จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก และมีเป้าหมายช่วงชิงอันดับ 1 แทนที่สหรัฐฯ ในปี 2030 ซึ่งประเด็นนี้ทำให้สหรัฐฯ ไม่ปลื้มเท่าไหร่นัก จึงพร้อมดำเนินนโยบายทุกวิถีทางเพื่อสกัดดาวรุ่งจีนไว้ กระทบกับธุรกิจจีนที่ดำเนินการในสหรัฐฯ ขณะที่จีน ก็มีการออกนโยบายต่างๆ จัดการกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนเอง ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงเกิดคำถามตามมาว่า หากลงทุนในจีนอยู่ จะลงทุนต่อดีหรือไม่ หรือควรถอยก่อน แล้วถ้ายังไม่ลงทุน ยังเข้าลงทุนได้ไหม
ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง ได้ให้มุมมองด้านเศรษฐกิจจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า ในเวลานี้ สหรัฐฯ ดำเนินกลยุทธ์เล่นงานจีนอยู่ก็จริง แต่เศรษฐกิจจีนเวลานี้ก็ขับเคลื่อนจากในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น ความเสี่ยงภายนอกนี้ อาจไม่กระทบเศรษฐกิจจีนมากนัก แต่ถ้าในเชิงบรรยากาศการลงทุน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจจะมีบางกลุ่มธุรกิจได้รับผลกระทบบ้าง
ส่วนปัจจัยในประเทศที่มีผลต่อการลงทุนนั้น ดร.มิ่งขวัญ ระบุว่า ในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่วิเคราะห์แผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุด มองว่า รัฐบาลจีนต้องการให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “xiaokang shehui” (小康社会 เสี่ยวคัง เช่อหุ้ย) ซึ่งหมายถึง สังคมที่อยู่ดีกินดี ไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ทุกคนมีกินมีใช้ มีงานทำ มีบ้านอยู่ พอมีพอกิน ขณะที่หลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้จีนมองเห็นว่า เศรษฐกิจจะเน้นพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน 2 กระแส คือ ขับเคลื่อนการส่งออกต่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ พร้อมกับการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
สิ่งนี้สะท้อนว่า จีนต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตแบบมีคุณภาพ อุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องลดลง และมีกลุ่มเทคโนโลยีสีเขียวสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งหากจะมองเรื่องการลงทุนที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายเหล่านี้ก็คือ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ และใส่ใจสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
ทั้งนี้ กองทุนบัวหลวง ซึ่งมีกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) ที่ลงทุนในหุ้นจีนทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ และหุ้นจีนที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ได้มอบหมายให้ Allianz Global Investors Asia Pacific Limited เป็นผู้รับดำเนินงานการลงทุนในต่างประเทศของกองทุน (Outsourced Fund Manager) แต่ก็มี 20% ของทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ที่กองทุนบัวหลวงพิจารณาลงทุนเอง ซึ่งก็จะมีคณะกรรมการลงทุน ประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ทำหน้าที่วิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจในภาพรวม หรือ Top-down Approach จากนั้นมีนักวิเคราะห์ที่พิจารณาคัดเลือกหุ้นโดยการพิจารณาเลือกหุ้นรายตัวจากผลประกอบการของบริษัท หรือ Bottom-up Approach ผสมผสานไปด้วยกัน
ในช่วงที่มีหุ้นจีนมีการปรับฐานลงมา จะพบว่ามีหุ้นในบางกลุ่มที่ถูกรัฐบาลลงโทษ อาจเผชิญกับแรงเทขายมากเกินไป จนทำให้ระดับราคาน่าสนใจ ขณะที่พื้นฐานยังดีอยู่ ดังนั้นก็อาจจะพิจารณาเข้าไปลงทุน นอกจากนี้ ก็ยังให้ความสนใจกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคในประเทศ ที่สอดคล้องกับนโยบายการสนับสนุนของจีน เช่น กลุ่มกีฬา เครื่องดื่ม การศึกษา และการท่องเที่ยว
“เวลาเลือกหุ้นลงทุน เราจะใช้ไม้บรรทัดตะวันตกมาวัดหุ้นจีนไม่ได้ เราต้องใช้ไม้บรรทัดจีนวัดหุ้นจีน ก็คือใช้นโยบายของจีนตีความ และด้วยขนาดตลาดของจีนที่ใหญ่มาก 1 เมืองของจีน อาจจะเท่ากับทั้งประเทศไทย ดังนั้นจีนก็จะมีธุรกิจให้เลือกลงทุนเยอะมาก หากมีธุรกิจไหนที่ถูกรัฐบาลจีนลงโทษ จนทำให้หุ้นลงแรงเกินไป ก็อาจจะเป็นจังหวะรับที่ดี ซึ่งการลงทุนของ B-CHINE-EQ มีทั้งรุกและตั้งรับ ด้วยเหตุนี้เวลาที่ดัชนีหุ้นจีนปรับลดลงแรง กองทุนนี้จึงอาจจะไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกับดัชนี เพราะมีหุ้นบางตัวที่คัดเลือกไว้ ไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นความท้าทายที่เผชิญอยู่” ดร.มิ่งขวัญ กล่าว
จากมุมมองนี้ ทำให้เห็นภาพของจีนชัดเจนขึ้น ว่าความท้าทายภายนอกคงไม่สามารถทำอะรจีนได้มากนัก ส่วนความท้าทายภายในนั้น ก็ทำเพื่อจัดระเบียบให้เข้ารูปเข้ารอยเพื่ออนาคตที่ดีกว่า ด้วยเหตุนี้ จีนจึงยังมีความน่าสนใจลงทุน ซึ่ง ดร.มิ่งขวัญ ก็ได้ให้ข้อคิดดีๆ ทิ้งท้ายไว้ว่า การลงทุนโดยจับจังหวะเวลานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะคาดการณ์ช่วงเวลาได้ถูก แม้กระทั่งคนที่อยู่ในตลาดบางครั้งก็ยังทำนายผิด
หากเราไม่มีเวลาในการไปจับตาช่วงเวลาที่เหมาะสม การลงทุนไปเรื่อยๆ ทยอยสะสมอย่างสม่ำเสมอทีละน้อยทุกเดือน อาจจะเป็นวิธีการที่ดีกว่า เพื่อเป้าหมายผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจ โดยในช่วงที่ตลาดหุ้นจีนกำลังปรับฐาน ก็อาจจะเป็นโอกาสดีในการเข้าไปลงทุนสะสมเพิ่มเติมก็ได้