BF Monthly Economic Review – เม.ย. 2564

BF Monthly Economic Review – เม.ย. 2564

BF Economic Research

สรุปความ

สรุปภาวะเศรษฐกิจและประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในช่วงเดือน เม.ย. – พ.ค. 2564

  1. สถานการณ์โควิด-19
  2. เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญที่ประเทศต่างๆ ประกาศออกมา รวมถึงนัยสำหรับการลงทุน
  3. อัพเดทเศรษฐกิจไทย

สถานการณ์โควิด-19

ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก ซึ่งมีการแบ่งรายประเทศ พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกผ่านหลัก 6 แสนคนไปแล้ว

เมื่อแบ่งเป็นรายประเทศ จะพบการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ชัดเจน โดยกลุ่มประเทศที่เร่งฉีดวัคซีน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวลดลง ส่วนกลุ่มประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนช้ากว่า เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันไต่ระดับขึ้นมา

การควบคุมและการแพร่กระจายของการติดเชื้อโควิดที่แตกต่างกัน ส่งผลให้เกิดมาตรการจำกัดที่เกี่ยวกับโควิด-19 แตกต่างกันไปด้วย เช่น กลุ่มประเทศจี-7 ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้มีการประชุมร่วมกันแล้วว่าจะเริ่มเปิดน่านฟ้าเพื่อให้มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้นภายในกลุ่มจี-7 ในเร็วๆ นี้ โดยในส่วนของสหรัฐฯ บอกว่าจะเริ่มกลับมาเปิดประเทศภายในวันที่ 4 ก.ค. ซึ่งตรงกับวันชาติสหรัฐฯ

ขณะที่ ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ยังประสบความท้าทายเกี่ยวกับมาตรการจำกัดต่างๆ มีปัญหาเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ โดยในญี่ปุ่นเริ่มมีเสียงว่าโอลิมปิกที่จะเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเดือน ก.ค. นี้ มีการพิจารณากันอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อ จะยังมีอยู่หรือไม่ หรือจะอยู่ในรูปแบบไหน ในส่วนของอินเดีย อัตราการติดเชื้อปรับเพิ่มสูงมาก จนมีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ ส่วนประเทศไทยเอง จำนวนผู้ติดเชื้อก็ขยับขึ้นไปเป็นหลักพันคนต่อวัน ส่วนรัฐบาลก็พยายามเร่งหาวัคซีนมาให้เพียงพอ เพื่อให้คนไทยมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในเร็ววัน โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายแล้วว่า ภายในสิ้นปีนี้ต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส

เครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญที่ประเทศต่างๆ ประกาศออกมา รวมถึงนัยสำหรับการลงทุน

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ของกลุ่มประเทศต่างๆ แตกต่างกัน การทำประมาณการเศรษฐกิจจึงแตกต่างกันไปด้วย โดย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาประมาณการเศรษฐกิจเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยปรับภาพของเศรษฐกิจดีขึ้น มองว่า ในปี 2021 เศรษฐกิจโลกจะโตถึง 6% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่เร่งตัวที่สุดนับตั้งแต่ปี 1980

เมื่อดูในรายละเอียด จะพบว่า การที่ IMF ปรับประมาณการเศรษฐกิจดีขึ้น มาจากกลุ่มประเทศที่นำตัวเองออกจากโควิด-19 ได้เร็วกว่าประเทศอื่นๆ คือ สหรัฐฯ และจีน

สำหรับ สหรัฐฯ IMF มองว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัว 6.4% ซึ่งถือว่าสูงมาก เพราะโดยปกติประเทศขนาดใหญ่ขยายตัวได้ 3% ก็ถือว่าดีมากแล้ว ขณะที่เศรษฐกิจจีน มองว่าจะเติบโตถึง 8.4%

ทั้ง 2 ประเทศนี้ รวมกันครองสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของโลกค่อนข้างมาก เมื่อ 2 ประเทศนี้ ได้รับการปรับประมาณการดีขึ้น จึงทำให้ GDP โลก ได้รับการปรับประมาณการขึ้นไปโดยอัตโนมัติ

IMF ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ GDP โลกจะได้รับการปรับขึ้น แต่การปรับขึ้นมาจากกลุ่ม DM หรือประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก แต่กลุ่ม EM หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ยังประสบความท้าทายในการควบคุมโควิด-19 อยู่ โดยกลุ่มประเทศ EM บางประเทศ มีการถูกปรับลดประมาณการ GDP ลง แต่เนื่องจากสัดส่วน GDP ในกลุ่ม EM ไม่มากเท่าสหรัฐฯ และจีนรวมกัน ดังนั้นภาพเศรษฐกิจโดยรวมจึงถูกมองไว้ดีกว่าช่วงก่อนหน้า

ทั้งนี้ การดูว่าเศรษฐกิจของประเทศใดจะเริ่มฟื้นตัวได้เร็วก่อนกัน นอกจากดูว่า แต่ละประเทศควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แค่ไหน ก็ยังมีเครื่องชี้ที่บ่งบอกถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ยอดค้าปลีก โดยจากการดูข้อมูลของ 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป และไทย พบว่า ในเดือน มี.ค. 2020 การจับจ่ายใช้สอยหดตัวลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะ สหรัฐฯ จีน ไทย ตามมาด้วย ยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งหมดนี้หดตัวในอัตราเลขสองหลักทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดเมืองแล้ว ด้วยฐานที่ต่ำ และเริ่มมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น ยอดค้าปลีกของจีนที่เคยหดตัวไป 15.8% ก็กระโดดขึ้นไปถึง 34.2% แปลว่า อัตราที่หดตัวลงไปถูกชดเชยด้วยอัตราที่ปรับเพิ่มขึ้นในปีนี้ และปรับเพิ่มขึ้นในปริมาณมากกว่าที่หดตัวไปเมื่อปีที่แล้วด้วยซ้ำ ส่วนยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ขณะนี้เติบโต 27.9% จากช่วงมี.ค. ปีที่ผ่านมา 19.9% ซึ่งภาพการค้าปลีกของจีนและสหรัฐฯ นั้น บ่งชี้ถึงการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน ว่าผ่านช่วงที่หดตัวไปแล้ว และขยายตัวด้วยอัตราเร่งที่สูงกว่า เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทย พบว่า มี.ค. ปีที่ผ่านมา ยอดค้าปลีกหดตัวไป 28.78% แต่ปัจจุบันกลับมาขยายตัวเพียงเล็กน้อย 0.22% เท่านั้น

เมื่อดูภาพรวม ประเทศที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินได้ตามปกติ จะมีรูปแบบที่เหมือนๆ กันคือ ยอดค้าปลีกถูกผลักดันขึ้นด้วยปริมาณความต้องการซื้อรถยนต์ ชอปปิงออนไลน์ การเข้าไปรับประทานอาหารในร้านอาหาร และความต้องการสินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับผลลัพธ์ถัดมาจากการที่มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น คือ สินค้าในกลุ่มโภคภัณฑ์ ทั้งสินค้าเกษตร และกลุ่มสินค้าโลหะ ปรับทะยานสูงขึ้น เป็นเทรนด์ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สิ้นปีจนถึงตอนนี้ เช่น ทองแดง ที่ราคาปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดทุกวัน

ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้วัตถุดิบมีราคาเร่งตัวตาม ขณะที่ โลกในปัจจุบันเข้าสู่ Go Green Trend ซึ่งผู้ผลิตหลักสินค้าโลหะหนักของโลก คือจีน โดยจีนได้มีการลดปริมาณการผลิตของตัวเองลงเพราะต้องการลดมลภาวะ แต่ยังสั่งนำเข้าเท่าเดิม ดังนั้นระดับราคาจึงเร่งตัวขึ้นไป ในส่วนของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้มีเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยยอดส่งออกสูงขึ้น แต่เกิดภาวะตู้คอนเทนเนอร์ขาด ทำให้ส่งของไม่ตรงตามเวลา และราคาค่าส่งของทะยานไปมากขึ้น ล้วนมีผลกระทบทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตร หรือโลหะ ทะยานตัวไปพร้อมกัน สะท้อนไปสู่ระดับราคาสินค้าที่ผู้ผลิตต้องแบกรับ หรือ PPI

จากกราฟด้านซ้ายมือ พบว่า ผู้ผลิตในสหรัฐฯ และจีน ต้องแบกรับภาระต้นทุนราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไป แต่สิ่งที่เห็นเวลานี้คือ ผู้ผลิตพยายามแบกรับต้นทุน ทำให้ระดับราคาสินค้าที่ผู้บริโภครับได้ หรือ CPI ยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก ด้วยเหตุนี้จึงเห็นภาพของ PPI และ CPI ยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะผู้ผลิตแบกรับต้นทุนอยู่

โดยรวมแล้ว หากนักลงทุนสนใจลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาจนำเรื่อง PPI รวมถึง CPI และเรื่องราคาวัตถุดิบเข้าไปพิจารณา เพื่อหากลุ่มอุตสาหกรรมเหมาะสมที่จะลงทุนได้

เมื่อมาดูภาพในเวลานี้ น่าจะเป็นภาพของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอยู่ เพราะว่าสหรัฐฯ ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่เดือน มี.ค. ปีที่แล้ว จนถึงมี.ค. ปีนี้ สหรัฐฯ มีการอัดฉีดมาตรการการคลังไปแล้ว 28.8% ของ GDP และยังมีนโยบายอื่นๆ ที่กำลังรอผลักดันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นโยบายช่วยเหลือครอบครัวในสหรัฐฯ ซึ่งรวมๆ กันแล้วมีมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในสหรัฐฯ ให้ปรับเพิ่มต่อเนื่อง

ขณะที่ จีนเอง เมื่อเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยวางแผน 5 ปี เน้นไปที่ การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรม พยายามเติบโตจากภายในประเทศ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว เช่นเดียวกันกับสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าเป็นเป้าหมายหลักของประเทศตัวเอง

นักลงทุนสามารถใช้ประเด็นเหล่านี้กำหนด Theme การลงทุนได้ โดย Theme ใหญ่เวลานี้คือ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว เรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจสีเขียว

อัพเดทเศรษฐกิจไทย

ภาพเศรษฐกิจที่ออกมานี้ อาจจะช้ากว่าเศรษฐกิจที่เป็นจริง 2 เดือน โดยรวมทั้งการบริโภค การลงทุน เมื่อดูเทรนด์แล้วจะพบว่า เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว ปรับตัวขึ้นทั้งฝั่งการผลิต และการบริโภคภายในประเทศ แต่ภาพการท่องเที่ยวจากต่างประเทศยังคงแย่อยู่ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาในประเทศค่อนข้างนานแล้ว เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักในช่วงนี้และระยะข้างหน้า

เมื่อมาดูประเด็นเกี่ยวกับการกระจายวัคซีน หากนำข้อมูลของสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับไทย การกระจายวัคซีนของไทยค่อนข้างช้า ดูจากกราฟแล้ว หากเราต้องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 75% ของประเทศ แล้วมีอัตราการฉีดวัคซีนแบบปัจจุบันอาจจะต้องใช้เวลาอีกเกือบ 10 ปี

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งฉีดวัคซีน เร่งจัดหาวัคซีนให้ครบในปีนี้ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายการฉีดไว้ 100 ล้านโดสในปีนี้ มาจากซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์

เรื่องนี้เป็นหัวใจหลัก หากทำได้จริง จะสามารถปลดล็อคเศรษฐกิจไทยในส่วนของการท่องเที่ยวได้ ซึ่งเราก็ต้องจับตาดูสถานการณ์การฉีดวัคซีนต่อไป

ในแง่ของการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ เมื่อดูจากชาร์ตของทางทิสโก้ จะพบว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคในประเทศ ได้แก่ คนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร หรือแคมเปญที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว

จะเห็นได้ว่า แคมเปญที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค อาจจะสิ้นสุดในเดือน พ.ค. นี้ แต่ว่ารัฐบาลส่งสัญญาณแล้วว่าจะกระตุ้นต่อ ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังนี้ เราก็น่าจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงการบริโภคต่อไป นอกจากนี้ก็ยังมีมาตรการที่ดำเนินต่อไป เช่น มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ที่ขยายกรอบเวลาการให้สิทธิพิเศษการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นภาพเการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกโดยรัฐบาลน่าจะยังมีอยู่ ทั้งการกระตุ้นจับจ่ายใช้สอยและการท่องเที่ยว ให้คนไทยช่วยกันเที่ยว

เมื่อมาตรการกระตุ้นมีต่อไป จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เพิ่มเติม จากที่กู้ไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเราพยายามลองทำสมมติฐานดูว่าถ้ารัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่ม 1 ล้านล้านบาทมากระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ เราก็ยังมองว่า หนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย ทั้งในช่วงปีงบประมาณนี้และปีงบประมาณหน้า ก็จะใกล้ๆ แตะระดับ 60% ของ GDP

หากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่มมากกว่านี้ ในเชิงประมาณการคลังแล้ว อาจมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะพิจารณากู้มากกว่า 60% ของ GDP เพื่อมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานี้