพื่อสังคมสูงวัย

จับตาแนวคิดใหม่ “ออมผ่านการใช้จ่าย” เพื่อสังคมสูงวัย

By…จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์

“สังคมสูงอายุ” ประเด็นเด่นที่ได้รับการกล่าวขานมากในเวลานี้ ทั้งในวงการทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนเอง ก็เริ่มรู้สึกบ้างแล้วว่า ประเทศไทยเรากำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีนี้ หมายความว่า สัดส่วนประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้สูงอายุ มากกว่า 20%

เมื่อเร็วๆ นี้ นักศึกษาหลักสูตรสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 26 จัดทำแนวคิดหนึ่งออกมาเพื่อเน้นตอบโจทย์สังคมสูงวัย นั่นก็คือ นวัตกรรมการออมเพื่อวัยเกษียณ ออมง่ายๆ ผ่านการใช้จ่าย หรือ Saving through Spending (STS)  พร้อมนำเสนอแนวคิดนี้ต่อสาธารณชน ผ่านงานสัมมนา Capital Market Research Forum ครั้งที่ 6/2561 หัวข้อ “รับมือสังคมสูงวัย: โอกาสและความท้าทาย” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นับเป็นสิ่งที่น่าจับตาทีเดียวว่า ต่อไปจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

นายกฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความรู้ตลาดทุน และหัวหน้าสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลท. กล่าวเปิดงานสัมมนาครั้งนี้ ว่า วตท. รุ่น 26 นำเสนอนวัตกรรมการออมชื่อว่า Saving Through Spending หรือ STS มาเสนอ ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงกับการออมของประเทศและคนไทย เพราะปัญหาที่น่าห่วงเวลานี้ คือ คนไทยจะมีเงินออมไม่เพียงพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณ

จากการสำรวจที่ผ่านมา พบว่า คนไทยจะต้องมีเงินก้อนเก็บไว้ใช้ยามหลังเกษียณประมาณ 4 ล้านบาท โดยตัวเลขนี้มาจากสมมติฐานว่า ต้องการมีเงินใช้จ่ายแต่ละเดือน 15,000 บาท หากคิดอัตราเงินเฟ้อ 3% ต่อปี หลังจากเกษียณแล้ว 20 ปี ตอนอายุ 80 ปีจะเท่ากับเงิน 25,000 บาท โดยที่คำนวณไว้ถึงอายุ 80 ปี เพราะค่าเฉลี่ยอายุคนไทย ผู้ชายอยู่ที่  80 ปี ผู้หญิง 83 ปี

เมื่อย้อนกลับมามองสถานการณ์ปัจจุบัน คนไทยจำนวนกว่า 60 ล้านคน เป็นเด็กประมาณ 10 ล้านคน ผู้สูงวัย 10 ล้านคน ช่วงกลางที่เป็นแรงงาน 40 ล้านคน ในจำนวนนี้ 15 ล้านคนเป็นแรงงานในระบบ หมายถึง ข้าราชการที่มีแหล่งเงินสะสม พนักงานบริษัทเอกชนที่มีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและมีระบบประกันสังคม กับที่เหลืออีก 25 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบ

ตัวเลขที่พบคือ แม้เป็นแรงงานที่มีเงินในระบบ แต่เงินที่สะสมได้นั้น ไม่อยู่ในอัตราที่เพียงพอใช้หลังวัยเกษียณ แนวคิด STS จะเป็นแนวทางหนึ่งที่ไปจุดประกายนำเสนอฝ่ายนโยบายต่อไปได้ พร้อมเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิดหาเครื่องมือเพิ่มเติมมาสนับสนุนแนวคิด

ทั้งนี้ หากคนไทยมีเงินออมมากขึ้น ก็จะมีเงินมาลงทุนมากขึ้น เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ขนาดของตลาดทุนขยายต่อไปได้ เพื่อเป็นส่วนสำคัญช่วยพัฒนาประเทศได้

“ถ้าคนไทยไม่มีเงินออม ตลาดทุนก็เติบโตไม่ได้ แม้ตลาดทุนของเราจะอาศัยนักลงทุนที่มีเงินเหลือจากต่างประเทศด้วย แต่ก็หวังจากฝั่งคนไทยให้มีเงินออมมากขึ้น เพื่อมาลงทุนในตลาดทุนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งก็มองว่ายังมีโอกาสอยู่ จากปัจจุบันบัญชีผู้ลงทุนในตลาดทุนมี 1.5 ล้านบัญชี ขณะที่ประชากรทั้งประเทศมีกว่า 60 ล้านคน ส่วนบัญชีกองทุนรวมก็มีหลายล้านบัญชี” นายกฤษฎา กล่าว

ด้าน น.ส.พิมพ์เพ็ญ ลัดพลี รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และผู้แทนคณะทำงานฝ่ายวิชาการ หลักสูตร วตท. รุ่น 26 กล่าวว่า การเกษียณอายุ ตัวเลขหลักๆ ที่ตั้งกันไว้คือ 60 ปี ซึ่งสิ่งที่คนวัยเกษียณสมัยนี้ต่างจากสมัยก่อน คือ อายุที่ยืนขึ้น โดยย้อนไป 40 ปีก่อน คนไทยอายุเฉลี่ยเพียง 64 ปี แต่อีก 40 ปีข้างหน้า คนจะอายุยืนถึง 90 ปี เท่ากับว่า คนยุคนี้ต้องทำมาหากิน 40-45 ปี และใช้เงินอย่างเดียว 30 ปีหลังหยุดทำงาน ดังนั้น ระหว่างที่ทำงานได้จะออมอย่างไรให้เพียงพอใช้ในอนาคต จึงเป็นคำถามที่น่าคิด

สิ่งที่น่ากังวล คือ ยังมีตัวเลขอัตราพึ่งพิงอีก เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก แต่มีคนที่ต้องดูแล ซึ่งตัวเลขนี้อาจไม่ได้นับเพียงพ่อแม่ของเรา โดยอัตราการพึ่งพิงนั้น คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ ที่เป็นผู้สูงอายุ ประเมินเป็นจำนวนคนในปี 2037 ก็คาดว่า จะมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไป รวม 21.2 ล้านคน ปัจจุบันรัฐต้องใช้เงิน 2 แสนล้านบาทเป็นสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุ โดยปี 2017 จะมีคนสูงวัยประมาณ 17.7 ล้านคน แต่ในอนาคต รัฐอาจต้องใช้เงินถึง 4 แสนล้านบาท เพื่อเป็นสวัสดิการดูแลผู้สูงอายุในอีก 20 ปีข้างหน้า

เมื่อแยกประเด็นลงไปอีก พบว่า จุดสำคัญคือ 1.ผู้สูงอายุ 2.รายได้ เพราะผู้สูงอายุทุกคนไม่เท่ากับคนจน แต่คนจนทุกคนวันหนึ่งก็ต้องสูงอายุ

ในปี 2015 คนไทย 10 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วน 40 ล้านคนมีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ของคนในประเทศ 15,536 บาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งรายได้ 15,000 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นระดับที่จะอยู่ได้ คำถามก็คือ แล้วคนเหล่านี้จะเก็บเงินไว้เพียงพอวัยเกษียณได้หรือ

คำตอบคือ ไม่ใช่คนเหล่านี้ไม่ต้องการเก็บเงิน ดังนั้น หากสามารถสร้างระบบการเงิน super mini micro ให้คนเหล่านี้เก็บรายวันได้ โดยมีเครื่องมือกลางรวมเงินของคนเหล่านี้เข้ากองทุนทุกวัน ก็น่าจะช่วยได้ จึงเกิดเป็น STS

ทั้งนี้ สมัยก่อน STS อาจเป็นไปไม่ได้ แต่ปัจจุบันคนไทยปี 2017 ใช้พร้อมเพย์ 100 ครั้งต่อคนต่อปี อนาคตจึงเป็นไปได้มาก เพราะแนวคิด STS คือ ทุกการใช้จ่ายผ่านระบบไร้เงินสด (Cashless) จะเก็บ 1% ไว้ โดยที่ผู้ที่ถูกหักเงินมีสิทธิเลือกแผนการลงทุนได้ แต่ถ้าหากไม่รู้จะเลือกทางเลือกไหน ก็จะเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดเตรียมไว้ให้

ระบบ STS จะเกิดขึ้นได้ภายใต้สังคมไร้เงินสด ไม่ใช่จากการใช้เงินสด การทำงานทุกอย่างของระบบจะนำจากทุกรายจ่ายที่ชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยถูกหักบางส่วนเข้าสู่การออมโดยอัตโนมัติ ตัวอย่าง คือ สมมติ ค่าสินค้า 100 บาท เวลาจ่ายเงินก็จ่าย 101 บาท โดยระบบจะแยกเงินเป็น 2 ส่วน 100 บาทจ่ายให้ร้านค้า อีก 1 บาทหักเข้าบัญชีเงินออมที่จะถอนเงินออกมาได้ก็ต่อเมื่ออายุ 60 ปีแล้วตามแนวคิดเป็นเงินเก็บสำหรับวัยเกษียณ โดยประเมินว่า ถ้าเงินเก็บก้อนนี้หาผลตอบแทนได้ปีละ 9% เมื่ออายุ 60 ปีจะมีเงินเก็บ 2.6 ล้านบาท ถ้าผลตอบแทน 7% เมื่ออายุ 60 ปี จะมีเงินเก็บ 1.38 ล้านบาท” น.ส.พิมพ์เพ็ญ กล่าว

ด้าน นายกิติพงค์ พร้อมวงค์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้แทนคณะทำงานฝ่ายวิชาการ หลักสูตร วตท. รุ่น 26 กล่าวว่า ความสำเร็จของแนวคิด STS ที่ต้องการ คือ เกษียณแล้วจะมีความมั่นคงทางการเงิน ผลตอบแทนจากการลงทุนจะเพิ่มขึ้น มีความเชื่อมั่นว่า เงินที่เก็บเข้าบัญชีจะถูกเก็บเข้าไปจริงและตรวจสอบได้ มีปัจจัยยืนยันว่า ทั้งหมดนี้ปลอดภัยทั้งในเชิงทรัพย์สินปลอดภัย และเชิงข้อมูลส่วนตัว

นี่เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้นเท่านั้น หากมีหน่วยงานรัฐหรือเอกชนรายใดรับไปต่อยอด ก็น่าจะทำให้เห็นภาพของความน่าสนใจเกี่ยวกับแนวคิด STS ที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงได้มากขึ้น ซึ่งก็คงต้องติดตามรอดูกันต่อไป เพราะขณะนี้แนวคิดที่ออกมา ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนว่า การหักเงินที่ใช้จ่ายบนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะหักจากการใช้จ่ายทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือไม่ หากเป็นการใช้จ่ายประเภทที่กู้ยืม หรือใช้ผ่านเครดิต ที่มีดอกเบี้ยเงินกู้ หากหักเงินส่วนนี้เพื่อเข้าบัญชีการออมผ่านการใช้จ่าย จะสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปศึกษาต่ออย่างละเอียด ก็คงจะหาคำตอบที่เหมาะสมและสร้างเป็นนวัตกรรมการออมเพื่อวัยเกษียณที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัยได้