สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติต่างๆ ยังคงสนใจลงทุนในจีน แม้ทางการจีนจะมีการออกกฎระเบียบปราบปรามธุรกิจต่างๆ โดยจะวางแผนกลยุทธ์การลงทุนแบบแยกต่างหาก รวมถึงใช้วิธีใส่เงินลงทุนไปในบริษัทร่วมลงทุน และอสังหาริมทรัพย์
นักลงทุนในจีนอกสั่นขวัญหายในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่ทางการออกกฎเกณฑ์โดยมีเป้าหมายจัดการธุรกิจตั้งแต่เกมไปจนถึงการศึกษา ขณะที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ มองการลงทุนในระยะยาว พวกเขาจึงไม่ถอนตัวจากการลงทุนในจีน ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของโลกในอีกหลายปีข้างหน้า
Winston Ma อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท China Investment Corp ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งของปักกิ่ง กล่าวว่า นักลงทุนระยะยาว เช่น กองทุนความมั่งคั่งของชาติ ไม่ได้ปรับสัดส่วนการลงทุนในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก เหลือ 0% ในชั่วข้ามคืน เพราะกลยุทธ์การจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ของพวกเขาไม่ใช่แบบ tactical หรือการลงทุนตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา
ทั้งนี้ กองทุนของนอร์เวย์ ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสัดส่วนการลงทุน 4.5% ในจีนและฮ่องกง ส่วนกองทุน Temasek Holdings ของสิงคโปร์ ณ เดือน มิ.ย. ก็เพิ่งซื้อตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือ DR ในอเมริกันของ Didi Global Inc ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่หน่วยงานกำกับจะประกาศการสอบสวนบริษัทบริการเรียกรถ ที่ทางปักกิ่งกำลังพิจารณาให้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ
นอกจากนี้กองทุนอีกหลายกองทุนก็มีการลงทุนในบริษัทยักษ์ใหญ่ Alibaba Group Holding ซึ่งราคาหุ้นลดลงไป 30% เทียบกับต้นปี รวมถึง New Oriental Education & Technology Group Inc ที่ราคาหุ้นตกลงไป 88%
เราเห็นสัญญาณระวังการลงทุนมากขึ้น โดยกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติดึงเงิน 2,350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ออกจากหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ (A-shares) ที่เคยให้ผู้จัดการกองทุนบุคคลที่ 3 จัดการ ซึ่งมากที่สุดนับจากรอบปี 2017 ตามข้อมูลของ eVestment แต่การดำเนินการนี้เป็นสิ่งชั่วคราว
Elliot Hentov หัวหน้านักวิเคราะห์นโยบาย บริษัท State Street Global Advisors หรือ SSGA กล่าวว่า หลายกองทุนกำลังพิจารณาดำเนินการลงทุนเองในหุ้นและตราสารหนี้ในจีน