สรุปภาวะตลาดหุ้นอาเซียนในช่วงที่ผ่านมาของปี 2018
ดัชนี MSCI AC ASEAN Index ในเดือน ต.ค. ปรับลดลง 6.24% ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงต้นปีตลาดหุ้นอาเซียนปรับตัวลงไปแล้วกว่า -11% โดยปัจจัยที่กดดันตลาดหุ้นอาเซียนยังคงเป็นปัจจัยภายนอกมากกว่าปัจจัยภายใน ปัจจัยหลักคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวสูงขึ้น
นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีนที่ยืดเยื้อและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น และอาจส่งผลกระทบถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเริ่มเห็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนแล้ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังภูมิภาคอาเซียนด้วยประเทศจีนนั้นเป็นหนึ่งในคู่ค้าหลักของประเทศในภูมิภาค ขณะที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติในตลาดอาเซียนไหลออกอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยนับจากต้นปีมีเพียงเวียดนามเท่านั้นที่มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากขายหุ้น IPO ขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นอาเซียนนับว่าปรับตัวลดลงน้อยกว่าตลาดอื่นๆ ในเอเชีย ด้วยความที่ประเทศกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบของปัญหาสงครามการค้าค่อนข้างจำกัด ประกอบกับราคาหุ้นที่ระดับมูลค่าปรับลดลงมาใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอดีต จึงทำให้ระดับดัชนีตลาดหุ้นกลุ่มประเทศอาเซียนทรงตัว
ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เป็นสองตลาดที่ปรับลงมากสุดในปีนี้ ด้วยเหตุจาก ราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อการนำเข้าและทำให้บัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องมายังค่าเงินของประเทศที่อ่อนค่าลงเรื่อยๆ แม้ว่า ธนาคารกลางของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียได้ปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อพยุงค่าเงินก็ตาม อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามในประเด็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ที่อยู่ในระดับสูงราว 6% จากแผนปฏิรูปภาษี และราคาข้าวและน้ำมันที่สูงขึ้น
ในส่วนของตลาดหุ้นสิงคโปร์ที่ให้ผลตอบแทนดีในช่วงต้นปี กลับมาปรับตัวลงในครึ่งปีหลัง ด้วยปัจจัยเร่งจากความวิตกกังวลต่อความขัดแย้งทางด้านการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่รุนแรงขึ้นเนื่องจากสิงคโปร์มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ธนาคารพาณิชย์ในสิงคโปร์ยังได้มีการปล่อยกู้ให้กับบริษัทในประเทศจีนซึ่งมีแนวโน้มจะเติบโตช้าลงในปีหน้าถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง อีกทั้ง ยังต้องเผชิญกับสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ
ปัจจัยบวกและลบที่คาดว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นอาเซียนในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงปี 2019
(+) มูลค่าหุ้นที่อยู่ในระดับน่าสนใจ โดย Forward P/E ของดัชนี MSCI AC ASEAN Index อยู่ที่ราว 13.4 เท่า ซึ่งลดลงมาใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในระยะยาวแล้วอีกทั้ง นักวิเคราะห์เชื่อว่ามูลค่าหุ้นของอาเซียนได้ซึมซับการชะลอลงของเศรษฐกิจในช่วงปีหน้าไปแล้ว
(+) ราคาน้ำมันโลกที่ลดระดับลงจะช่วยบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ และสถานะของดุลบัญชีเดินสะพัดในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เป็นต้น
(+) การเลือกตั้งของไทยและอินโดนีเซียที่จะมีขึ้นในช่วงปี 2019 จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศรวมถึงน่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
(+) อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับเป้าหมายของธนาคารกลาง ยกเว้น ฟิลิปปินส์
(+) การลงทุนของภาครัฐบาลที่เร่งตัวขึ้นในหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ไทย เป็นต้น
(-) ผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนผ่านช่องทางรายได้จากการส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่ลดลง
(-) การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐและการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ที่อาจเป็นปัจจัยเร่งให้กระแสเงินทุนไหลออกจากภูมิภาครวดเร็วและรุนแรง
(-) ความพยายามของรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียที่เริ่มใช้มาตราการทางการคลังที่รัดกุมมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงการยกเลิกโครงการ East Coast Rail Line และเจรจาลดมูลค่าก่อสร้างรถไฟใต้ดิน อย่างไรก็ตาม จะเป็นการส่งผลดีต่อเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว
มุมมองของผู้จัดการกองทุนและกลยุทธ์การลงทุน
ผู้จัดการกองทุนมีการระมัดระวังการลงทุนด้วยความกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านสงครามการค้า การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนว่าอาจจะส่งต่อมายังตลาดอาเซียน ในเชิงเศรษฐกิจและ Sentiment ของตลาด อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนของกลุ่มประเทศอาเซียนในระยะยาว โดยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนชนชั้นกลางและกำลังซื้อที่ขยายตัวจะส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคจะยังคงขยายตัวได้มากกว่า 5% ต่อปี ส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่น่าจับตามองที่สุดในโลก
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้จัดการกองทุนคัดเลือกการลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ด้วยเชื่อมั่นว่าราคาของหุ้นจะสามารถกลับเพิ่มขึ้นมาได้อีกครั้งภายหลังการปรับฐานในครั้งนี้ โดยยังคงเชื่อมั่นในหุ้นของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากกำลังซื้อกลุ่มคนชนชั้นกลางที่ขยายตัว
ในช่วงที่ผ่านมาผู้จัดการกองทุนได้ Overweight ตลาดหุ้นไทยและเวียดนาม ด้วยมุมมองเชิงบอกต่อเวียดนามที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และจะเป็นฐานการผลิตสำคัญ ขณะที่ Underweight สิงคโปร์กับมาเลเซีย นอกจากนั้น การที่ราคาน้ำมันโลกปรับลดลงจาก 75 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ราว 50 ดอลลาร์ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ผู้จัดการกองทุนได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ หลังจากที่ทั้งสองประเทศได้รับผลผลกระทบอย่างหนักจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงในช่วงก่อนหน้า ผ่านการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และการอ่อนค่าลงของค่าเงิน
ทั้งนี้ บลจ. บัวหลวง เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนจะสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่ต้องการแสวงหาโอกาสการลงทุนในภูมิภาคที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และเชื่อว่ากองทุนจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจได้ในระยะยาว สำหรับนักลงทุนที่เชื่อมั่นโอกาสในอนาคตและอดทนต่อความผันผวนของตลาดในระยะสั้นได้
ผลการดำเนินงานและความผันผวนของการดำเนินงาน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2018)