กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียน (B-ASEAN) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASEANRMF)

กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียน (B-ASEAN) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นอาเซียนเพื่อการเลี้ยงชีพ (B-ASEANRMF)

สรุปภาพรวมตลาดหุ้นอาเซียน

ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนอย่างมากในปีนี้ และปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว หลังจากที่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จากประเทศจีนกลายเป็นการแพร่ระบาดทั่วโลก แม้ว่าประเทศจีนจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนกลับมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ อิหร่าน รวมทั้งสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดต่างๆ อยู่ในโหมด Risk-off  นักลงทุนขายสินทรัพย์เพื่อถือครองเงินสด จากความกังวลต่อผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่า Fed มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการเร่งด่วนลง 2 ครั้ง ครั้งแรกปรับลดลง 0.5% สู่ระดับ 1.00-1.25% และครั้งที่สอง ปรับลดลง 1% สู่ระดับ 0-0.25% และมีมาตรการอัดฉีดเงินเพิ่มเติมด้วยการซื้อคืนพันธบัตร (QE) วงเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ตลาดยังคงตอบรับในเชิงลบ   ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สะท้อนถึงแนวโน้มความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลานี้ และอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่ง คือ สถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลงอย่างแรงและรวดเร็ว หลังจากที่ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตร่วมกันได้ กลายเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามราคาน้ำมันเข้ามาเพิ่มขึ้น

ตลาดหุ้นในประเทศอาเซียนเผชิญกับความกดดันอย่างมากในหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลง ภาคการส่งออกชะลอตัวจากห่วงโซ่การผลิตของจีน รวมถึงภาคการบริโภคในประเทศชะลอตัวลงจากมาตรการปิดเมืองบางเมืองเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด และวิกฤตการณ์ในครั้งนี้กระทบต่อ GDP แต่ละประเทศแตกต่างกันไปตามลักษณะกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ

ผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี (YTD) ของตลาดหลักทรัพย์ในอาเซียน

ผลกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

ไทยและเวียดนามได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุดในกลุ่มอาเซียน เพราะมีสัดส่วนรายได้ของการท่องเที่ยวต่อ GDP สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน โดยไทยมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 28% ของนักท่องเที่ยวรวม และรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 12% ของ GDP ในขณะที่อินโดนีเซียมีนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 14% ของนักท่องเที่ยวรวม และรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวต่ำกว่า 2% ของ GDP เท่านั้น

ผลกระทบจากการชะลอตัวลงของการผลิตในจีน

มาตรการการเพิ่มวันหยุดตรุษจีนและการหยุดผลิตบางโรงงานของจีนกระทบการค้าในกลุ่มอาเซียนเป็นอย่างมาก จีนเป็นทั้งตลาดส่งออกและตลาดผู้ผลิตที่สำคัญของกลุ่ม ในปี 2019 การส่งออกไปจีนมีสัดส่วน 14% ของการส่งออกทั้งหมดของอาเซียน และการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนคิดเป็น 21.5% ของการนำเข้าของกลุ่มอาเซียน เมื่อพิจารณารายประเทศ มาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออกไปจีนจะได้รับผลกระทบมากจากความต้องการสินค้าจากจีนลดลง ในขณะที่เวียดนามและไทย มีสัดส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนสูงกว่าโดยเปรียบเทียบ จะได้รับผลกระทบด้านห่วงโซ่อุปทาน กระทบต่อภาคการผลิตของประเทศ นำไปสู่การชะลอตัวของภาคการส่งออกในที่สุด

มุมมองผู้จัดการกองทุนและกลยุทธ์การลงทุน

ตลาดหุ้นอาเซียนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยตรง ซึ่งเป็นการตกต่ำที่สุดในรอบ 8 ปี หลายประเทศมีมาตรการปิดประเทศ รวมถึงปิดตลาดหุ้น เช่น ฟิลิปปินส์ ซึ่งผู้จัดการกองทุนเห็นว่า การปิดตลาดหุ้นทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในสถานการณ์มากขึ้น และยิ่งเป็นการซ้ำเติมตลาดหุ้น ผู้จัดการกองทุนได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของปี 2563  ในแต่ละประเทศลงพอสมควร ถือว่าเศรษฐกิจอาเซียนอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ประเทศในกลุ่มอาเซียนทุกประเทศมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อประคองเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินที่มีการปรับลดดอกเบี้ยลง 50 bps ตั้งแต่ต้นปี ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย และการลดดอกเบี้ยลง 75 bps ของฟิลิปปินส์ รวมถึงนโยบายการคลัง โดยเน้นที่การสนับสนุนเงินให้กับประชาชนโดยตรง และการมีนโยบายพิเศษเป็นการเฉพาะให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งนโยบายการเงินและการคลังนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นหรือยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

ผู้จัดการกองทุนได้ปรับพอร์ตการลงทุน โดยการถือครองเงินสดมากขึ้น ณ ปัจจุบันมีสัดส่วนเงินสดประมาณ 15%  และลดน้ำหนักในกลุ่มธนาคาร เพราะภาวะดอกเบี้ยขาลงเป็นปัจจัยกดดันรายได้ของกลุ่มธนาคาร และคุณภาพของลูกหนี้เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้กระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ประเภทกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 5% เพื่อได้รับเงินปันผลสม่ำเสมอจากสินทรัพย์ประเภทนี้ ผู้จัดการกองทุนใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อคัดสรรหุ้นดีมีคุณภาพ มีกำไรของบริษัทเติบโตในระยะยาว และใช้จังหวะนี้ในการซื้อสะสม เพื่อเพิ่มผลตอบแทนที่ดีให้กับกองทุนในระยะยาว เนื่องจากมองว่าอาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพ จากการเพิ่มขึ้นของสังคมเมือง (Urbanization) และกำลังซื้อที่ขยายตัว รวมทั้งการบริโภคจะเน้นไปที่สินค้าที่มีพรีเมี่ยมมากขึ้น

ตัวอย่างหุ้นในพอร์ตการลงทุน

Top Glove Corporation Berhad (มาเลเซีย)

บริษัทผลิตถุงมือรายใหญ่ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาดประเภทถุงมือคิดเป็น 25% ของโลก ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีความหลากหลาย เช่น ถุงมือยางที่ใช้ในวงการแพทย์ ถุงมือยางไนไตรและถุงมือไวนิลที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น บริษัทมีโรงงานผลิตสินค้า 44 โรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีช่องทางการกระจายสินค้าหลายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย จีน เยอรมนี บราซิล และสหรัฐอเมริกา ทำให้มียอดขายมาจากทั่วโลก ไม่กระจุกตัวอยู่ประเทศใดโดยเฉพาะ ที่ผ่านมายอดขายของบริษัทเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะความต้องการถุงมือเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นหุ้นในไม่กี่ตัวที่ได้ประโยชน์ในสภาวการณ์นี้ ตั้งแต่ต้นปีหุ้นของบริษัทราคาเพิ่มขึ้นกว่า 30%

สัดส่วนการลงทุนของกองทุนแบ่งตามรายประเทศ เทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน

สัดส่วนการลงทุนของกองทุนแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรม

ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ 28 กุมภาพันธ์ 2563

ใช้เผยแพร่ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563
ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง