Economic Research
ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจในเดือนมกราคม 2022 คือ ทิศทางนโยบายการเงิน โดยในส่วนของสหรัฐฯ และจีน นั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพิ่งจะประชุมไปเมื่อปลายเดือนมกราคม 2022 และ BBLAM จะมีข้อสังเกตจากธนาคารกลางจีน (PBoC) มาเป็นข้อมูลเปรียบเทียบด้วย
BBLAM อยากชี้ให้ทุกท่านเห็นว่า Upside ของการลงทุน หรือส่วนเพิ่ม มาจากความต่างระหว่างสิ่งที่ตลาดคาดหวังกับความเป็นจริง
เริ่มที่สิ่งที่ตลาดคาดหวังก่อน ก็คือ
1.ตลาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมนี้แล้ว
2.Fed จะต้องขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง 5 ครั้ง หรือบางที่ก็คาดการณ์ว่าจะขึ้นไปถึง 7 ครั้งเลยทีเดียว
3.Fed อาจจะมีการปรับลดงบดุล หรือทำ QT ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้ง 3 ประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นความกังวลให้กับตลาดในภาพรวม
แต่ว่าสิ่งที่ Fed บอก ณ การประชุมเมื่อช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2022 คือ
1.สมมติว่าภาพเศรษฐกิจเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ ก็จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้
2.ยังไม่รู้เลยว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ แต่ว่ามี keyword ใหม่ คือ จะ stay nimble ซึ่งก็คือจะพยายามยืดหยุ่นต่อข้อมูลที่เข้ามา จะตัดสินใจปรับขึ้นหรือว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลเศรษฐกิจช่วงนั้นๆ จะเป็นยังไง
จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ Fed บอกไว้เป็นปลายเปิด แต่ตลาดมองลบมากจากคำพูดนี้ ส่วน Fed มองออกไปในทาง hawkish คือ มองว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวขึ้น จึงใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่เป็นไปในทิศทางที่เบากว่าที่ตลาดมอง
ทั้งนี้ จากข้อมูลใน Dot plot ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ FOMC และคณะกรรมการท่านอื่นๆ เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในปีนั้นๆ ว่ามองอย่างไรต่ออัตราดอกเบี้ยในอนาคต สิ่งที่เห็นก็คือ เวลาที่ Fed มองว่าจะขึ้นดอกเบี้ย โดยส่วนใหญ่ Dot plot จะมองการปรับขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เป็นจริงในหลายๆ ครั้ง มีเพียงบางครั้งที่มองตรงกัน คือ มองขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ก็ขึ้นเท่านั้นจริงๆ
ในความเป็นจริงแล้ว ตลาดมองอย่างไร Fed มองอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ตามข้อมูลที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมาคือ Fed ขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่านั้น นอกจากนี้เวลาที่เราดูข่าว เราอาจจะเห็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนของ Fed ที่ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการประชุม FOMC แต่เราต้องเลือกฟัง โดยเน้นเลือกฟังผู้ที่มีสิทธิที่จะยกมือออกคะแนนเสียงในการประชุมคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการมีทั้งหมด 12 คน ปัจจุบันมีอยู่ 9 คน เมื่อคนเหล่านี้พูด อาจจะต้องฟัง โดยเฉพาะประธาน Fed ส่วนใครที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มนี้ อาจจะให้น้ำหนักกับคำพูดของคนเหล่านั้นน้อยลง
ทั้งนี้ มีสิ่งสำคัญก็คือ จะมีคณะกรรมการอีก 3 คน ที่พรรคเดโมแครตเป็นผู้เสนอชื่อเข้ามา ก็ต้องมาดูว่าทั้ง 3 คน จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการในรอบต่อไปได้หรือไม่ ซึ่งก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
อีกประเด็นคือ Fed จะขึ้นดอกเบี้ย โดยมองเรื่องของการจ้างงานเป็นหลัก ซึ่งการจ้างงานนอกภาคเกษตร ปรับตัวดีขึ้นมาก จนกระทั่งเหลือตำแหน่งที่ต้องเติมให้เต็มกว่า 1 ล้านตำแหน่งแล้ว หมายความว่า ถ้าการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มได้เดือนละ 5 แสนตำแหน่ง ก็จะเติมเต็มได้ทั้งหมดในเดือนเมษายน หรือพฤษภาคม นี้
จุดสำคัญหนึ่งที่อยากให้นักลงทุนดู ก็คือ ตัวเลขประมาณการก่อนหน้าของการจ้างงาน และตัวเลข ณ ปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงแรงงานของสหรัฐฯ ที่รวบรวมข้อมูลนี้ มีการปรับตำแหน่งจ้างงานในอดีตเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับตัวเลขในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่า มาจากประเด็นอื่นนอกเหนือจากนี้หรือไม่ที่ทำให้รัฐบาลเร่งปรับตัวเลขการจ้างงานนี้ให้ดูดีขึ้น เพื่อที่จะให้ทันกับช่วง Fed จะขึ้นดอกเบี้ยได้ภายในไตรมาสแรกหรือไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
ถัดมาที่จีน โดยธนาคารกลางจีน (PBoC) มีการประชุมเหมือนกันเป็นรายไตรมาส ซึ่งในไตรมาสแรกมีการประกาศออกมา 4-5 ประเด็น ซึ่งเป็นการประกาศเชิงสัญญา คือ จะทำให้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น และทำให้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่เศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ
สิ่งที่ PBoC ทำคือ จะทำผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในตลาดที่มีอัตราดอกเบี้ยหลายๆ อย่าง ซึ่งจะส่งผ่านไปถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บกับลูกค้าธุรกิจ
สิ่งที่ PBoC ทำจะแตกต่างจากที่ Fed ทำ คือ สัญญาว่าจะดำเนินนโยบายผ่อนคลายขึ้นแล้ว แต่สิ่งนี้ตลาดยังไม่ค่อยรับรู้ และยังไม่ค่อยเชื่อใจเท่าไหร่ ขณะที่ตลาดง Fed แม้ยังไม่ค่อยพูดอะไร แต่ตลาดมองไปแล้วว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยรัวๆ และจะปรับลดงบดุลลงด้วย
จะเห็นได้ว่า เราเห็นความต่างของความคาดหวังของตลาดที่มีต่อธนาคารกลางหลายๆ ประเทศเกิดขึ้น เมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดมองร้ายเกินไป นั่นคือ upside ของการลงทุน
BBLAM จึงอยากให้นักลงทุนตัดสินใจดูว่า ในเมื่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Fed และ PBoC เป็นเช่นนี้ จะจัดพอร์ตการลงทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ และจีน อย่างไรบ้าง