BF Economic Research
IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2020 มาที่ -4.4% ดีขึ้นเล็กน้อยกว่าประมาณการครั้งก่อน (-4.9%) เนื่องด้วย GDP ในไตรมาส 2/2020 ของกลุ่ม DM ออกมาไม่แย่เท่าที่คาด เนื่องจากหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายล็อคดาวน์ในช่วง เดือนพ.ค.-มิ.ย. ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็ว ขณะที่เครื่องชี้รายเดือนตั้งแต่เดือนก.ค.-ส.ค.ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น
กระนั้น IMF ได้ปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 มาที่ 5.2% ชะลอลงเล็กน้อยกว่าประมาณการเดือนมิ.ย.ที่ 5.4% เนื่องด้วยมองว่าในปีหน้าก็จะยังมี Social Distancing หรือมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอยู่ อันจะส่งผลต่อการจ้างงาน และการผลิตในบางกลุ่มธุรกิจ ทำให้ GDP โลกปี 2021 จะเติบโตเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับปี 2019 หรือเท่ากับว่า GDP ปี 2021 จะกลับมาใกล้เคียงกับก่อน COVID-19
สำหรับประมาณการเศรษฐกิจระยะกลาง (Medium Term Outlook) นั้น IMF มองว่า COVID-19 อาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปอีกในระยะเวลา 6 ปี (2020-2025) ทำให้โลกจะไม่สามารถกลับไปขยายตัวได้เร็วเท่ากับช่วงที่เกิด COVID-19 ส่งผลให้ในช่วงระยะกลาง GDP โลกจะขยายตัวเพียง 3.5%
IMF มองว่าหลังจากนี้โครงสร้างทางเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนไปจากช่วง 1990s จากปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ที่ทวีคูณขึ้น ลูกจ้างรายวันจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและมาตรการจำกัดการเดินทาง สถาบันการศึกษาจะไม่สามารถกลับมาเปิดได้เต็มรูปแบบ อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถผลิตแรงงานทักษะสูงมาตอบรับความต้องการของตลาดได้ทัน ขณะเดียวกันธุรกิจอาจจะปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจกล่าวคือ อาจจะตัดสินใจปิดบางกลุ่มธุรกิจที่ไม่สามารถทำกำไรได้ เป็นผลให้แรงงานในกลุ่มนั้นอาจจะถูกเลิกจ้างไป ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ยังดำเนินธุรกิจได้อยู่ อาจจะเลือกที่จะไม่จ้างแรงงานใหม่ แต่จะให้แรงงานเดิมรับงานที่หลากหลายมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนธุรกิจที่เป็น Global Companies อาจจะเลือกใช้แรงงานในท้องถิ่นนั้นๆ มากกว่าที่จะหมุนเวียนใช้พนักงาน Expat ซึ่งอาจจะจำกัดการกระจาย Knowhow ระหว่างกัน นอกจากนั้นแล้ว การที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวช้าลงและลากยาวไปหลายปี จะส่งผลให้มูลหนี้ภาครัฐสะสมไปเรื่อยๆ
IMF ระบุประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า 1) มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมจะยังคงอยู่จนถึงปีหน้า ก่อนที่จะทยอยลดลงหลังวัคซีนมีการใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น 2) การระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในสิ้นปี 2022 และ 3) นโยบายการเงินจะผ่อนคลายในระดับปัจจุบันไปจนถึงปี 2025
IMF มองว่าการประมาณการในครั้งนี้ยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก เนื่องด้วยสมมติฐานเกี่ยวกับปัจจัยด้านสุขอนามัยและทางเศรษฐกิจยังคาดการณ์ได้ยาก อาทิ การแพร่ระบาดจะกลับมาอีกหรือไม่ โรคจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่ แต่ละประเทศจะสามารถรับมือได้ดีเพียงใด ธุรกิจจะปิดตัวหรือจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด ธุรกิจจะใช้แรงงานมากขึ้นหรือน้อยลง ธุรกิจบริการจะปรับตัวกลับมาได้เร็วหรือไม่ การคิดค้นวัคซีนจะให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ และทุกประเทศจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างพอเพียงหรือไม่ เหล่านี้อาจส่งผลให้ประมาณการทางเศรษฐกิจคาดเคลื่อนจากตัวเลขจริงได้มาก ทำให้ IMF มองว่ารัฐบาลแต่ละประเทศอาจจะต้องแบกรับภาระในการประคองเศรษฐกิจนานกว่าที่คาดไว้เดิมทำให้ประเด็นด้านภาระหนี้การคลังจะเป็นโจทย์สำคัญว่ารัฐบาลจะกระจายความช่วยเหลือไปยังภาคส่วนใดของเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ทั้งนี้ IMF มองว่าหนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันราว 20ppt เป็น 125% ต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2021 ส่วนกลุ่มประเทศเกิดใหม่คาดจะเพิ่มขึ้นราว 10ppt จากปัจจุบันเป็น 65% ต่อ GDP ขณะที่ปริมาณการค้าโลกจะหดตัว -10.4% ในปี 2020 ก่อนจะฟื้นตัวมาที่ 8.3% ในปี 2021
สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจในรายประเทศนั้น IMF มองว่า
- เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced Economies) จะหดตัว -5.8% ในปีนี้ ดีกว่าประมาณการครั้งก่อนที่คาดจะหดตัวสูงถึง -8.1% ขณะที่ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Economies) คาดจะหดตัว -3.3% รุนแรงกว่าที่คาดที่ -3.1% จากหลายๆ ประเทศที่ยังประสบปัญหาการระบาดรุนแรงของ COVID-19
- ในรายประเทศ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ของประเทศหลักส่วนใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะของสหรัฐฯ (+3.7ppt) และยูโรโซน (+1.9ppt) หลัง GDP ไตรมาส 2 ออกมาหดตัวรุนแรงน้อยกว่าที่คาด และของจีน (+0.9ppt) ที่เศรษฐกิจพลิกกลับมาขยายตัวแข็งแกร่งกว่าที่คาดอย่างรวดเร็ว โดยมีอินเดียที่ถูกปรับลดประมาณการเศรษฐกิจลงอย่างมาก (-5.8ppt) จากเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่หดตัวรุนแรงกว่าที่เคยประเมิน
- สหรัฐฯ IMF คาดเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว -4.3% ปรับขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด -8.0% โดยประมาณการดังกล่าวยังไม่นับรวมโอกาสที่จะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพิ่มเติม ซึ่งกำลังเจรจากันในสภา อย่างไรก็ดี IMF มองเศรษฐกิจปี 2021 จะขยายตัวเพียง 3.1% จากที่เคยประเมินที่ 4.5%
- ยูโรโซน IMF คาดเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว -8.3% รุนแรงน้อยกว่าที่เคยประเมินที่ -10.2% ขณะที่คาดเศรษฐกิจปี 2021 จะพลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.2% ลดลงจากที่เคยประเมินที่ 6.0%
- ญี่ปุ่น IMF คาดเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว -5.3% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก -5.8% ที่เคยประเมิน และคาดปี 2021 เศรษฐกิจจะพลิกกลับมาขยายตัวที่ 2.3% ใกล้เคียงกับประมาณการครั้งก่อนที่ 2.4%o จีน เป็นประเทศหลักเพียงประเทศเดียวที่จะขยายตัวในปีนี้ โดย IMF คาด 1.9% ปรับขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่ 1.0% และคาดเศรษฐกิจปี 2021 จะขยายตัวสูง 8.2%
- อินเดีย เป็นประเทศที่ IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ลงมากที่สุดในรอบนี้ โดยคาดจะหดตัวสูงถึง -10.3% รุนแรงขึ้นจากเดิมที่คาด -4.5% ส่วนปี 2021 คาดเศรษฐกิจจะขยายตัว 8.8%
- ประเทศไทย IMF คาดเศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว -7.1% ปรับจาก -7.7% ที่เคยประเมิน และคาดปี 2021 เศรษฐกิจจะขยายตัว 4.0%