ซีเอ็นบีซี รายงานว่า นักเศรษฐศาสตร์ของ ธนาคารออสเตรเลีย แอนด์ นิวซีแลนด์ แบงกิง กรุ๊ป หรือ ANZ ออกมาเตือนว่า ประชากรสูงอายุของจีนจะสร้างผลกระทบใหญ่ต่อโลก เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานโลกพึ่งพิงประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลกนี้สูง
ข้อมูลสำมะโนประชากรของจีนที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันอังคาร สะท้อนว่า ประชากรของจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 1,410 ล้านคน ณ วันที่ 1 พ.ย. 2020 แต่ก็ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 1950
“แนวโน้มประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้น นี่เป็นสัญญาณเตือนไม่ใช่เฉพาะในจีน แต่ยังรวมถึงทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นห่วงโซ่อุปทานหลัก” Raymond Yeung หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จีน ของ ANZ กล่าว
ทั้งนี้ เขา คาดการณ์ว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า จีนจะต้องสูญเสียแรงงานในระบบ 70 ล้านคน ซึ่งจะสร้างความตกใจต่อห่วงโซ่อุปทานโลกได้ ส่วนผลกระทบที่เป็นไปได้อื่นๆ เช่น ตลาดการเงิน เนื่องจากอัตราการออมในจีนสูงเป็นแรงสนับสนุนตลาดโลก โดยจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการออมของบุคคลสูงสุดในโลก ทั้งยังมีนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากที่นำเงินไปลงทุน หรือเงินนั้นอยู่ในกองทุนบำนาญ
ข้อมูลสำมะโนประชากร ชี้ว่า อัตราการเกิดในจีนลดลงต่อเนื่อง โดยในปี 2020 ลดลง 15% ซึ่งเป็นการลดลงอย่างชัดเจนติดต่อกันเป็นปีที่ 4
ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า ปัญหาประชากรสูงอายุในจีน นอกจากเป็นผลของนโยบายลูกคนเดียว ก็มาจากการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ที่ทำให้การเกิดลดลง เหมือนในประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ต้นทุนที่อยู่อาศัยและการศึกษาสูงขึ้นในจีน เป็นอุปสรรคในการที่ผู้คนจะมีลูกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
สำหรับเศรษฐกิจจีน ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรม เช่น การผลิต ที่ต้องการแรงงานจำนวนมากที่มีต้นทุนถูก แต่จากแนวโน้มค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้โรงงานจีนน่าดึงดูดใจน้อยลง ขณะที่คนทำงานก็มีความจำเป็นต้องมีทักษะที่สูงขึ้นเพื่อช่วยให้ประเทศมีนวัตกรรมมากขึ้น