สตาร์ตอัพที่จัดเป็น Unicorns (ยูนิคอร์น) คือ สตาร์ตอัพที่มีมูลค่าบริษัทเกิน 1,000 ล้านดอลลาร์ เกิดขึ้นในสหรัฐและยุโรปเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2015 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะมีกระแสธุรกิจสตาร์ตอัพกระจายไปทั่วโลก CB Insights ระบุว่า ในปี 2015 ยูนิคอร์นที่เกิดขึ้นในประเทศจีนมีจำนวนมากกว่ายุโรปและกำลังไล่ตามสหรัฐมาอย่างกระชั้นชิด
เว็บไซต์ wired.co.uk รายงานว่า ในปี 2017 ธุรกิจสตาร์ตอัพที่ขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นส่วนมากมาจากธุรกิจด้านเทคโนโลยี ทั้งนี้ในปีนี้มี 41 บริษัทที่ทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีจากทั่วโลก โดยเป็นบริษัทจากจีน 15 บริษัท ซึ่งมีเพียง 5 บริษัทในทวีปยุโรป และอเมริกายังครองแชมป์ประเทศที่มียูนิคอร์นมากที่สุด โดยมีจำนวน 17 บริษัท
ย้อนหลังไปเมื่อปี 2009 สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่มียูนิคอร์น จนมาถึงปัจจุบันทั่วโลกมียูนิคอร์น 215 บริษัท โดยเป็นของสหรัฐฯ 107 บริษัท ที่น่าสนใจส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัพที่อยู่ในแคริฟอร์เนีย
แต่ถ้ามาดูอัตราเร่งของการเพิ่มขึ้นของยูนิคอร์นแล้ว จีนมา “แรง” ทั้งนี้ในปี 2014 จีนมีเพียงสตาร์ตอัพที่เป็นยูนิคอร์นเพียง 8 บริษัท แต่ตอนนี้มีถึง 56 บริษัท ขณะที่ยุโรปมีเพียง 23 บริษัทเท่านั้น โดยยูนิคอร์นที่เกิดขึ้นใหม่ของจีนนั้นส่วนมากอยู่ในธุรกิจอีคอมเมิร์ช และร้านค้าออนไลน์ William Altman ของ CB Insights ให้เหตุผลว่า ธุรกิจเหล่านี้ได้ประโยชน์จากการเติบโตของคนชั้นกลางในประเทศที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์
Altman ให้เหตุผลเพิ่มว่า ความสำเร็จของ Alibaba Baidu และ Tencent มีอิทธิพลอย่างมากโดยเฉพาะเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนให้แก่เหล่ายูนิคอร์นของจีน
iPrice บริษัทวิจัยตลาดรายงานว่า Uber ของสหรัฐฯ มียอดเงินระดมทุน 62.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการระดมเงินทุนที่สุด แต่ทิ้งห่างอันดับสองที่มาจากจีน เพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น โดย Xiaomi สามารถระดมทุนได้ถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์
ในจีนเอง ANT Financial ถือเป็นยูนิคอร์นอันดับที่ 2 ที่ระดมเงินทุนได้ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ และ DidiChuxing ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ในจีน ที่ระดมเงินทุนได้ 3.37 หมื่นล้านดอลลาร์
Duncan Logan CEO ของ RocketSpace กล่าวไว้ว่า สตาร์ตอัพของจีนแสดงศักยภาพอย่างน่าเกรงขามในเวทีโลก จนดูเหมือนโลกมี 2 ขั้ว ได้แก่ ฝั่งตะวันตก และ ฝั่งตะวันออก ตะวันตกมี Google Facebook และ Uber ตะวันออกก็มี Tencent WeChat และ Didi
เมื่อมาดูว่าทำไมจีนถึงประสบความสำเร็จในการสร้างธุรกิจสตาร์ตอัพขึ้นมาจนมีจำนวนของยูนิคอร์นอย่างก้าวกระโดด
นักวิเคราะห์มองกันว่า เหตุผลเริ่มแรกและเป็นก้าวที่สำคัญ คือ การที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้คนของตนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยมหาวิทยาลัย Top 5 ที่คนจีนเลือกเรียนอยู่ในสหรัฐฯ
สำนักงานสถิติของสหรัฐฯ มีการเปิดเผยว่า นักศึกษาจาก 3 ประเทศ ที่เดินทางไปเรียนในสหรัฐ มากที่สุด ได้แก่ จีน อินเดีย และเกาหลีใต้ โดยปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรวมกัน 49% ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด โดยสัดส่วนนักศึกษาจีนมากถึง 21%
มหาวิทยาลัยที่นักศึกษาจีนเลือกที่จะมาเรียนเป็นอันดับต้น ๆ ของสหรัฐ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ และมหาวิทยาลัยซิลิคอนวัลเลย์ ปัจจัยข้างต้นนี้เองทำให้ จีนมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพในระดับโลก ที่พร้อมกลับไปผลักดันสตาร์ตอัพให้ขึ้นไปเป็นยูนิคอร์น
นอกจากนี้ก็คือนโยบายของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้เกิดสตาร์ตอัพอย่างจริงจัง โดยการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุน ภาษี และกำหนดยุทธศาสตร์ที่กีดกันการเข้ามาของต่างชาติ
“Shut out foreign competitors” ถือเป็นกลยุทธ์ที่ทำให้ยักษ์ใหญ่ในหลายธุรกิจจากต่างประเทศไม่สามารถเจาะเข้าตลาดจีน และทำให้พลังจากการบริโภคในจีนไหลวนเข้าไปสร้างการเติบโตในระบบโดยไม่ไหลออกนอกประเทศ
สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ “การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน” ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ จีนโตเฉลี่ยปีละ 6-7% ขณที่สหรัฐฯ โตเพียง 1-2.5%