คุณมทินา วัชรวราทร CFA®
Head of Investment Strategy กองทุนบัวหลวง
กองทุนบัวหลวงจะคัดเลือกกองทุนมาแนะนำทุกไตรมาส โดยในไตรมาสแรกปี 2022 นี้ ก็มีกองทุนแนะนำทั้งหมด 4 กองทุน คือ BCARE, B-CHINE-EQ B-INNOTECH และ B-NIPPON
สำหรับปัจจัยที่สำคัญที่ต้องติดตามสำหรับการลงทุนในปี 2022 มีทั้งหมด 4 เรื่อง คือ
1.เงินเฟ้อ
2.นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
3.การแพร่ระบาดของโควิด
4.การเลือกตั้งทั่วโลก
ทั้งนี้ เงินเฟ้ออาจจะยังคงสูงอย่างต่อเนื่องในปี 2022 ทั้งจากความต้องการสินค้าที่มากขึ้น หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว และจากปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่ต่อเนื่องมา โดยตลาดคาดว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆ ชะลอตัวลงในครึ่งหลังปี 2022
นักลงทุนยังควรติดตามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น อิตาลี และฝรั่งเศสที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนจีนจะมีการเลือกตั้งตำแหน่งใหญ่ๆ ซึ่งรวมทั้งตำแหน่งประธานคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันคือนาย หลี่ เค่อเฉียง และสหรัฐฯจะมีการเลือกตั้งตำแหน่ง ส.ส. ในเดือนพฤศจิกายน ก็อาจจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของประเทศที่ตลาดจะต้องติดตาม
สำหรับนโยบายการเงิน ในปัจจุบัน Fed มีการลดการเข้าซื้อสินทรัพย์เดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การเข้าซื้อสินทรัพย์จะสิ้นสุดในเดือนมี.ค. 2022 เพื่อเปิดทางให้กับการขึ้นดอกเบี้ย โดยการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการ Fed หรือ Dot Plot ในเดือน ธ.ค. 2021 บ่งชี้ว่า จะมีการขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2022 และ 3 ครั้งในปี 2023
กองทุนบัวหลวงมองว่า หาก Fed ดำเนินนโยบายการเงินไปในทิศทางนี้ ตลาดจะคลายความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ และหากไม่ได้มีปัจจัยเพิ่มเติมที่สร้างความกังวลให้ตลาด ตลาดหุ้นจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี เนื่องจากถึงแม้ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง แต่ดอกเบี้ยก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่าอดีต โดยขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้ง เท่ากับ 1% ในสิ้นปี 2022
นอกจากนี้ นักลงทุนยังควรติดตามการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น อิตาลี และฝรั่งเศสที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนจีนจะมีการเลือกตั้งตำแหน่งใหญ่ๆ รวมทั้งตำแหน่งประธานคณะมนตรีรัฐกิจสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปัจจุบันคือนาย หลี่ เค่อเฉียง และสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในเดือน พ.ย. 2022 ก็อาจจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายของประเทศที่ตลาดจะต้องติดตาม
กองทุนแนะนำทั้ง 4 กองทุน
- BCARE
กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลเฮลธ์แคร์ (BCARE) ลงทุนในกองทุน Wellington Global Healthcare Fund ซึ่งเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับยา ไบโอเทค เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการแพทย์ อุปกรณ์การแพทย์ โรงพยาบาล
ทั้งนี้ เทรนด์การรักษาสุขภาพ เป็นเมกะเทรนด์ทั้งก่อนและหลังโควิด โดยคนตระหนักถึงการรักษาสุขภาพมากกว่าเดิม ค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการรักษาสุขภาพก็จะมีมากขึ้น ส่วนการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เช่น MRNA ก็ทำให้การคิดค้นยาใหม่ๆ เป็นไปได้มากขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยียังทำให้ การตรวจ DNA นับวันมีราคาถูกลง และทำให้คนหมู่มากเข้าถึงได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อว่าเทรนด์เรื่องการรักษาสุขภาพจะยังอยู่กับการลงทุนอย่างเน้นแฟ้นขึ้นไปอีกหลังโควิด
นอกจากนี้ ในแง่เศรษฐกิจมหภาค กลุ่มเฮลธ์แคร์ถือว่าเป็นหุ้นกลุ่ม Defensive ซึ่งน่าจะให้ผลตอบแทนได้ดีในปี 2022 เนื่องจาก 3 ปัจจัย คือ
1.ในปี 2022 เป็นปีที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ย ตลาดมีความผันผวนสูง เงินอาจจะหลบมาอยู่ในกลุ่มเฮลธ์แคร์ ซึ่งในปี 2021 เป็นกลุ่มที่ยังทำผลงานไม่โดดเด่น
2.ในยามที่เงินเฟ้อสูง บริษัทในกลุ่ม pharma biotech หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ และการให้บริการทางการแพทย์ จะสามารถขึ้นราคาได้ มีความสามารถในการปรับราคาขึ้น
3.มีการทำสถิติที่ผ่านมาว่าในปีที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว กลุ่มเฮลธ์แคร์ก็ยังสามารถ outperform หรือทำผลงานได้ดีกว่าตลาดได้แทบทุกครั้ง อย่างไรก็ตามกองทุนบัวหลวงมองว่ากรณีที่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ยังไม่ใช่กรณีของปี 2022 โดยตลาดมองว่าน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งเท่านั้นเอง ดังนั้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ก็ถือว่ามีปัจจัยเกื้อหนุนมากในปี 2022 อีกทั้ง ผลตอบแทนปี 2021 ที่ผ่านมา ก็ยังน้อยกว่าดัชนี S&P500 และมูลค่าหุ้นก็ยังคงปรับลดลงมาห่างจาก ดัชนี S&P500 พอสมควร ขณะที่คาดการณ์ว่ากำไรของทั้งกลุ่มเฮลธ์แคร์ ในปี 2022 จะเติบโตประมาณ 6% และนักวิเคราะห์ยังคงปรับประมาณการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ เรื่องการลงทุนในเฮลธ์แคร์ ไม่ได้มีเพียงกองทุนบัวหลวงที่มองว่าน่าสนใจเพียงที่เดียว แต่จากผลสำรวจผู้จัดการกองทุนทั่วโลกในเดือน ธ.ค. 2021 ก็พบว่า มีการเพิ่มน้ำหนักหุ้นเฮลธ์แคร์มากที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ
- B-CHINE-EQ
สาเหตุที่กองทุนบัวหลวง แนะนำ กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นจีน (B-CHINE-EQ) เนื่องจากในปี 2021 เป็นปีที่ตลาดหุ้นจีนให้ผลตอบแทนที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับดัชนีประเทศอื่นๆ โดยเรื่องหลักมาจากนโยบายการเงินที่ตึงตัว การจัดระเบียบริษัทเทคโนโลยี และความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ จากการที่ทางการจีนต้องการควบคุมไม่ให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์กู้ยืมเงินมากเกินไปเพื่อไปพัฒนาโครงการ หรือที่เรียกว่า 3 red lines
ในเมื่อดำเนินนโยบายแบบนี้ บวกกับเรื่องโควิดที่ทำให้กิจกรรมการบริโภคภาคในประเทศชะงัก ประชาชนไม่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ไม่ได้มีการสังสรรค์ หรือการจับจ่ายใช้สอย ผลก็ออกมาว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีน ลดเหลือแค่ 4.9% ซึ่งก็ไม่ได้มาจากปัจจัยเรื่องฐานที่สูง และ GDP ระดับนี้ถือว่าต่ำกว่าปกติที่โตประมาณ 6% พอสมควร
ดังนั้นเราก็มองว่า ตั้งแต่ในเดือน ธ.ค. 2021 เป็นต้นไป อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของการดำเนินนโยบายของจีน เพราหลังจากมีการลดอัตราการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ หรือ Required Reserve Ratio (RRR) เพื่อให้ธนาคารปล่อยกู้ได้มากขึ้น ก็ทำให้ในระบบการเงินมีสภาพคล่องมากขึ้น และเมื่อธุรกิจมีเงินหมุนเวียน ก็เดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ก็มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี หรือ Loan Prime Rate ดังนั้นเราเชื่อว่า ถ้านโยบายการเงินดำเนินมาในทิศทางนี้ ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นของการผ่อนคลายบ้าง ด้วยเหตุนี้จึงหวังว่าในปี 2022 นโยบายการเงินจะกลายเป็นปัจจัยบวก ให้กับตลาดหุ้นจีนได้
ในด้านการคลัง ปกติแล้วเราก็ต้องรอดูว่า รัฐบาลจะมีการลงทุนอะไรเพิ่มหรือไม่ เพราะจะเป็นส่วนที่ช่วยทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ ซึ่งจีนเพิ่งอนุมัติให้รัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน 1.46 ล้านล้านหยวน เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง พลังงาน การเศรษฐกิจ บ้านที่อยู่อาศัย ถือเป็นอีกข่าวดีว่า ฝั่งรัฐบาลเริ่มขยับในการลงทุนเพิ่มแล้ว
สุดท้ายคือ การประชุม Poliburo ในเดือน ธ.ค. 2021 มี key word ของการประชุม คือ Stability ซึ่งก็คือการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ทั้งยังพูดเรื่องการฟื้นฟูการบริโภคภายในประเทศ และการให้ความสำคัญกับการจ้างงาน มาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งท่าทีก็แตกต่างจากปีก่อนหน้านั้นที่ key word คือ strengthen anti-monopoly effort คือนโยบายที่ป้องกันการผูกขาด การครองตลาดอยู่เจ้าเดียว
สรุปคือ ปัจจัยเกื้อหนุนมีทั้งนโยบายเริ่มผ่อนคลาย การลงทุนในประเทศเริ่มเกิดขึ้น มูลค่าหุ้นจีนยังไม่แพงเมื่อเทียบกับดัชนีประเทศอื่นๆ ขณะที่การเมืองมีเสถียรภาพ มีปัจจัยเดียวที่เรายังคงรอให้เห็นการฟื้นตัว คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว การบริโภคก็ชะลอตัว กำไรของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยตรง เช่น กลุ่มการบริโภค ก็ต้องชะลอตัวตาม
ดังนั้นเรามองว่า ในปี 2022 ความเสี่ยงเรื่องนโยบายยังมีอยู่ แต่เริ่มจำกัดแล้ว ส่วนความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าอาจจะเกิดขึ้นใหม่ กำไรรอการฟื้นตัว แต่มูลค่าไม่แพง เราจึงแนะนำ เข้าทยอยสะสม
- B-INNOTECH
กองทุนบัวหลวงเชื่อมั่นในเทคโนโลยีว่าจะเป็น super sector ไปอีก 10 ปีเป็นอย่างน้อย และกองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) ก็ให้ผลตอบแทนได้สูงถึง 23% ในปี 2021 เอาชนะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดกลาง และแบบหุ้นเติบโตสูง (hyper growth) เนื่องจาก B-INNOTECH ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าไม่แพง ผู้จัดการกองทุนใส่ใจในพื้นฐานบริษัทและเรื่องมูลค่าหุ้นมากๆ
ทั้งนี้ B-INNOTECH มีความน่าสนใจ จาก 2 ประเด็นสำคัญ คือ กองทุนบัวหลวงเชื่อว่า ภายใต้เทรนด์ของเทคโนโลยี ABCEV ประกอบด้วย AI, Big Data, Cloud, Cybersecurity, EV และ Virtual นั้น กองทุน B-INNOTECH สามารถเกาะกลุ่มไปกับเทรนด์เหล่านี้ได้ทั้งหมด อีกประเด็นคือในปี 2022 ที่คนกังวลเรื่องเงินเฟ้อ บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ มีความสามารถในการขึ้นราคาได้ เช่น Microsoft Office 365, หรือ Youtube ที่ปรับขึ้นราคาไปแล้ว หรือแม้กระทั่ง Netflix กับ Spotify หากมีการขอปรับขึ้นราคา ก็เชื่อว่าผู้บริโภคคงต้องยอม ด้วยเหตุนี้เราจึงเชื่อว่า บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่น่าจะต้านทานเงินเฟ้อได้ แปลว่า เงินเฟ้อสูง มีผลกระทบต่อกำไรน้อย
และจากสถิติที่ผ่านมา ในปีที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเกิน 4-5 ครั้ง ส่วนใหญ่ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีอยู่ โดยถ้าพิจารณาจากสถิติที่ผ่านในปี 1969 ปี 1979 ปี 1980 ปี 1994 และปี 2018 ดังนั้นเรามองว่า การลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นการลงทุนระยะยาวที่น่าสนใจอยู่
- B-NIPPON
ปี 2021 เป็นปีที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนต่ำกว่าดัชนีหุ้นโลกไปพอสมควร โดยดัชนี Nikkie ปรับขึ้นมาเพียง 6% เท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นยังรอการฟื้นตัวจากโควิด ซึ่งในช่วงปลายปี 2021 พอสถานการณ์จะเริ่มดีขึ้น ก็มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอีก ทำให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวไม่ได้อย่างเต็มที่ ในด้านการส่งออกของญี่ปุ่นก็ฟื้นตัวไม่ได้ดีนัก จากยอดขายรถยนต์ที่ลดลง มีปัญหาผลิตรถยนต์ไม่ได้จากประเด็นเรื่องการขาดแคลนชิป
ดังนั้นหากปี 2022 ไม่ได้มีไวรัสสายพันธ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้ว ก็น่าจะเป็นปีแห่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หากปัญหาชิปขาดแคลน เริ่มคลี่คลาย การส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นก็น่าจะทำให้ตัวเลขส่งออกดีขึ้นได้บ้าง นอกจากนี้หากการค้าขายทั่วโลกยังคงดำเนินไปด้วยดี บริษัทเอกชนทั่วโลก โดยเฉพาะภาคการผลิตลงทุนเพิ่ม ญี่ปุ่นก็จะได้อานิสงส์ไปด้วย โดยคู่ค้าสำคัญของญี่ปุ่น คือ จีน หากเศรษฐกิจจีนในปี 2022 เริ่มได้รับแรงกระตุ้นเข้ามาบ้าง ก็จะส่งผลดีต่อการส่งออก
เราจึงหวังว่า ปี 2022 จะเป็นปีที่ญี่ปุ่นฟื้นตัว ด้วยนโยบายการเงินยังคงผ่อนคลาย เงินเฟ้อยังคงต่ำมากในญี่ปุ่น และมูลค่าของดัชนีหุ้นญี่ปุ่นที่ยังไม่ได้แพงจนเกินไป ก็น่าจะเป็นปีที่ดีของการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นได้