BF Economic Research
ฐนิตา ตุมราศวิน
รมณ ไชยวรรณ
Macro Analyst Fund Management Group
- ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานออกมาต่อเนื่องหลายฉบับ ทำให้การลงทุนภาครัฐของไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ก่อนที่จะมาสะดุดในช่วงปี 2017 จากการเบิกจ่ายงบได้ล่าช้าของรัฐบาล
- สำหรับปี 2019 นี้ เรามองว่า รัฐบาลจะสามารถเดินหน้าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้เต็มที่มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ และการพัฒนาอีอีซี
- อุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากความชัดเจนในโครงการลงทุนภาครัฐในระยะข้างหน้า ได้แก่ กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเครื่องจักรกลที่ใช้ในก่อสร้าง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงทำให้รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการยกระดับโครงข่าย (Network) การคมนาคมขนส่งของไทยให้ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานออกมาต่อเนื่องหลายฉบับ อาทิ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2017-2021) ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (2017-2036) และแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (2015-2022)
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายโครงการที่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรม โดยมีทั้งโครงการที่สร้างเสร็จไปแล้ว โครงการที่กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และอีกหลายโครงการที่ผ่านกระบวนการประมูลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จากแผนพัฒนาฯ ต่างๆ ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนภาครัฐของไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดด โดย GDP ในส่วนของการลงทุนภาครัฐเติบโตสูงถึง 28.4% ในปี 2015 และโตต่อเนื่องในปี 2016 ที่ 9.5% ก่อนที่จะมาสะดุดในช่วงปี 2017 ที่รัฐบาลเบิกจ่ายงบได้ล่าช้า ส่วนหนึ่งเป็นผลของ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐที่มีรายละเอียดปลีกย่อยรัดกุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มความโปร่งใสในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มากขึ้น และส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 ที่ผ่านมาการลงทุนภาครัฐก็เริ่มฟื้นตัวได้หลังจากข้อจำกัดจากการเบิกจ่ายของหน่วยงานภาครัฐที่ได้คลี่คลายลง
ปี 2019 ลงทุนภาครัฐเดินหน้าเต็มกำลังเบิกจ่าย
ในปี 2019 นี้ เรามองว่า โครงการเมกะโปรเจกต์ตามแผนระยะเร่งด่วน หรือ Action Plan ของรัฐบาลเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่สำหรับปี 2016-2026 จะสามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางทั่วประเทศทั้งโครงการรถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่ รวมทั้งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี โดยเราประมาณการว่า เม็ดเงินที่จะลงไปในโครงการเมกะโปรเจกต์ในปี 2019 จะเร่งตัวขึ้นมากกว่า 1 เท่า จาก 108.8 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา เป็น 242.2 พันล้านบาท
- โครงสร้างพื้นฐานทางรางคิดเป็น 60% ของงบเมกะโปรเจกต์ 2019
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางราง หรือรถไฟ ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง นับเป็นสัดส่วนหลักของงบประมาณโครงการเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลระหว่างปี 2016-2026 เนื่องจากการขนส่งทางรางมีต้นทุนต่อหน่อยต่ำ สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่จะลดต้นทุนคมนาคมขนส่งโดยรวม เพื่อยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย
ทั้งนี้ เราประมาณการว่า เม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางรางจะมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 60% ของเม็ดเงินลงทุนในเมกะโปรเจกต์ปี 2019 ทั้งหมด โดยโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครหลายสายจะมีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ขณะที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม (รังสิต-ธรรมศาสตร์รังสิต) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-ตลิ่งชัน-ศิริราช) คาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีนี้ สำหรับโครงการรถไฟทางคู่เฟส 1 ทั้ง 7 เส้นทางที่อยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้างอยู่นั้น เราคาดว่าจะมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ส่วนโครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ น่าจะมีความพร้อมก่อสร้างได้ภายในปีนี้
- ปี 2019 … อีอีซีเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
ย้อนไปเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ชื่อคุ้นหูกันอย่าง ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ทั้งท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งในจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ล้วนถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการนี้ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังถดถอย ทำให้ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นต้องปรับตัว โดยการย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยที่มีค่าแรงต่ำกว่า และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทำให้เราได้เห็นว่า โครงการ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ ประสบความสำเร็จอย่างสูงในเวลานั้น แต่เมื่อมาถึงในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลง และซับซ้อนมากขึ้น ประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอีกครั้ง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมของโลกในอนาคต และอีอีซีก็ถูกคิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากหัวใจความสำเร็จของอีอีซี คือความสามารถในการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในแง่การส่งออกสินค้าไปยังตลาดผู้บริโภค และการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) โลก ดังนั้น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมทั้งสนามบินและท่าเรือจึงเป็นแกนหลักของโครงการ นอกจากนี้ การสร้างเมืองการบิน หรือ Aerotropolis และการสร้างรถไฟความเร็วสูงที่นอกจากจะมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกในการคมนาคมแล้ว ยังถูกกำหนดให้มีบทบาทในการสร้างความเป็นเมือง โดยใช้สนามบินและสถานีรถไฟความเร็วสูงดึงดูดให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจกระทั่งเกิดชุมชนเมืองใหม่ขึ้นในรัศมีโดยรอบ ในระยะข้างหน้า เราจึงจะมีโอกาสได้เห็นเม็ดเงินลงทุนมหาศาลในอีอีซี ทั้งในโครงสร้างพื้นฐานของทางภาครัฐ การลงทุนในอุตสาหกรรมจากภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทั้งที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมในพื้นที่อีอีซีในระยะข้างหน้า
สำหรับในช่วงปี 2018-2022 ตามแผนพัฒนาอีอีซี จะมีวงเงินรวมกว่า 1.7 ล้านล้านบาทลงไปในอีอีซี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนก่อสร้างท่าเรือ สนามบิน และรถไฟ โดยโครงการที่มีแนวโน้มเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2019 คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน สำหรับความคืบหน้าของโครงการอื่นๆ เช่น การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ และท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เฟส 3 คาดว่ารัฐจะเปิดประกวดราคาได้ทันภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ซึ่งหากว่าโครงการเหล่านี้เริ่มก่อสร้างได้ ก็จะทำให้โครงการในพื้นที่อีอีซีมีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่า หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดต่อไปจะเดินหน้าสานต่ออีอีซี เนื่องจาก อีอีซีมี พ.ร.บ. เฉพาะดูแลชัดเจน ทำให้โครงการสามารถเดินหน้าตามกรอบที่วางไว้ได้ รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบันยังได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อดูแลการดำเนินงานโครงการต่างๆ
สำหรับอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากความชัดเจนในโครงการลงทุนภาครัฐในระยะข้างหน้า คงหนีไม่พ้นธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง โดยผู้รับเหมาจะมีงานในมือ (Backlog) มากขึ้น ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ รวมไปถึงขนาดเล็กที่มีโอกาสเป็นผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) ในโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อย่างกลุ่มวัสดุก่อสร้าง และกลุ่มเครื่องจักรกลที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น รถแทรกเตอร์ และรถตัก เป็นต้น