นโยบายการเงินของอีซีบีกับการแก้ปัญหาโลกร้อน

นโยบายการเงินของอีซีบีกับการแก้ปัญหาโลกร้อน

โดยทนง ขันทอง

นโยบายการเงินแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่?

นางคริสติน ลาการ์ด ผู้ว่าการธนาคารกลางของยุโรป หรืออีซีบี ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อ The Financial Times ว่า อีซีบีจะดำเนินนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับเป้าหมายสีเขียวที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม โดยในขณะนี้อีซีบีอยู่ในระหว่างการทำคิวอีในวงเงิน 2.8 ล้านล้านยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโคโรนา

ลาการ์ดเป็นผู้นำของธนาคารกลางคนแรกที่ออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า เธอจะบริหารนโยบายการเงินไปในทิศทางที่สนับสนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (climate change) หรือภาวะโลกร้อน

ในทางปฏิบัติ อีซีบีจะมีการพิจารณาโครงสร้างทางธุรกิจ หรือระบบปฏิบัติงานของบริษัทเพื่อดูว่ากิจการที่ทางอีซีบีจะพิมพ์เงินยูโรเข้าไปซื้อพันธบัตรผ่านการทำคิวอี ได้มาตรฐานในด้านสิ่งแวดล้อมมากเพียงใดในเรื่องการป้องกันภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) กลายเป็นหนึ่งในวาระโลกที่สำคัญที่สุด โดยทางองค์การสหประชาชาติได้วางเป้าหมายแล้วว่าการพัฒนาของโลกที่ยั่งยืน (sustainable development) ต้องไปควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์โดยมนุษย์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่เป็นสาเหตุให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ถ้าควบคุมภาวะโลกร้อนไม่ได้ สิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งมนุษย์จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

องค์การสหประชาชาติได้ยกระดับเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นวาระหลักของปี 2030 หรือเป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่า Agenda 2030 เรื่องโลกร้อนยังคงเป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่นักวิชาการว่ามีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลกตามยุค

แนวร่วมเอ็นจีโอ หรือกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมได้สร้างแรงกดดันอีซีบีไม่ให้เข้าไปซื้อพันธบัตร (brown bond) ของบริษัทที่มีขบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และหันมาให้การสนับสนุนซื้อพันธบัตร(green bond) บริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่ปกป้องสิ่งแวดล้อม

มีนักวิเคราะห์หลายคนออกมาวิจารณ์ว่า เรื่องการให้คุณ หรือการให้โทษแก่บริษัทที่สนับสนุน หรือทำลายสิ่งแวดล้อมน่าที่จะเป็นการตัดสินใจของนักการเมือง หรือรัฐบาลมากกว่า ที่จะให้ธนาคารกลางเป็นผู้ตัดสิน

นางลาการ์ดได้วางนโยบายเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นปีว่า อีซีบีจะต้องดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการป้องกันภาวะโลกร้อนไม่ให้เลวร้ายมากขึ้น แต่แผนงานต้องหยุดชะงักลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา ตอนนี้ นางลาการ์ดกำลังพยายามออกสตาร์ทใหม่นโยบายนี้ใหม่ ซึ่งแน่นอนเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีระบบตรวจสอบ ระบบดูแลควบคุม หรือการเปิดเผยข้อมูลอย่างรัดกุม ที่โดยรวมแล้วจะเพิ่มภาระการใช้จ่ายให้แก่ภาคธุรกิจ

ต่อคำถามที่ว่าปัญหาโคโรนาไวรัสจะทำให้ภาคธุรกิจที่ต้องเอาตัวรอดเพิกเฉยในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือไม่ นางลาการ์ด กล่าวว่า ใครก็ตามที่พยายามเลี่ยงประเด็นนี้จะต้องเสียใจภายหลัง “ฉันมีลูก ฉันมีหลาน และฉันไม่อยากที่จะเผชิญกับใบหน้าที่มีดวงตาที่สวยงามที่ตั้งคำถามกับฉันและคนอื่นๆว่า ‘พวกคุณได้ทำอะไรลงไป’?”

นายแอนดรู ไบเล่ล์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ บอกว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศเป็นหนึ่งในปัจจัยการซื้อพันธบัตรของบริษัทในการทำคิวอี หลังจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ดี เรื่องนโยบายสีเขียวยังไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนของธนาคารกลางของสหรัฐ (เฟด) ที่กำลังยุ่งอยู่กับการดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงิน และเศรษฐกิจของสหรัฐผ่านการทำคิวอี ที่ทำควบคู่กับการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของรัฐบาลทรัมป์ จึงไม่ได้มีการถกประเด็นโลกร้อนกับนโยบายการเงินในวาระการประชุมของเฟด

เมื่ออีซีบี และธนาคารกลางอังกฤษเริ่มขยับในการใช้นโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ผ่านการให้คุณให้โทษให้กับสถาบันการเงินและบริษัทในระบบเศรษฐกิจที่ทำตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีแรงกดดันให้เดินไปตามแนวทิศทางนี้

สถาบันการเงินใด หรือบริษัทใดที่ทำธุรกิจไม่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) หรือกล่าวโดยรวมคือมาตรฐานESG จะถูกนักลงทุนมองข้าม หรือถูกผู้ดูแลระบบ (regulators)ลงโทษ ทำให้ประกอบธุรกิจอย่างลำบาก หรืออาจจะไปถึงขั้นไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

ใครจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เรื่องภาวะโลกร้อน และมาตรฐานESGจะเป็นประเด็นใหญ่ที่สุดในระบบธุรกิจ เศรษฐกิจและการเงินที่กำลังถูกผลักดันโดยองค์กรระหว่างประเทศ และรัฐบาลต่างๆ ในตะวันตก โดยมีองค์การสหประชาชาติเป็นหัวหอกในการผลักดันตามเป้าหมายAgenda 2030