โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
BF Knowledge Center
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Savings Fund) กองทุนลดหย่อนภาษีแบบใหม่ออกมา รวมถึงแนวทางเกี่ยวกับกองทุน LTF ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในปีนี้ได้เป็นปีสุดท้าย และมีการปรับเกณฑ์เกี่ยวกับ RMF บางส่วน ในวันนี้เราจะมาคุยกันว่าความคืบหน้าของกองทุนทั้ง 3 เป็นอย่างไร
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF : Super Savings Fund
SSF จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนให้คนไทยรู้จักออมเงินระยะยาว โดยเฉพาะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ต้องรู้จักออมระยะยาวเพื่อประโยชน์ของตนเองในอนาคต SSF เน้นให้ลงทุนระยะยาว ซึ่งกำหนดไว้ที่ 10 ปี นับแบบวันชนวัน ทำให้มีนโยบายลงทุนที่หลากหลายได้มากกว่า LTF ที่ต้องการสนับสนุนตลาดหุ้นไทย จึงทำให้เน้นลงทุนในหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว
SSF ส่งเสริมให้เกิดการเก็บออมระยะยาว โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเกษียณชัดๆ แบบ RMF ทำให้ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี อยากใช้สิทธิลดหย่อนปีไหนก็ซื้อแค่ปีนั้น จะซื้อเท่าไรก็ได้ไม่กำหนดขั้นต่ำ มีมากซื้อมาก มีน้อยซื้อน้อยไม่ว่ากัน โดยสามารถให้สิทธิลดหย่อนได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับวงของเงินลงทุนเพื่อเกษียณต้องไม่เกิน 500,000 บาท
สรุปเงื่อนไขการลงทุน SSF แบบสั้นๆ ได้ดังนี้
- เป้าหมาย สนับสนุนให้เก็บออมระยะยาว
- ไม่กำหนดนโยบายว่าต้องลงทุนสินทรัพย์ประเภทใด จะเป็นกองทุนหุ้น ตราสารหนี้ ผสม ในประเทศ ต่างประเทศ ก็ได้หมด
- ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่อง อยากลงทุนใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปีไหน ซื้อปีนั้น
- ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ แต่กำหนดขั้นสูงสุดไว้ 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี และเมื่อรวมกับวงเงินสะสมในกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เบี้ยประกันบำนาญ เงินลงทุนในกองทุน RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- เบื้องต้น มติ ครม. เมื่อ 3 ธ.ค. 62 กำหนดให้สิทธินำเงินลงทุน SSF มาลดหย่อนภาษีได้ คือเงินลงทุนปี 2563 – 2567 (ซื้อปีไหน ลดหย่อนได้ปีภาษีนั้น)
แล้วแบบนี้ผู้ลงทุนจะสามารถซื้อลงทุนปีหน้าได้เลยไหม?
ปัจจุบันเป็นเพียงมติ ครม. ต้องรอกฎหมายประกาศอย่างเป็นทางการก่อน รอรายละเอียดปลีกย่อยให้ชัดเจน และรอ บลจ.ต่างๆ จัดตั้งกองทุนมาเสนอขาย จากนั้นก็ลงทุนได้เลย
สำหรับ LTF ที่ครบกำหนดในปีนี้ ปีหน้าจะเป็นอย่างไร?
เงินลงทุน LTF ที่ลงทุนในปี 2562 สามารถนำมาเอามาใช้ลดหย่อนภาษีปีนี้ได้เป็นปีสุดท้าย สำหรับปีหน้า 2563 เป็นต้นไปจะใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากกองทุน LTF ไม่ได้แล้ว แต่กองทุน LTF ยังคงอยู่และบริหารต่อไป ไม่ได้ถูกปิดตามไปด้วย เงินลงทุนที่ลงทุนก่อนปี 2562 จะต้องถือครอง 5 ปีหรือ 7 ปีปฎิทินต่อไป (ตามเงื่อนไขที่ลงทุนในปีนั้น) เมื่อถือครองครบตามเงื่อนไขแล้วก็สามารถขายคืนได้โดยได้รับการยกเว้นภาษี
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2563 กองทุน LTF สามารถเปิดให้ลงทุนเหมือนกองทุนทั่วไปได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละ บลจ.ว่าจะเปิดขายต่อไปไหม? ซึ่งตรงนี้ไม่ได้บังคับว่าใครจะขายต่อหรือใครจะปิดรับคำสั่งซื้อ สำหรับกองทุนบัวหลวง เราเห็นความสำคัญของการลงทุนระยะยาว โดยเรามีผู้ลงทุนใน LTF ทั้ง 4 กองทุนเยอะมาก กองทุนเป็นที่ต้องการของนักลงทุน เราจึงเลือกที่จะเปิดรับคำสั่งซื้อต่อตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกอาจต้องปิดรับคำสั่งซื้อชั่วคราวเพื่อพัฒนาระบบ เมื่อพัฒนาระบบเสร็จแล้ว และรอกฎหมายประกาศอย่างเป็นทางการ ก็จะเปิดรับคำสั่งซื้อต่อไป (ลงทุนได้แต่นำไปใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้)
ผู้ถือหน่วยจะเกิดความสับสนหรือไม่…ระหว่างเงินก้อนที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับเงินก้อนใหม่?
กองทุนบัวหลวงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาระบบเพื่อแยกฐานข้อมูล เพื่อลดปัญหาความสับสนนี้ เพราะกองทุน LTF ที่จะเปิดให้ลงทุนตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไปก็ยังเป็นกองเดียวกันกับที่มีอยู่เดิม จึงมีทั้งเงินลงทุนเก่าที่ต้องถือครองตามเงื่อนไข และเงินลงทุนใหม่ที่จะซื้อขายเมื่อไรก็ได้ กองทุนบัวหลวงจึงหาแนวทางแก้ไขด้วยการแยกเลขที่บัญชีกองทุนและแยกสมุดกองทุนของกองทุน LTF ลดหย่อนภาษี และ LTF เพื่อการลงทุนทั่วไปออกจากกัน
สำหรับผู้ลงทุนที่ลงทุนแบบถัวเฉลี่ยไว้ (DCA) เมื่อสิทธิลดหย่อนภาษีครบ เราแยกระบบฐานข้อมูล ยกเลิกการตัดเงินเข้ากองทุนตามเลขบัญชีกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีให้อัตโนมัติ หากใครต้องการ DCA ต่อในกองทุน LTF เพื่อการลงทุนทั่วไปก็สามารถทำได้ โดยติดต่อสมัคร DCA ได้ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ ธ.กรุงเทพ หรือตัวแทนขาย รวมถึงการตั้งหัก DCA ผ่าน iBanking และ mBanking ด้วย
สำหรับกองทุน RMF มีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข รายละเอียดเป็นอย่างไรบ้าง?
มติ ครม. ได้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกองทุน RMF เล็กน้อย โดยปรับเป็นไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำในแต่ละปี และสิทธิลดหย่อนเพิ่มจากเดิม 15% ของเงินได้พึงประเมินปรับเป็น 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ยังคงกำหนดว่าไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับเงินซื้อ SSF เงินสะสม กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และเบี้ยประกันบำนาญ