BF Monthly Economic Review – เม.ย. 2563

BF Monthly Economic Review – เม.ย. 2563

BF Economic Research

  1. ณ เดือน เม.ย. เริ่มเห็นตัวเลขเศรษฐกิจของเดือน มี.ค.ออกมาไม่ดี โดย GDP ไตรมาส 1 ของประเทศ จีน เกาหลี และเวียดนามออกมา ตัวเลขดูไม่ดีเลย
  2. ทุกประเทศยังคงเดินหน้าอัดฉีดทั้งการเงินและการคลังต่อเนื่อง นำโดยสหรัฐฯ
  3. IMF ออกมาปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกลงต่ำสุดแย่กว่าปี 2009 เดือนหน้าจะมีการเริ่มประกาศ GDP 1Q2020 ออกมา
  4. กระนั้น หลายๆ ประเทศเริ่มที่จะพิจารณาการผ่อนคลายการ Lock Down บางส่วนแล้ว

ตัวเลขสำคัญที่จะออก ในช่วงปลายเม.ย และต้นพ.ค. จะมีการประกาศ GDP และ การประชุมของธนาคารกลางสำคัญคือ Fed

ตัวเลข PMI  ทั้ง Composite, Manufacturing และ Service ยังดูไม่ดี , Service PMI ในยุโรป ลดต่ำ 30 ทั้งหมด โดยเฉพาะอิตาลี

GDP รายไตรมาส ออกมาแล้วสามประเทศ มีของเกาหลี จีน และเวียดนาม เกาหลี โดยที่ GDP เกาหลีหดตัว -1.4%QoQ sa (1.3%YoY) จากการบริโภคภาคเอกชน (-6.4% from prev 0.9%) แต่ยังปิดบวก YoY ได้เนื่องด้วยการใช้จ่ายภาครัฐมาหนุนไว้

IMF

  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัว -3.0% ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนในเดือน ม.ค. ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3% และนับเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำปี 1929 และต่ำกว่าวิกฤตเศรษฐกิจปี 2009 ที่หดตัว -0.1% จากการระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลให้หลายๆ ประเทศใช้มาตรการคุมเข้มซึ่งได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักฉับพลัน
  • โดยประมาณการดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าการระบาดของ COVID-19 และการใช้มาตรการคุมเข้มต่างๆ จะคลี่คลายลงในช่วงครึ่งหลังของปี แต่ในกรณีแย่สุดที่การระบาดยังไม่สามารถควบคุมได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก และมาตรการปิดเมืองยังคงอยู่ไปจนถึงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจโลกอาจหดตัวเพิ่มเติมอีก -3ppt (เป็น -6.0%)
  • IMF ระบุสภาวะทางเศรษฐกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางการระบาดรุนแรงของ COVID-19 ที่แพร่กระจายทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยวิกฤตในครั้งนี้ หรือที่ IMF เรียกว่า ‘The Great Lockdown’ ไม่เหมือนวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อนๆ ที่รัฐบาลสามารถกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ทันทีผ่านการกระตุ้นอุปสงค์ โดยวิกฤตครั้งนี้ เป็นผลมาจากการใช้มาตรการคุมเข้มเพื่อระงับการระบาดของไวรัสผ่าน การลดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การลดการดำเนินการของธุรกิจต่างๆ และการบังคับไม่ให้ประชาชนออกนอกที่พักอาศัยโดยไม่จำเป็น ซึ่งทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นทำได้ยาก
  • เศรษฐกิจของกลุ่มพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) จะหดตัว -6.1% (ปรับลด -7.7ppt จากประมาณการครั้งก่อน)  และกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economies) คาดจะหดตัว -1.0% (ปรับลด -5.4ppt จากประมาณการครั้งก่อน)

ในรายประเทศ  IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของยูโรโซนลงมากที่สุด -8.8ppt เป็นหดตัว  -7.5% จากการหดตัวแรงในอิตาลี (-9.1%) และสเปน (-8.0%) ซึ่งได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างมาก ขณะที่คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัว -5.9% (ปรับลด -7.9ppt จากประมาณการครั้งก่อน) และเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัว -5.2% (ปรับลด -5.9ppt จากประมาณการครั้งก่อน)

ส่วนเศรษฐกิจจีน IMF คาดจะขยายตัว 1.2% (ปรับลด -4.8ppt จากประมาณการครั้งก่อน) ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1976 และเศรษฐกิจอินเดียคาดจะขยายตัว 1.9% (ปรับลด -3.9ppt จากประมาณการครั้งก่อน)

ด้านเศรษฐกิจไทย IMF คาดจะหดตัว -6.7% (vs. ประมาณการครั้งก่อนที่ 2.9%)

สำหรับปี 2021 IMF คาดเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวขึ้นเป็น 5.8% (ปรับเพิ่ม +2.4ppt จากประมาณการในเดือน ม.ค.) บนสมมติฐานว่าการระบาดของ COVID-19 สามารถคลี่คลายได้ในครึ่งหลังของปี 2020 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลกใช้ได้ผลดี โดยเฉพาะการจำกัดวงการล้มละลายของภาคธุรกิจ การถูกเลิกจ้างของแรงงาน และการลดความตึงตัวในตลาดเงิน

แม้ IMF จะคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้ในปี 2021 แต่ประมาณการของ IMF ยังชี้ว่าระดับ GDP ของโลกในปี 2021 จะยังอยู่ต่ำกว่าในปี 2019 ก่อนหน้าการระบาดของไวรัส และยังมีความไม่แน่นอนสูงมากในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

IMF ประเมินว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายราว USD9,000bn ราวๆ มูลค่าทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเยอรมนีรวมกัน

การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยของกองทุนบัวหลวง

เราปรับคาดการณ์ GDP ปี 2020 หดตัวที่ -5.2% (จากปีก่อนที่ 2.4%) ทั้งนี้เราคาดว่าหากเศรษฐกิจไทยในปี 2021 สามารถฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงกับปี 2019 จะเป็นผลให้ GDP ในปี 2021 ขยายตัวที่ 5.5%