ลดหย่อนภาษีเลือก SSF หรือ RMF ดีล่ะ?

ลดหย่อนภาษีเลือก SSF หรือ RMF ดีล่ะ?

โดย  พริ้มพัชร จิรบวรพงศา AFPTTM

ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน

BF Knowledge Center

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบกับตลาดการลงทุนในไทย โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดหุ้น ทำให้รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการลงทุนระยะยาว  ด้วยการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF : Super Saving Fund)  และกระตุ้นให้ตรงจุดอีกครั้งด้วยการอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ หรือเรียกกันว่า SSF Extra (SSFX)  ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ   โดยเป็นวงเงินแยกต่างหาก  200,000  บาท  ไม่ต้องนำไปรวมกับกองทุน SSF ปกติและกองทุน RMF    ทั้งนี้ ต้องลงทุนในช่วงวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. 2563

อย่างไรก็ตาม  ยังคงมีคำถามจากผู้ลงทุนที่มีเงินลงทุนจำกัดว่า “ควรเลือกลงทุนอะไรดี? ระหว่างกองทุน SSF กองทุน SSFX และกองทุน RMF”    ซึ่งคำตอบที่ดีที่สุดของคำถามนี้คือ นักลงทุนต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายจากการลงทุนครั้งนี้ นอกเหนือจากการลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีนั้นคืออะไร?

หากเป้าหมายคือการลงทุนระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ  ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนในกองทุน RMF   โดยเลือกนโยบายลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้และระยะเวลาในการลงทุน หรือกรณีที่ผู้ลงทุนอยู่ในช่วงวัยใกล้เกษียณแล้ว เช่น อายุ 50 ปี ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุน RMF  เนื่องจากใช้ระยะเวลาลงทุนอีกเพียง 5 ปี ก็จะครบตามเงื่อนไขลงทุนคือ ครบ 5 ปีลงทุน และถือครองจนครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถขายคืนได้ ทั้งจำนวนยกเว้นภาษี ไม่ต้องรอนานจนถึง 10 ปี

สำหรับ ผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายระยะยาว ประมาณ 10 ปี  เช่น ต้องการสะสมเงินไว้เพื่อสร้างธุรกิจของตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุน SSF หรือ SSFX ได้  เพื่อให้สอดคล้องกับเงื่อนไขการถือครองหน่วยลงทุน 10 ปี    โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกนโยบายลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของตัวเองได้  ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์การลงทุน  ปันผล-ไม่ปันผล     ทั้งนี้ หากต้องการลงทุนในหุ้นไทย ก็อาจพิจารณาเลือกลงทุนในกองทุน SSFX ในช่วงที่กำหนด   เพื่อใช้สิทธิวงเงินพิเศษ  200,000  บาท  ทำให้เหลือวงเงินลงทุนแบบปกติเต็มๆ อีก  500,000  บาท (คำนวณจากสิทธิลงทุนสูงสุด)

ส่วนผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายผสมผสาน คือ มีทั้งเป้าหมายระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ และเป้าหมายระยะยาวเพื่อการออม ขอแนะนำให้จัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมทั้ง  2  เป้าหมาย โดยหากเป็นมนุษย์เงินเดือนสามารถนำเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มาร่วมคำนวณความพอเพียงของเงินเกษียณด้วย

ทั้งนี้ การจัดสรรเงินลงทุนที่เหมาะสมต้องไม่ลงทุนมากไปจนทำให้ติดขัดทางการเงิน หรือขาดสภาพคล่องในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นการลงทุนต่อเนื่องในระยะยาวจึงต้องวางแผนให้ดี และในทางกลับกันก็ต้องไม่น้อยจนเกินไป จนทำให้ไม่บรรลุเป้าหมายทางการเงิน