ประเด็นเด่นในตลาดตราสารหนี้
ในปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่หนักสำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยที่ต้องเผชิญกับความผันผวนตลอดทั้งปี 2563 เนื่องจากการระบาดของไวรัส Covid-19 ทั่วโลก อีกทั้งยังมีสายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้น และยังไม่มีแนวทางการรักษาอย่างแน่ชัด รวมทั้งยังไม่มีวัคซีนที่เพียงพอ จนก่อให้เกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจและตลาดการเงิน ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างลดดอกเบี้ยลงมาในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจในช่วงวิกฤติ
โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงรุกด้วยการลดดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.50% ต่อปี เหลือ 0.00% ต่อปี และประกาศทำอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงิน หรือ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกปรับตัวลงต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน โดยอัตราผลตอบแทนปรับลดลงทุกช่วงอายุนับจากต้นปี หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 1.25% มาเป็น 0.75% ต่อปี และลงมาต่ำสุดเหลือ 0.5% ต่อปี เพราะสถานการณ์การของ Covid-19 ยังไม่ดีขึ้น
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือน ม.ค. 2564 ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไม่เกิน +10 bp เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนก่อน โดยอัตราผลตอบแทนปรับเพิ่มขึ้นมากในพันธบัตรอายุ 4-5 ปี และ 15-22 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้นเพียง 1 bp มาอยู่ที่ 1.30% แม้ในเดือนนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีจะมีความผันผวน โดยเคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นในช่วงต้นเดือน ม.ค. ภายหลังพรรค Democrat ชนะการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกอีก 2 ที่นั่งในรัฐ Georgia ทำให้พรรคได้ครองเสียงข้างมากในสภาครองเกรสทั้ง 2 สภา จึงคาดว่าจะสามารถผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ออกมาได้และเป็นปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อไป
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เงินลงทุนไหลออกจากพันธบัตรสหรัฐฯ ไปยังสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่ตลาดตราสารหนี้มีความกังวลเกี่ยวกับปริมาณพันธบัตรที่จะเพิ่มขึ้นจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ค่อย ๆ ปรับตัวลดลงจากปัญหาการระบาดของ Covid-19 ที่ยังรุนแรงในหลายพื้นที่ ข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีน รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจต้องปรับลดงบประมาณบางส่วนลงหรือการอนุมัติอาจล่าช้าออกไป
ขณะที่ปัจจัยในประเทศ สบน. ประกาศเพิ่มปริมาณการออกพันธบัตรโดยจะประมูลพันธบัตรรุ่น 3 ปี และ 5 ปี มูลค่ารวม 6 หมื่นล้านบาท ในเดือน ก.พ. นี้ ทำให้การออกพันธบัตรในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นจากประกาศเดิมที่ 1.85 แสนล้านบาท เป็น 2.45 แสนล้านบาท ด้านเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกตลาดตราสารหนี้ไทยเล็กน้อย โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1.9 พันล้านบาท ขณะที่ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2.0 พันล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่นักลงทุนต่างชาติถือครองครบกำหนด 771 ล้านบาท
ส่วนแนวนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน เน้นให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 และกระตุ้นผ่านงบประมาณการคลังขนาดใหญ่เพื่อคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม อีกทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีการตั้งแต่งนางเจเน็ต เยลเลน ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลัง ถือเป็นสุภาพสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ 231 ปีของสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังฯ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ซึ่งมีความต้องการผลักดันงบกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผ่านมติสภาคองเกรสให้ได้
ขณะที่ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้มีการลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ให้นำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่หลายประเทศได้ทำร่วมกันเมื่อปี 2558 แสดงให้เห็นการยกระดับความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด การให้ความสำคัญกับภาวะโลกร้อน พลังงานทางเลือก รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเช่น รถยนต์ไฟฟ้า
ด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ในการประชุมครั้งแรกของ FED ในปีนี้ (2564) ด้านสภาพคล่องธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังเน้นความสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ โดยส่งสัญญาณที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำไปอีกระยะ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของ FED มีมติเอกฉันท์มีมติเป็นเอกฉันท์ (11 – 0) คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00 – 0.25%
นอกจากนี้ FED ระบุว่า จะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินรวม 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน โดย FED จะซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ วงเงิน 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ในวงเงิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ส่วนแถลงการณ์หลังการประชุมของ FED ระบุว่า จะยังคงใช้เครื่องมือทุกอย่างในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคาจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง และใช้เป้าหมายเงินเฟ้อแบบเฉลี่ยโดยเงินเฟ้อเฉลี่ยต้องอยู่ในระดับ 2% ถึงจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยจากเดิมที่เมื่อเงินเฟ้อแตะระดับ 2% ก็เริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยเลยในทันที
ระหว่างนี้จะยังดำเนินธุรกรรมการซื้อคืนพันธบัตร (QE) เพื่อเสริมสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดการเงินอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลบวกต่อตราสารหนี้สหรัฐฯ โดยเฉพาะตราสารหนี้ที่เข้าข่ายการเข้าซื้อของ FED อย่าง Agency MBS, Investment Grade Bond และตราสารหนี้ High Yield Bond ที่มีอันดับเรตติ้งสูง (BB)
ด้านยุโรป ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% คงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% ซึ่ง ECB จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันหรือต่ำกว่าระดับดังกล่าวจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ ECB ที่กำหนดไว้ที่ระดับใกล้แต่ไม่เกิน 2% นอกจากนี้ ECB ยังคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ PEPP ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือน มี.ค. ปีหน้า หรือจนกระทั่ง ECB พิจารณาว่าวิกฤติการแพร่ระบาดของ Covid-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว
ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทางด้านนโยบายการเงิน BOJ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% และคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0% พร้อมปรับประมาณการ GDP ปี 2564 ขยายตัว 3.9% (จากเดิม 3.6%) เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระทบทางตรงทั้งภาคการส่งออกและภาคบริการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งกดดันธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตามการควบคุมการแพร่ระบาดทำได้ค่อนข้างดี โดยเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นแม้ไม่ได้แข็งแกร่ง แต่ยังอยู่ในระดับที่เครื่องมือทางการคลังและการเงินของรัฐบาลน่าจะสามารถรับมือได้
อีกปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือการจัดโอลิมปิกซึ่งญี่ปุ่นได้ลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและเตรียมความพร้อมเพื่อการแข่งขันครั้งนี้เป็นอย่างมาก ต้องติดตามว่าจะสามารถเลื่อนการจัดไปได้เป็นช่วงเวลาใด และยังรับประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้ในระดับไหนเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในภาคบริการในประเทศ
ส่วนประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2564 กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า จึงต้องการแรงสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีขีดจำกัดไว้ใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังระบุว่าความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ และการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป โดยนโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง ขณะที่มาตรการทางการคลังต้องพยุงเศรษฐกิจโดยไม่ขาดช่วง
- สำหรับแนวโน้มของอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในช่วงกลางปี 2564 และยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อตลอดทั้งปี
- กนง.มองสภาพคล่องยังกระจายตัวไม่ทั่วถึงตามความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้นจากฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้นโดย เฉพาะภาคเอกชนที่มีความอ่อนไหวสูงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19
- อย่างไรก็ตามเราเห็นว่าคณะกรรมการมีความกังวลต่อค่าเงินบาทน้อยลง เนื่องจากเงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินภูมิภาคมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการจะยังคงติดตามพัฒนาการของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
- ในเชิงนโยบาย กนง. มองเห็นความสำคัญของความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐ ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการทางการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ รวมทั้งพิจารณามาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการกระจายสภาพคล่องและเพื่อรองรับเศรษฐกิจช่วงฟื้นฟูในอนาคต
- นอกเหนือจากนี้ ธปท. ระบุว่าอาจจะพิจารณาปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.23% เพื่อช่วยลดภาระให้กับธนาคารพาณิชย์
มุมมองด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
คาดว่าเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะมีความชันเพิ่มขึ้น โดยกองทุนบัวหลวงคาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตลอดทั้งปีนี้ อีกทั้งสภาพคล่องในระบบการเงินที่ค่อนข้างสูงจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวได้ในกรอบจำกัด ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปริมาณการออกพันธบัตร และการเคลื่อนไหวตามอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งความคืบหน้าในการพัฒนาและแจกจ่ายวัคซีน
ปัจจัยบวก/ลบต่อกองทุน
- (-) ถ้ากนง.ลดดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้มีผลดีกับตราสารหนี้ระยะสั้น
- (+) ปัจจัยหนุนตลาดตราสารหนี้ได้แก่นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก
- (+) คาดว่าธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
- (-) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะมีความผันผวนตามปัจจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 การดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังของภาครัฐ ปริมาณพันธบัตรรัฐบาล (Bond supply)
- (-) ความกังวลถึงอันดับเครดิตตราสารหนี้ภาคเอกชน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหนี้หลายราย
- (-) ความผันผวนในตลาดการเงินโลก อัตราแลกเปลี่ยน
สรุปความเคลื่อนไหวค่าเงินบาท USD/THB
ค่าเงินบาทในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 15 ก.พ. 2564 ปิดที่ระดับ 29.886 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าจากสิ้นปี 0.26% การแข็งค่าอยู่ในระดับกลางของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) เนื่องจากมีค่าเงินหยวนแข็งค่ามากที่สุดที่ 1.4% ขณะที่ค่าเงินวอนของเกาหลีอ่อนค่ามากที่สุดที่ 1.25% โดยปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่
- (+) แรงซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้นจากแรงหนุนของความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
- (+) ข่าวดีเรื่องความคืบหน้าของวัคซีน Covid-19
- (+) สัญญาณผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องของประธาน FED
- (-) เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด และความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- (-) ความกังวลถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย
- (-) ความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ของไทย
หมายเหตุ: (+) ส่งผลให้เงิน THB แข็งค่า / (-) ส่งผลให้เงิน THB อ่อนค่า
Market Update: กองทุน MM-RMF
วันที่จดทะเบียน: 12 พ.ย. 2551
นโยบายการลงทุน:
- กองทุนเน้นลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในตัวตราสารและหรือผู้ออกตราสารระยะยาวสามอันดับแรก ระยะสั้นสองอันดับแรก ในระดับ National และหรือ International Scale
- กองทุนลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ สถาบันการเงิน เอกชน และหรือเงินฝากทั้งในและต่างประเทศ
การลงทุนในตราสารหนี้ รวมถึงหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นที่มีกำหนดการชำระคืนเมื่อทวงถามหรือมีอายุสัญญา หรือจะครบกำหนดชำระคืนไม่เกิน 397 วันนับแต่วันที่ลงทุน กองทุนจะดำรงอายุถัวเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ณ ขณะใดขณะหนึ่งไม่เกิน 92 วัน
ทั้งนี้ กองทุนมีสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศโดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่เกิน 40% ของ NAV
นโยบายเงินปันผล: ไม่จ่าย
กลยุทธ์ในการบริหารกองทุน: กองทุนมีกลยุทธ์การลงทุนมุ่งหวังผลตอบแทนในระยะสั้นถึงระยะปานกลางให้ได้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียงดัชนีชี้วัดที่กำหนด โดยเน้นการคัดเลือกตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนเหมาะสม
- ช่วง 1 เดือนครึ่งที่ผ่านมา (ม.ค. – 15 ก.พ. 2564) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรช่วงอายุไม่เกิน 1 ปี ปรับเพิ่มขึ้น 6 – 10 basis points โดยมีอัตราผลตอบแทนในช่วง 0.34 – 0.42% ณ 15 ก.พ. 2564
- ทั้งนี้ ทีมจัดการลงทุนประมาณการว่า ผลตอบแทนในช่วงไตรมาส 1 หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมน่าจะอยู่ราว 0.25 – 0.45% ต่อปี
- Portfolio Duration (ตราสารที่กองทุนถือครองมีอายุเฉลี่ย) 0.16 ปี ข้อมูล ณ วันที่ 29 ม.ค 2564
ผลการดำเนินงานของกองทุน ณ 29 ม.ค. 2564(1)
(1) จัดทำขึ้นตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานของกองทุนรวมของสมาคมบริษัทจัดการกองทุน
(2) เกณฑ์มาตรฐาน หมายถึง Zero Rate Return (Total Return) 1 เดือน สัดส่วน 50% ของ NAV, อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน เฉลี่ยของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ สัดส่วน 40% ของ NAV และ อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารสำหรับระยะเวลา 1 เดือน สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ปรับด้วยต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน บวกด้วยค่าเฉลี่ยของ Credit Spread ของตราสารที่มีการจัดอันดับเครดิตในระดับ A อายุ 1 เดือน ในช่วงระยะเวลาที่คำนวณผลตอบแทน สัดส่วน 10% ของ NAV นอกจากนี้ บริษัทอาจเปรียบเทียบเพิ่มเติมกับอัตราดอกเบี้ยของเงินฝากประจำ 3 เดือน เฉลี่ยของ 3 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ สัดส่วน 100% ของ NAV
สัดส่วนการลงทุน (% ของมูลค่าทรัพย์สิน ข้อมูล ณ 29 ม.ค. 2564)