กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชียเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASIARMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชีย (B-ASIA) และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นเอเชียเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASIARMF)

กองทุนหลัก (Master Fund)

ชื่อ: Invesco Asian Equity Fund ชนิดหน่วยลงทุน Class C (AD) USD

นโยบายการลงทุน: เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือนิติบุคคลอื่นใดที่มีลักษณะ ดังนี้ 1) จดทะเบียนในประเทศภูมิภาคเอเชีย 2) จดทะเบียนในประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียแต่ดำเนินธุรกิจหลักในภูมิภาคเอเชีย 3) บริษัทโฮลดิ้งที่มีการลงทุนหลักในบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ การลงทุนในแถบภูมิภาคเอเชียดังกล่าวไม่รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

วันจดทะเบียน: 10 ก.ย. 2018 (สำหรับ Share Class ใหม่)

ประเทศที่จดทะเบียน: ลักเซมเบิร์ก

สกุลเงิน: USD

เกณฑ์วัดผลการดำเนินงาน (Benchmark): MSCI AC Asia (ex Japan) Index Net TR USD

Morningstar Category: Asia ex Japan Equity

Morningstar Rating: 4 Stars

Bloomberg (A): INVASCAD LX

Fund Size: USD 1.06 Billion USD (ข้อมูล ณ 31 ก.ค. 2019)

สรุปภาวะตลาดหุ้นเอเชียนในเดือน ส.ค. 2019

ในเดือน ส.ค. ตลาดหุ้นทั่วโลกต้องเผชิญกับความผันผวนอีกครั้งรวมถึงตลาดหุ้นในเอเชีย โดยเมื่อวัดจากดัชนี MSCI Asia ex Japan ณ สิ้นเดือน ส.ค. ปรับตัวลดลง -4.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยตลาด Hang Seng ของฮ่องกง ปรับตัวลงมากที่สุดถึง-7.4% จากปัญหาเรื่องการประท้วงภายในประเทศ นอกจากนั้น ประเด็นทางด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังกลับมากดดันตลาดอีกครั้ง และอาจมีท่าทีลุกลามเป็นสงครามเทคโนโลยีและสงครามค่าเงิน รวมไปถึงความกังวลด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในภูมิภาค หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตระยะยาวของสหรัฐฯ ปรับลดลงต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น (Inverted Yield Curve) หรือแม้กระทั่งตัวเลขทางเศรษฐกิจและภาคการผลิตในภูมิภาคเอเชียเองที่อ่อนแรงลงต่อเนื่อง

สรุปภาพรวมการลงทุนและกลยุทธ์ของกองทุนหลัก

ผลการดำเนินงานกองทุนหลัก ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2019 เพิ่มขึ้น 6.4% (เมื่อคิดเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ตามสถานการณ์ของตลาด แต่ทว่าเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 8.74% โดยผู้จัดการกองทุนยังคงเน้นแสวงหาผลตอบแทนจากบริษัทที่ราคาหุ้นต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น (Fair value) และบริษัทที่มีระดับมูลค่าตลาดเหมาะสม โดยเฉพาะบริษัทที่มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและมีความได้เปรียบในเชิงการแข่งขันในอุตสาหกรรม และเข้าลงทุนในหุ้นที่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนรวมมากกว่า 10% ภายในระยะเวลา 3 ปี อนึ่งความเคลื่อนไหวของพอร์ตการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา เป็นดังนี้

  • กองทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย โดยเห็นโอกาสการลงทุนมากขึ้นในหุ้นขนาดกลาง – เล็กของอินเดีย กองทุนเริ่มเข้าลงทุนในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทการเงินที่เน้นปล่อยกู้ให้กับรถบรรทุกและแทรกเตอร์ หลังจากที่ราคาหุ้นของกลุ่มลดลงจากความกังวลทางด้านวัฏจักรขาลงของรถแทรกเตอร์  ทว่าผู้จัดการกองทุนกลับมองว่าราคาหุ้นลดลงมาต่ำจนเกินไป บริษัทในกลุ่มนี้มีปัจจัยบวกด้านการจัดการต้นทุนที่ดีและงบดุลที่แข็งแกร่ง
  • หุ้นกลุ่มสถาบันการเงินยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่กองทุนเข้าไปลงทุนมากที่สุดและมีสัดส่วนการลงทุนมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน แต่เป็นการเลือกลงในบางสถาบันการเงินหรือบริษัทประกันที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง โดยในไตรมาสที่ผ่านมากองทุนได้ขายทำกำไรในธนาคารของจีน ฮ่องกง และเกาหลี ขณะที่เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธนาคารสิงคโปร์ โดยเฉพาะ UOB จนกระทั่งมีสัดส่วนการลงทุนเป็นลำดับที่ 4 ในพอร์ตการลงทุน
  • กองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้มากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (กองทุนหลักมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ 19.9% ซึ่งมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 6% โดยมองว่ามูลค่า ณ ปัจจุบันได้สะท้อนการปรับตัวลงของรายได้บริษัทจดทะเบียนไปแล้ว และสถานการณ์ของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นน่าจะดีขึ้นจากการที่รัฐบาลเริ่มออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงพัฒนาการทางด้าน Corporate Governance ของบริษัทจดทะเบียน
  • กองทุนให้น้ำหนักการลงทุนในจีนและฮ่องกงน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (Underweight) ด้วยโมเมนตัมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลง โดยลดการลงทุนในภาคธนาคารของจีนและภาคอสังหาริมทรัพยของฮ่องกง
  • กลุ่มบริษัทอินเทอร์เน็ตในจีนยังคงน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุนด้วยความสามารถในการสร้างรายได้และกระแสเงินสดที่ดี

ผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุน (ณ วันที่ 31 ก.ค. 2019)

ตัวอย่างของบริษัทที่กองทุนเข้าไปลงทุน (ร้อยละของ NAV ณ วันที่ 31 ก.ค. 2019)

1.) Samsung Electronics Co Ltd (7.1%, เกาหลีใต้)

บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ข้ามชาติของเกาหลีใต้ เป็นบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศอันดับสองของโลก ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายรายการ และเป็นผู้ผลิตโทรทัศน์รายใหญ่ที่สุดของโลกตั้งแต่ปี 2006 รวมทั้งเป็นผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้า Apple inc. ตั้งแต่ปี 2011 ในช่วงไตรมาส 2 กำไรจากการดำเนินงานลดลง 56% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากวัฎจักรขาลงของตลาด Memory Chip อีกทั้ง ยอดขาย Smartphone ที่ไม่ได้ดีเท่าที่ควรจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อ Smartphone ที่ราคาถูกมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีความพรีเมี่ยม นับตั้งแต่ต้นปี 2019 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของ
Samsung ยังคงสามารถปรับเพิ่มขึ้น 13.5% ตาม Sentiment ของตลาดที่ดีขึ้นกว่าในปีก่อนหน้า รวมถึงปัจจัยบวกจากการที่ Huawei ตกเป็นเป้าโจมตีจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าของ Samsung เพิ่มขึ้น และอุปสงค์ต่อ Memory Chip ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ พัฒนาการด้านนวัตกรรมของ Samsung จะช่วยหนุนการเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืนในอนาคต

2.) Taiwan Semiconductor Co Ltd (5.1%; ไต้หวัน)

บริษัทผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีฐานการผลิตทั้งในจีน สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ราคาหุ้นของ TSMC ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจาก Sentiment ของตลาดเรื่องสงครามการค้า รวมถึงปัญหาด้านการผลิตของ TSMC เอง อนึ่ง ในระยะสั้นอาจได้รับผลกระทบจากภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดและการลดกำลังผลิตของ iPhone อย่างไรก็ตาม TSMC เตรียมเริ่มการผลิตชิป 5 นาโนเมตรในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งคาดว่าจะเป็นที่ต้องการของบริษัทที่พัฒนาเรื่อง Smartphone และ 5G ด้วยความที่ชิป 5 นาโนเมตรมีขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อีกทั้ง ในระยะยาว TSMC ยังคงมีแนวโน้มที่ดีจากอุปสงค์ต่อ High-end Smart Phone ที่ยังขยายตัวได้ รวมถึงการใช้ Memory Chip ในการทำ Machine Learning ของ AI

3.) United Overseas Bank Ltd (3.3%; สิงคโปร์)

ธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่ที่สุด เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน โดยให้บริการทางด้านการเงินในรูปแบบที่หลากหลาย มีการดำเนินงานในหลากหลายประเทศของเอเชีย ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 UOB ยังสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งในแง่ของรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม ด้วยการขยายตัวของสินเชื่ออย่างมีเสถียรภาพและการขยายตัวของธุรกิจทางด้าน Wealth Management ขณะที่ UOB เป็นธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ น้อยที่สุดในบรรดาธนาคารสิงคโปร์ด้วยกัน ด้วยมีสัดส่วนเงินกู้ที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ น้อยกว่าคู่แข่ง นอกจากนั้นด้วยอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ที่ระดับมากกว่า 4% ทำให้หุ้นของ UOB เป็นที่น่าสนใจ

มุมมองจากผู้จัดการกองทุนหลัก Invesco Asian Equity Fund

Invesco คาดว่าตลาดหุ้นเอเชียในช่วงต่อจากนี้ จะเผชิญกับความผันผวน ด้วยความเสี่ยงทางด้านสงครามการค้าที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งเชื่อว่า บทสรุปของความขัดแย้งทางด้านการค้าของทั้งสองประเทศจะไม่มาถึงในระยะเวลาอันใกล้ และประเด็นดังกล่าวจะเข้ามากระทบกับทิศทางของตลาดเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตามการที่ตลาดเกิดความผันผวนนั้นได้สร้างโอกาสสำหรับการเข้าลงทุน โดยเฉพาะในหุ้นของบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งที่มูลค่าหุ้นต้องถูกลดทอนลงตาม Sentiment ของตลาด

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าหุ้นจากราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value) ของตลาดเอเชียที่ 1.6 เท่า และมูลค่าหุ้นเมื่อวัดจาก Price to Earning Ratio ที่ 13.6 เท่า ถือว่ายังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตและต่ำกว่าตลาดหุ้นโลก โดย Invesco คาดการณ์การเติบโตของอัตรากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ที่ระดับ 5% ซึ่งอาจปรับลดได้อีก ทำให้การลงทุนเป็นไปแบบระมัดระวัง

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียจะมีแนวโน้มไม่สดใสเท่าที่ควร แต่ยังคงเชื่อว่าในช่วงเวลาต่อจากนี้ไปภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทั้งในระดับประเทศและระดับธุรกิจ ผู้จัดการกองทุนเชื่อว่าบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะมีงบดุลที่แข็งแกร่งและสามารถสร้างกระแสเงินสดได้จากการระมัดระวังในการใช้เงินทุน อีกทั้ง Invesco เชื่อว่าเอเชียจะเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดีในช่วงทศวรรษข้างหน้า หนุนโดยการบริโภค จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ ประกอบกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในภูมิภาคจะสร้างโอกาสทางด้านการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้