นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) เปิดเผยว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท (BTSGIF) เตรียมนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 (ไตรมาสที่ 3 ของการดำเนินงานปี 2563/2564) จ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปการคืนเงินทุน 0.125 บาทต่อหน่วย โดยการลดมูลค่าที่ตราไว้ จากหน่วยละ 9.817 บาท เหลือหน่วยละ 9.692 บาท ทำให้ตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมีการจ่ายเงินปันผลและการคืนเงินทุนรวมแล้วทั้งสิ้น 5.450 บาท
การจ่ายคืนเงินทุนครั้งนี้ จะขึ้นเครื่องหมายไม่ได้รับสิทธิในการรับคืนเงินทุน (XN) วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนเพื่อกำหนดสิทธิในการรับคืนเงินทุนในวันที่ 1 มีนาคม 2564 เพื่อจ่ายคืนเงินทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในวันที่ 15 มีนาคม 2564
นายพรชลิต กล่าวว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการดำเนินงานปี 2563/2564 กองทุน BTSGIF มีรายได้รวม 806.3 ล้านบาท ลดลง 36.8% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 9.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงของรายได้จากเงินลงทุนในสัญญาซื้อและโอนสิทธิรายได้สุทธิจากการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลักตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ที่ 805.0 ล้านบาท ลดลง 36.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แต่เพิ่มขึ้น 9.3% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 บรรเทาลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่ รายได้จากการลงทุนสุทธิในไตรมาส 3 ปี 2563/2564 เท่ากับ 789.4 ล้านบาท ลดลง 37.2% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักมาจาก การลดลงของรายได้รวมข้างต้น แต่ในทางกลับกัน รายได้จากการลงทุนสุทธิก็เพิ่มขึ้น 10.0% จากไตรมาสก่อน เนื่องจากรายได้รวมเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตรากำไรจากรายได้จากการลงทุนสุทธิเป็น 97.9% เทียบกับ 98.6% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ 97.3% ในไตรมาสก่อน
ทั้งนี้ กองทุน BTSGIF รับรู้ขาดทุนสุทธิจากเงินลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2563/2564 จำนวน 2,965.5 ล้านบาท เนื่องจากปัจจัย 2 ประการ ได้แก่
1) มูลค่าเงินลงทุนในสัญญาซื้อและโอนสิทธิรายได้สุทธิตามมูลค่ายุติธรรมลดลงจำนวน 2,900.0 ล้านบาท (รายการที่ไม่ใช่เงินสด) จากผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของรถไฟฟ้าบีทีเอสในไตรมาส 4 ปี 2563/2564 และในปี 2564/2565 รวมถึงระยะเวลาคงเหลือของสิทธิในรายได้สุทธิตามสัญญาสัมปทานลดลง
2) การบันทึกเงินลงทุนในสถานีศึกษาวิทยา (S4) จำนวน 65.7 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินลงทุนในสัญญาซื้อและโอนสิทธิรายได้สุทธิ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 อยู่ที่ 50,310.0 ล้านบาท จาก 53,210.0 ล้านบาท ณ วันที่ 30 กันยายน 2563
นายพรชลิต กล่าวว่า กองทุนบัวหลวง เชื่อว่า ในระยะยาวการจัดสรรเงินส่วนหนึ่งลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ก็ยังเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ โดยในส่วนของกองทุน BTSGIF นั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ประชาชนในวงกว้างแล้ว ก็จะส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้า BTS ทยอยกลับมาอีกครั้ง และทำให้ผลการดำเนินงานฟื้นตัว
ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กองทุนมีรายได้และอายุกองทุนมากขึ้น คือ การลงทุนเพิ่มเติมในรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ที่เป็นสิทธิของกองทุนที่จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมได้ในอนาคตเมื่อมีจังหวะที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มศักยภาพของกองทุนให้ยั่งยืน ขณะที่ ราคาหน่วยลงทุนในปัจจุบันอยู่ต่ำกว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิมาก ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจลงทุน
อนึ่ง มูลค่าทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนลงทุนในปัจจุบันจะลดลงตามอายุของสิทธิในรายได้สุทธิตามสัญญาสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2572
ผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจ ลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
กองทุนบัวหลวง
15 กุมภาพันธ์ 2564