BUALUANG FUND Virtual Investment Insight 2021 (ตอนที่ 4)

สรุปความสัมภาษณ์

คุณพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา CFA® ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO)
และ
คุณสันติ ธนะนิรันดร์  ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน (CIO)

ในตอนที่ 1-3 มีการกล่าวถึงการลงทุนหลังผ่านพ้นอุปสรรคที่น่าสนใจ โดยวิเคราะห์มุมมองการลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวกับความยั่งยืน หุ้นเทคโนโลยี หุ้นสหรัฐฯ และหุ้นจีนกันมาแล้ว ในตอนนี้ เราจะมากล่าวถึงโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นไทย รวมถึงมีคำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนมาฝากด้วย

คำถาม – มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

คุณพีรพงศ์ – โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ภาคท่องเที่ยวบอบช้ำมากที่สุด ปรับลดลงมา ซึ่งภาคที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คิดเป็น 20% ของจีดีพี

ขณะที่นักลงทุนกำลังคาดหวังกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่า ปีนี้จะเติบโตได้ 2.5-4% ขึ้นอยู่กับการกระจายวัคซีนทั่วถึงว่า เร็วแค่ไหน รวมถึงการเปิดประเทศ โดยนักลงทุนกำลังคาดหวังไปถึงมูลค่าหุ้นในปี 2022 แล้ว ถ้ามอง P/E 20 เท่าในปีนี้ ก็ถือว่า ไม่ถูก แต่ถ้ามองไปถึงปี 2022 ก็ถือว่า ไม่แพง

มองไปข้างหน้า การท่องเที่ยวก็ต้องกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิดได้อีก ก็ต้องดูว่า ถ้าถึงเวลานั้นจะเป็นไปตามคาดหวังหรือไม่ ขณะที่ เมื่อดูการไหลเข้าของเงิน ก็เริ่มไหลกลับเข้ามาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เป็นเพราะนักลงทุนเชื่อมันว่า วัคซีนมีการกระจายทั่วถึง นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมา และจะกลับมาแรงกว่าเดิม เพราะอัดอั้นเรื่องการท่องเที่ยว นักลงทุนจึงซื้อไปล่วงหน้าแล้ว

คุณสันติ – หุ้นหลายตัวยังไม่ปรับขึ้นกลับไปอยู่ในจุดเดิมก่อนที่จะเกิดโควิด โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม โรงพยาบาล โดยรวมแล้ว บริษัทไทยที่โดนผลกระทบจากโควิดมีมาก ไม่ใช่แค่ 2 ธุรกิจที่กล่าวมา เช่น กลุ่มค้าปลีกก็โดนผลกระทบ เพราะรายได้จากการขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป กลุ่มโทรคมนาคมก็โดนผลกระทบ จากเรื่องการขาย sim โทรศัพท์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยที่ไปเที่ยวต่างประเทศ

โดยรวม ตลาดตัดสินขายหุ้นกลุ่มเหล่านี้ไปแล้ว และก็มีความหวังว่า เมื่อโควิดหาย มีการฉีดวัคซีน เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หุ้นเหล่านี้ก็ต้องกลับมา แต่ก็มีหลายตัวที่หุ้นอาจปรับขึ้นร้อนแรงเกินไป ซึ่งผู้จัดการกองทุน ก็จะต้องพิจารณาตรงนี้ แยกแยะว่า หุ้นอะไรที่ร้อนแรงไป และอะไรมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้อีก

คุณพีรพงศ์ – ประเทศเราต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ใช้เม็ดเงินอย่างหนัก ทำให้หนี้สาธารณะอาจพุ่งไปถึง 50-60% ต่อจีดีพี จากที่ปัจจุบันอยู่ในระดับกว่า 40% ต่อจีดีพี และดูแล้ว หนี้ครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยรวมแล้ว หลังโควิด รัฐมีหนี้เพิ่ม เอกชนก็มีหนี้เพิ่ม ภาคครัวเรือนก็หนี้เพิ่มเช่นกัน จึงเป็นความเสี่ยง หากถึงเวลาชำระหนี้แล้ว ความสามารถชำระหนี้ไม่เท่าเดิม ก็จะเกิดหนี้เสียตามมาได้ ดังนั้น ต้องมารอดูว่า เอสเอ็มอีที่บอบช้ำอยู่จะฟื้นได้หรือไม่ ชำระหนี้ได้หรือไม่

ด้วยเหตุนี้ เราต้องกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศ เพราะดูตลาดหุ้นไทยตอนนี้อยู่ที่ระดับกว่า 1,600 จุด จากนี้จะไปอย่างไรต่อไป ก็ยังไม่รู้ เพราะเรายังไม่สามารถก้าวผ่านกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้ และแผนยุทธศาสตร์ของไทยก็ต้องการให้การท่องเที่ยวมีสัดส่วน 30% ของจีดีพี การกลับไปได้ระดับนั้นคงจะเหนื่อย

เราคงต้องสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในแถบ EEC ซึ่งเรื่องนี้พอมีหวัง เพราะมีการย้ายฐานลงทุนจากจีน มายังอาเซียน ก็ต้องรอดูรัฐบาลว่า จะขับเคลื่อน New S Curve ได้หรือไม่

คำถาม – นักลงทุนจะจัดพอร์ตลงทุนอย่างไรดี

คุณพีรพงศ์ – การจัดพอร์ตลงทุนขึ้นอยู่กับระดับการยอมรับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล ซึ่งเรามี BMAPS หรือ Bualuang Multi Asset Portfolio Solution เป็นการจัดพอร์ตให้นักลงทุนที่ไม่รู้ว่า จะซื้อกองทุนไหน โดยจัดพอร์ตให้ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แบ่งเป็น 3 กองทุน คือ BMAPS25 BMAPS55 และ BMAPS100 เช่น BMAPS25 ก็จะมีการจัดสรรเงินลงทุนในตราสารหนี้กว่า 70% และลงทุนในหุ้นไม่เกิน 25% โดยรวมการจัดพอร์ตนี้ มีผู้จัดการกองทุน ทีมจัดสรรสินทรัพย์ให้ลูกค้าโดยเฉพาะ

คุณสันติ – กองทุนนี้ เราจะมีแนวคิดการลงทุนตามภูมิภาค และการลงทุนตาม Thematic โดยถ้าเป็น BMAPS100 ที่ลงทุนในหุ้นได้ 100% ในส่วนของการลงทุนตามภูมิภาคก็จะเป็น Core port ลงทุนใน B-GLOBAL, B-CHINE-EQ และ B-ASIA ประมาณ 60% ส่วนที่เหลืออีก 35-40% ก็จะลงทุนตาม Thematic ใน B-INNOTECH, B-FUTURE, B-GTO และ B-SIP เป็นการลงทุนที่เราเห็นแนวโน้มเติบโตได้ในระยะยาว

คุณพีรพงศ์ – กองทุนนี้เป็นกองทุน fund of fund และเป็น cross investing fund ที่จะลงทุนในกองทุนที่เราบริหารเองด้วย

คำถาม – สำหรับนักลงทุนที่ชอบลงทุนเอง มีกองทุนอะไรแนะนำบ้าง

คุณสันติ – เรามีแพ็กเกจกองทุนที่คัดเลือกมาให้ คือ B-SELECT ที่จะมีการจับจังหวะว่า 3 เดือนนี้ กองทุนไหนน่าซื้อ โดยเราจะมีตัวเลือก 7-8 กองทุนที่เลือกไว้ให้ สำหรับรอบนี้ หุ้นไทย ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงทศพล (BTP) และกองทุนเปิดบัวแก้ว (BKA) โดยในส่วนของกองทุนบัวหลวงทศพลก็ทำผลการดำเนินงานได้โดดเด่นในช่วงหลังจากผ่านเศรษฐกิจหดตัวมา

นอกจากนี้ ก็มีกองทุน B-GTO ที่ลงทุนผ่านกองทุนของ Wellington ที่เกี่ยวกับเรื่องนวัตกรรม เป็นการลงทุนหลากหลาย sector ทั่วโลก ที่นำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ เช่น ไนกี้ ที่ช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวรับ New Normal ได้ดี โดยแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ของไนกี้ประสบความสำเร็จ เติบโตเกือบ 100% หรือยังมีอีกหลายธุรกิจที่นำนวัตกรรมมาใช้ เช่น กลุ่มพลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า

กองทุน B-CHINE-EQ ที่น่าสนใจสำหร้บระยะยาว เป็นการลงทุนผ่านกองทุน Allianz A-SHARE และ All Share โดยในส่วนของ A-Share ก็จะเน้นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับความต้องการบริโภคของจีน ส่วน All Share เป็นการลงทุนในเทคโนโลยี แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และก็มีส่วนหนึ่งที่ทีมเราเลือกลงทุนหุ้นโดยตรง เน้นตัวที่คิดว่า ผลตอบแทนดีในระยะยาว

กองทุน B-FUTURE ที่มีการลงทุนในกลุ่ม AI การบริโภคของคนจีน และ Fintech ตอบโจทย์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ในอนาคต

ขณะเดียวกัน ก็มีกองทุน B-ASIA เป็นจังหวะที่น่าลงทุน ในตอนนี้ เราเห็นความต้องการชิปมาก ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มพลังงานสะอาด หรือรถยนต์ไฟฟ้า ต่างก็ต้องการใช้ชิป ซึ่งเอเชียเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จึงได้ประโยชน์จากส่วนนี้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และเทคโนโลยีเอเชียด้วยที่น่าสนใจ

กองทุนสุดท้าย คือ B-SIP เป็นกลุ่ม Thematic ที่ลงทุนเพื่อคาดหวังผลตอบแทนสูงในระยะยาว เช่น พลังงานหมุนเวียน และการลงทุนเพื่อช่วยให้โลกน่าอยู่ขึ้น ซึ่งยังต้องเติบโตต่อไปอีก

คุณพีรพงศ์ – การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน หากยังไม่เข้าใจ สามารถไปขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาการลงทุนได้ เพื่อดูว่า ตัวเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน มองไปข้างหน้า นโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ต่ำต่อไป ดังนั้น หากเราก็ต้องกระจายความเสี่ยงมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยกองทุนบัวหลวงมีกองทุนหลากหลายให้เลือก น่าจะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการวางแผนเกษียณ วางแผนทุนการศึกษาสำหรับบุตร การสะสมความมั่งคั่ง เป็นต้น ซึ่งเราน่าจะตอบโจทย์เหล่านี้