“การลงทุนใน LTF ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป ผู้ลงทุนไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้”
โดย…เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนทางการเงิน
สรุปประเด็นสำคัญ
- กองทุน LTF 4 กองทุนของกองทุนบัวหลวง กลับมาเสนอขายอีกครั้งในรูปแบบกองทุนรวมทั่วไปที่นักลงทุนสามารถซื้อขายได้โดยไม่ติดข้อจำกัดและเงื่อนไขเรื่องการถือครอง เนื่องจากผู้ลงทุนไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแล้ว เหมาะสำหรับผู้ต้องการลงทุนต่อเนื่องในกองทุนเหล่านี้ โดยกองทุนบัวหลวง ได้แยกระบบการลงทุนในกองทุนนี้ออกมาชัดเจนระหว่างเงินลงทุนที่ลงทุนก่อนปี 2563 ที่ได้สิทธิทางภาษีและส่วนที่ลงทุนตั้งแต่ปี 2563 ที่ไม่ได้สิทธิทางภาษี โดยใช้คนละเลขที่บัญชีผู้ถือหน่วย เพื่อป้องกันการสับสน
กองทุน LTF 4 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (BLTF75) กองทุนเปิดบัวหลวงปัจจัย 4 หุ้นระยะยาวปันผล (BBASICDLTF) และกองทุนเปิดบัวหลวงทศพลหุ้นระยะยาว (B-TOPTENLTF)
LTF ทั้ง 4 กองทุนนี้ ไม่สามารถนำเงินลงทุนมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แล้วตั้งแต่ปี 2563 เรื่องนี้ไม่ใช่การยกเลิก แต่เป็นเงื่อนไขที่ระบุไว้ตั้งแต่ปี 2558 ที่มีการต่ออายุมาตรการให้ว่า สามารถซื้อ LTF เพื่อนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้แค่ปี 2562 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าให้ปิดกองทุน เพราะยังมีเงินลงทุนอยู่จำนวนมากในระบบ LTF กว่า 3 แสนล้านบาท ทั้งที่ครบเงื่อนไขแล้วแต่ยังไม่ได้ขายคืนและส่วนที่ยังไม่ครบเงื่อนไข ขณะที่ LTF ของกองทุนบัวหลวง ณ ตอนนี้ก็มีจำนวนกว่า 8 หมื่นล้านบาท
เมื่อกฎหมายไม่ได้กำหนดว่าห้ามขายต่อหรือให้ขายต่อ ขึ้นอยู่กับโครงการของแต่ละบริษัทว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าขายต่อต้องทำระบบแยกให้ได้ระหว่างเงินเก่าที่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีกับเงินใหม่ตั้งแต่ปี 2563 ดังนั้นบางแห่งก็ขายต่อ บางแห่งก็เลือกไม่ขายต่อ
สำหรับกองทุนบัวหลวง เลือกจะพัฒนาระบบเพื่อขายต่อ เนื่องจากมีนักลงทุนต้องการลงทุนต่อแม้ไม่ได้สิทธิทางภาษีแล้ว และหาวิธีไม่ให้เกิดความสับสน และผิดพลาดจนเกิดปัญหาด้านภาษี โดยที่สาขาธนาคาร ตัวแทนทำได้แล้ว ส่วนระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ซื้อขายผ่านบัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง (Bualuang iBanking) และโมบายแบงก์กิ้ง จากธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank Mobile Banking) กำลังพัฒนาอยู่
เนื่องจากระบบของเรา แยกกองทุนที่ลดหย่อนภาษีกับไม่ลดหย่อนภาษีออกจากกันอยู่แล้ว เป็นคนละเลขที่บัญชี ดังนั้น สำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุน LTF 4 กองจากนี้ไป จะสามารถทำได้โดยเปิดบัญชีกองทุนใหม่อีกเล่มหนึ่ง แยกออกมาเลย จึงไม่สับสน แต่การลงทุนก็ลงทุนในกองทุนเดิม เหมือนเดิม และสามารถตั้งลงทุนเฉลี่ยเท่ากันทุกเดือน (DCA) ได้ด้วย
ทั้งนี้ หากผู้ลงทุนนำเงินมาลงทุนใน LTF ทั้ง 4 กองทุน ในช่วงที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนทางภาษีแล้ว เงินกองทุนก้อนนี้จะสามารถสับเปลี่ยนได้ระหว่างกองทุนทั่วไปที่ไม่ใช่กองทุนลดหย่อนภาษีได้ โดยไม่ผิดเงื่อนไขการถือครอง 7 ปีปฏิทิน แต่โอนย้ายข้าม บลจ. ไม่ได้ กล่าวสรุปก็คือ ถ้าเป็นเงินก้อนใหม่จะสับเปลี่ยนแบบของใหม่ในกองทุนรวมทั่วไป ส่วนเงินก้อนเดิมที่อยู่ในเลขบัญชีกองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีก็สับเปลี่ยนในกลุ่มเดิมกับ LTF ด้วยกัน เหมือนเดิมทุกอย่าง โดยการย้ายเข้ามาจะถือวันลงทุนแรกเป็นหลักก็คือย้ายมาในเลขทะเบียนกองทุนที่ลดหย่อนภาษีตามเดิม