ทางเลือกในการลงทุนกับกองทุนเปิดบัวหลวงทศพล

ทางเลือกในการลงทุนกับกองทุนเปิดบัวหลวงทศพล

ทางเลือกในการลงทุนกับกองทุนเปิดบัวหลวงทศพล

โดย…พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

เมื่อกล่าวถึงกองทุนรวมหุ้นของบัวหลวง เชื่อว่า ผู้ลงทุนหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP)” โดยเฉพาะเรื่องผลการดำเนินงานในอดีตที่น่าสนใจ เมื่อศึกษาข้อมูลพบว่า กองทุนที่มีชื่อว่า “ทศพล” มีอยู่ถึง 3  กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลหุ้นระยะยาว (B-TOPTENLTF) และกองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-TOPTENRMF) ผู้ลงทุนจึงอาจสงสัยว่าทั้ง 3 กองทุนนี้มีจุดเหมือนและจุดต่างกันอย่างไร?

จุดเหมือนของทั้ง 3 กองทุนนี้ คือ “นโยบายการลงทุน” ที่เน้นลงทุนระยะปานกลาง – ยาวในหุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยหุ้นที่ลงทุนนั้นเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ซึ่งผู้จัดการกองทุนคาดหมายว่าจะให้ผลตอบแทนรวมสูงสุด 10  อันดับแรก ลงทุนในหุ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเงินฝาก ตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์อื่นๆ ตามที่ ก.ล.ต. กำหนดหรือให้ความเห็นชอบ  และไม่ลงทุนใน Derivatives และ Structure Note รวมถึงไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลด้วย

จุดต่าง คือ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล เป็นกองทุนเปิดทั่วไปที่สามารถซื้อ – ขาย ได้ทุกวันทำการ กำไรส่วนเกินทุนหรือ Capital Gain ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดา ส่วนอีก 2 กองทุนจดทะเบียนเป็นกองทุนรวมลดหย่อนภาษี LTF และ RMF ซึ่งจำกัดสิทธิในการลงทุนและต้องถือครองหน่วยลงทุนตามเงื่อนไขเพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

สำหรับคำถามที่ผู้ลงทุนสงสัยกันมากที่สุด คือ หุ้นที่เลือกลงทุนในทศพลทั้ง 3  กองทุนนี้ เหมือนกันทั้งหมดเลยใช่หรือไม่? 

คำตอบคือ “บางครั้งอาจมีหุ้นบางตัวที่ไม่เหมือน” เพราะแม้ว่านโยบายการลงทุนจะเขียนไว้เหมือนกัน รวมถึงถูกบริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนชุดเดียวกัน แต่หากพิจารณาเรื่องเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุน หุ้นบางตัวอาจเหมาะสมที่จะถือครองระยะยาวเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี ให้กับกองทุน LTF และ RMF รวมถึงช่วงเวลาในการจัดตั้งกองทุนที่แตกต่างกัน  ทำให้จังหวะในการเข้าซื้อหุ้นที่น่าสนใจแตกต่างกันไปบ้าง แต่ภาพรวมและมุมมองในการลงทุนของกองทุนทศพลทั้ง 3 กองทุนนี้ยังคงเหมือนกัน คือ เน้นสร้างผลตอบแทนรวมสูงสุดจากหุ้น 10 ตัว และมีวิธีการคัดเลือกหุ้นตามแนวทางเฉพาะของกองทุนบัวหลวง

ข้อแนะนำในการเลือกลงทุนกองทุนทศพล คือ 

  1. ศึกษาและทำความเข้าใจนโยบายลงทุนให้ดี เนื่องจากกองทุนทศพลทั้ง 3 กองทุนนี้ ลงทุนในหุ้นเพียง 10 ตัว หมายความว่า หุ้นแต่ละตัวนั้นมีน้ำหนักในการลงทุนค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีความผันผวนสูงได้ในบางช่วง จึงไม่เหมาะกับการลงทุนระยะสั้น และไม่เหมาะกับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย
  2. เป้าหมายในการลงทุนคืออะไร? ผู้ลงทุนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ต้องการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน หรือ ลดหย่อนภาษี หากต้องการสร้างผลตอบแทนก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) ที่เป็นกองทุนเปิดทั่วไป แต่หากต้องการลดหย่อนภาษีก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงทศพลหุ้นระยะยาว (B-TOPTENLTF)  หรือ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพลเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-TOPTENRMF)

ส่วนจะเลือกลงทุนใน LTF หรือ RMF นั้น อาจต้องพิจารณาเรื่องของระยะเวลาในการลงทุนร่วมด้วย เพราะหากต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะต้องถือครองหน่วยลงทุนตามเงื่อนไข โดยกองทุน LTF จะต้องถือครองอย่างน้อย 7  ปีปฏิทิน ส่วนกองทุน RMF จะต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีลงทุน และ ถือครองอย่างน้อย 5 ปี นับแบบวันชนวันจากเงินลงทุน RMF ก้อนแรก และ ผู้ลงทุนจะต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ขายคืนหน่วยลงทุน (โปรดศึกษาข้อมูลจากคู่มือภาษี)