กองทุนบัวหลวงเปิดขาย IPO 2 กองทุน SSF ใหม่ วันที่ 22-29 มิ.ย. นี้ เพื่อสนับสนุนผู้ลงทุนขยายโอกาสลงทุนในต่างแดน กับ B-CHINESSF และ B-GTOSSF

กองทุนบัวหลวงเปิดขาย IPO 2 กองทุน SSF ใหม่ วันที่ 22-29 มิ.ย. นี้ เพื่อสนับสนุนผู้ลงทุนขยายโอกาสลงทุนในต่างแดน กับ B-CHINESSF และ B-GTOSSF

  • กองทุนบัวหลวงเสนอขายกองทุน SSF น้องใหม่ 2 กองทุน ได้แก่ B-CHINESSF และ B-GTOSSF วันที่ 22-29 มิถุนายน 2564 นี้ เพิ่มทางเลือกลงทุนในต่างประเทศ กับบริษัทที่ใช่ ในกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว โดย B-CHINESSF สำหรับผู้ลงทุนที่มองหาทุกโอกาสการลงทุนในหุ้นจีนทั่วโลก และ B-GTOSSF ลงทุนในธุรกิจทั่วโลกที่ใช้นวัตกรรมเพื่อการเติบโต

นายวศิน วัฒนวรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง เปิดเผยว่า กองทุนบัวหลวงจะเปิดขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีนเพื่อการออม (B-CHINESSF) และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลธีมเมติกออพพอร์ทูนิตี้เพื่อการออม (B-GTOSSF) ระหว่างวันที่ 22-29 มิถุนายน 2564 นี้ เพื่อผู้ลงทุนที่มองหากองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ขยายโอกาสการเติบโตของผลตอบแทนในระยะยาวด้วยการลงทุนกับธุรกิจที่ใช่

คุณวศิน วัฒนวรกิจกุล

“ในปัจจุบันผู้ลงทุนไทย เริ่มมีความสนใจขยายโอกาสไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศที่มีความโดดเด่นด้านพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนในบริษัทที่รู้จักปรับตัว หรือสร้างความโดดเด่นในกลุ่มธุรกิจนั้นได้ กองทุนบัวหลวงจึงมองว่า การเปิดตัวกองทุน SSF น้องใหม่ 2 กองทุนนี้ จะช่วยเติมเต็มความต้องการของผู้ลงทุนได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นการลงทุนในบริษัทที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้” นายวศิน กล่าว

สำหรับ กองทุน B-CHINESSF ลงทุนในหุ้นจีนทั่วโลก มีนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี เหมาะกับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนหุ้นจีนในทุกตลาดทั่วโลก เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งของการใช้จ่ายในจีน รวมถึงศักยภาพของบริษัทจีนที่ขยายตัวไปบุกตลาดทั่วโลก และต้องการโอกาสรับผลตอบแทนระหว่างทาง ส่วนกองทุน B-GTOSSF เน้นลงทุนในบริษัทผู้นำแต่ละอุตสาหกรรมที่คิดค้นและได้ประโยชน์จากนวัตกรรม ไม่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล เหมาะกับ ผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนแบบกระจายลงทุนหลากหลายประเทศ หลากหลายกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโต เพราะกองทุนนี้ลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวกับนวัตกรรมในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก

หากผู้ลงทุนต้องการลงทุนโดยเน้นไปที่หุ้นจีนเลย เพราะเห็นโอกาสการเติบโตของจีนทั้งภายในประเทศ และการออกไปเติบโตในต่างประเทศ ก็เลือก B-CHINESSF ถ้าต้องการลงทุนกระจายหลากหลายอุตสาหกรรม และลงทุนได้ทั่วโลก ก็เลือก B-GTOSSF หรือถ้าต้องการลงทุนทั้ง 2 กองทุน ก็สามารถทำได้เช่นกัน

“การออมเงินก่อนใช้จ่าย เปรียบเหมือนการดูแลสุขภาพทางการเงิน และจะดีมากขึ้นไปอีก หากเรานำเงินออมบางส่วนไปลงทุนด้วย ก็เหมือนการออกกำลังกาย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างให้สุขภาพทางการเงินแข็งแรงยิ่งขึ้น เพราะการลงทุนจะช่วยเพิ่มโอกาสไปถึงเป้าหมายทางการเงินในอนาคตได้” นายวศิน กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนอาศัย 3 ปัจจัยสำคัญ คือ เงิน ผลตอบแทน และเวลา โดยเรื่องเวลาสำคัญที่สุด ถ้าลงทุนระยะยาว ใส่จำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้น พร้อมยืดตัวไปลงทุนในต่างประเทศกับธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวโน้มโลกด้วย จะยิ่งเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น สนับสนุนให้สุขภาพทางการเงินในอนาคตมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ลงทุนเริ่มต้นเสริมความแข็งแกร่งของสุขภาพการเงินได้ง่ายๆ กับ B-CHINESSF และ B-GTOSSF ของกองทุนบัวหลวง

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดกองทุน B-CHINESSF และ B-GTOSSF หรือติดต่อขอรับหนังสือชี้ชวนและคู่มือการลงทุนได้ที่ กองทุนบัวหลวง โทร. 0 2674 6488 กด 8 หรือผู้สนับสนุนการขายหรือรับซื้อคืนหน่วยลงทุน ได้แก่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย พลัส บมจ.หลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน บมจ.หลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บจ.หลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กรุงศรี บจ.หลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา และ บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)

สำหรับผู้ลงทุนที่มีบัญชีกองทุนรวมประหยัดภาษีของกองทุนบัวหลวงกับธนาคารกรุงเทพอยู่แล้ว สามารถซื้อหน่วยลงทุนในช่วง IPO ผ่านบริการ Bangkok Bank Mobile Banking ได้ตั้งแต่เวลา 8.30 น. – 16.00 น.

 

ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า ข้อมูลสำคัญ นโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน
ความเสี่ยง และสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุในคู่มือการลงทุน SSF ก่อนการตัดสินใจลงทุน
ผลการดำเนินงานในอดีต มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต
การป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน

 

กองทุนบัวหลวง
21 มิถุนายน 2564