BBLAM Weekly Investment Insights 7-11 มีนาคม 2022

BBLAM Weekly Investment Insights 7-11 มีนาคม 2022

Investment Strategy

ปีนี้ทั่วโลกเราก็เจอศึกหนักจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินเฟ้อ กับเรื่องเฟด ที่ทำให้ตลาดกังวลและเกิดการเทขายตั้งแต่ต้นปี และเดือนกุมภาพันธ์ก็มาเจอเรื่องรัสเซีย-ยูเครนอีก หลายท่านคงเริ่มคิดแล้วว่า อันที่ถือไว้มันก็ลงแล้วนะ และตั้งแต่ต้นปีมาก็ถัวเข้าไป ถัวเข้าไป มันก็ลงเอา ลงเอา หรือจริง ๆ ต้องกลับมานั่งคิดล้วว่าต้อง “ตัดใจ” แต่ “ใช่เวลานี่หรือ!”

ก่อนจะเกิดสงครามขึ้น จริงๆ sentiment ของตลาดก็ไม่ได้ดีอยู่แล้ว เริ่มต้นปี ก็ bond yield พุ่งและเรื่องเงินเฟ้อ ในความเห็นผู้จัดการกองทุนหลาย ๆ ที่ล่าสุด ณ เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกือบครึ่งคิดว่า วัฏจักรเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงท้าย ๆ ของการเติบโต นั่นก็คือ late cycle และคิดว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ กำไรอยู่ในช่วงที่ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว นักวิเคราะห์กำลังปรับประมาณการกำไรของตลาดหุ้นทั่วโลกลง

อย่างไรก็ตามย้อนกลับไปที่ปี 2014 คุณ Warren Buffet เคยออกมาพูดเรื่องการลงทุนในภาวะสงคราม ว่าอาจจะไม่ค่อยเห็นด้วยกับนักลงทุนที่กำลังจะขายหุ้น และถือเงินสด หรือทอง และคิดว่าการลงทุนในหุ้นในบริษัทจะเป็นการทำให้พอร์ตมั่งคั่งได้ดีที่สุด ตอนที่เกิดสงครามในรัสเซียตอนนั้นก็ไม่ได้ทำให้เค้าขายหุ้นอะไรออกไป กลับกัน ถ้าหุ้นถูกลงมาเพราะสงคราม กลับกลายเป็นโอกาสให้เข้าไปซื้ออีกด้วย

สำหรับ BBLAM เองกับสถานการณ์ที่เหลือของปีนี้ ก็มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุน ทั้งยังมองว่าช่วงที่หุ้นสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเอเชีย รวมถึงกองทุน Thematic ถูกเทขายออกมามากจนอยู่ในระดับน่าสนใจ จากการที่ตลาดมีปฏิกิริยากับเหตุการณ์ความตึงเครียดยูเครนและรัสเซีย ก็เป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุน

ทีม Investment Strategy ให้มุมมองการลงทุนที่มีต่อความตึงเครียดระหว่างยูเครนและรัสเซียเพิ่มเติมว่า ความขัดแย้งในยูเครนและรัสเซีย ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกโดยตรง แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์แทน โดยปัจจุบันเศรษฐกิจของรัสเซีย คิดเป็น 1.3% ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียคิดเป็นอันดับที่ 2 ของโลก รองจากซาอุดิอาระเบีย อีกทั้งในแง่ของการส่งออกก๊าซธรรมชาติ รัสเซียก็เป็นผู้ส่งออกหลักให้แก่ทวีปยุโรป คิดเป็นกว่า 40% ของการบริโภคก๊าซธรรมชาติของทวีป

ยิ่งไปกว่านั้นทั้งรัสเซียและยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หากการส่งออกวัตถุดิบเหล่านี้มีปัญหา อาจส่งผลต่อราคาหรือการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้

ทั้งนี้ หากภาพรวมความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น อาจทำให้ฝั่งตะวันตกพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นได้อีก โดยปัจจุบันมาตรการที่ฝั่งตะวันตกใช้กับรัสเซีย ได้แก่ การชะลอการอนุมัติท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 เป็นต้น

สำหรับผลกระทบต่อการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ตลาดมีการปรับลดประมาณการโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ย จากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป ที่เดิมตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 50bps หรือ 0.5% ในปีนี้ แต่ลดลงเหลือเพียง 25 bps หรือ 0.25% หลังจากเกิดสงครามขึ้น

เช่นเดียวกับ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ตลาดปรับประมาณการการขึ้นดอกเบี้ยลงมาเล็กน้อย และยังคงรอดูตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ที่กำลังจะประกาศออกมา เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เงินเฟ้อ หรือตัวเลขการจ้างงาน

ส่วนมุมมองด้านตลาดหุ้นนั้น ทีม Investment Strategy ระบุว่า หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในอดีต จะพบว่าในช่วงที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ เช่น เหตุการณ์ที่สาธารณรัฐไครเมียปี 2014 ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ปรับตัวลดลงเพียง 1.5%-3% และสามารถฟื้นตัวขึ้นกว่า 12% ในช่วง 3 เดือนให้หลัง ส่วนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P500 ค่อนข้างแข็งแกร่งในช่วงเหตุการณ์ที่สาธารณรัฐไครเมีย โดยปรับตัวลงประมาณ 1.5% เท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตลาดหุ้นมักจะ Overreact หรือมีปฏิกิริยามากเกินไปในเชิงลบต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่จากข้อมูลในอดีตพบว่า ตลาดหุ้นของประเทศที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรง จะสามารถปรับตัวขึ้นได้รวดเร็วหลังสถานการณ์ความขัดแย้งคลี่คลาย ดังนั้น ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้อาจจะยังส่งผลต่อตลาดหุ้นของสหรัฐฯ และยุโรปต่อไปบ้าง แต่สงครามนี้ ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทค่อนข้างน้อย และยังทำให้ราคาหุ้นของทั่วโลก เช่น ดัชนี S&P500 และ Nasdaq ปรับตัวลดลงมา จนทำให้มูลค่าหุ้น หรือ Valuation เริ่มน่าสนใจ

BBLAM เชื่อว่า ปัจจัยที่สำคัญที่ตลาดจะกลับไปจับตามอง คือการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เรื่องเงินเฟ้อ และกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยเหตุการณ์นี้เป็นเพียงความผันผวนระยะสั้นที่ไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการลงทุนระยะยาว

BBLAM ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้น โดยรวมในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า และในช่วงที่ดัชนีของทั้งโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและเอเชีย รวมทั้งกองทุนที่เน้นลงทุนภายใต้แนวคิดเฉพาะเรื่อง หรือ thematic ต่างๆ โดนเทขายลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจ ในขณะที่ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ต่อบริษัทจดทะเบียนหรือเศรษฐกิจค่อนข้างต่ำ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุน

แต่ถ้าเชื่อว่าโอกาสแบบนี้จริงๆ ก็ไม่ได้มีบ่อย ๆ BBLAM แนะนำปรับเพิ่ม “อินฟราสตรัคเจอร์” ในพอร์ต

ถ้าเราตั้งใจแล้วว่าจะจัดพอร์ตโดยที่มีหุ้นเป็นหลัก เหมือนกับคุณ Warren Buffet แต่เราจะลงทุนอย่างไร เราคิดว่าปัจจัยที่ตลาดจะกลับมาจับตามองในปีนี้คือ เงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และผลประกอบการของบริษัท เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดพอร์ต ถ้าเราย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 1950 ว่าสินทรัพย์ไหนจะปรับตัวขึ้นพร้อมเงินเฟ้อได้บ้าง จะเห็นว่าสินทรัพย์ที่เป็นพวก Real Asset พวกสินค้าโภคภัณท์ พวกอสังหาริมทรัพย์ ทอง งานศิลปะ มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเงินเฟ้อ ซึ่ง “อินฟราสตรัคเจอร์” หรือที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐาน หรือพวก REIT ก็ถือว่าเป็นหนึ่งใน Real Asset

แต่อันหลังนี่สิ อินฟราสตรัคเจอร์ นอกจากสถานการณ์ปัจจุบันจะสนับสนุนการลงทุนแล้ว อินฟราสตรัคเจอร์ยังอยู่มีปัจจัยบวกสำคัญที่จะทำให้เติบโตได้อีก และปัจจัยสนับสนุนต่าง ๆ นี้ก็ชัดเจนอย่างมาก ได้แก่

  • ในปี 2021 ประธานาธิบดี Joe Biden ประกาศแผนโครงสร้างพื้นฐานของอเมริกา ที่มีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • จีนลงทุนปีละ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถ้าดูเม็ดเงินทั้งหมดในการลงทุนในอินฟราทั่วโลก 35% มาจากจีน ในส่วนอินเดียก็เร่งพัฒนาด้านนี้เช่นกัน
  • Global government’s commitments slide จากประเทศสำคัญ ๆ ทั่วโลก ซึ่งมีหลายส่วนด้วยกัน เช่น การลงทุนพัฒนาสายส่งไฟ ควบคู่กับการพัฒนาสถานีชาร์ตไฟ เพื่อดันให้เกิดการเข้าสู่การใช้รถ EV แทนรถเติมน้ำมัน หรือการพัฒนาให้เกิดการครอบคลุมเสาส่งสัญญาณ 5G
  • การขาดแคลนพลังงานทั้งในจีน และยุโรป ทำให้ประเทศในกลุ่มนี้เร่งพัฒนาพลังงานสะอาดมาใช้งาน
  • การเติบโตของสังคมเมืองของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่ามีความต้องการอินฟราสตรัคเจอร์รองรับ

นั่นเป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นถัดไปสำหรับการลงทุนในอินฟราสตรัคเจอร์ แต่โดยพื้นฐานแล้วธุรกิจอินฟราสตรัคเจอร์มีเสน่ห์ในตัวเองอยู่แล้ว เพราะธุรกิจนี้มีรายได้ที่สม่ำเสมอ คาดเดาได้ และมีการเติบโต โดยเฉพาะธุรกิจในส่วน Regulated Asset ซึ่งเป็นโครงการที่มีสัญญากับรัฐบาล เช่นโครงการน้ำ ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานสะอาด โครงการพวกนี้ถือว่าเป็น sector ที่ Defensive และอีกส่วนคือ User pay assets เป็นธุรกิจอินฟราสตรัคเจอร์ที่ผู้ใช้เป็นคนจ่าย จะเป็นพวกสนามบิน รถไฟ ทางด่วน เสาส่งสัญญาณ ท่าเรือ ที่รายได้ของโครงการจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ใช้

ด้วยผลข้างต้นนี้จึงสนับสนุนว่าถ้าเชื่อว่าจังหวะนี้เป็นจังหวะลงทุน ธุรกิจอินฟราสตรัคเจอร์ก็เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะ หนึ่ง มีส่วนที่เป็นบริษัทที่กำลังเติบโตด้วยเช่นพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน พลังงานไฮโดรเจน สอง รายได้จะค่อนข้างแน่นอน และเป็นสัญญาระยะยาว คือล็อคไว้แล้วว่าจะต้องให้เจ้านี้บริหาร สามคือรายได้จะแปรผันความเงินเฟ้อ สี่คือ บริษัทที่ลงทุนอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม มีการกระจายไปในหลากหลายอุตสาหกรรมซึ่งทำให้กองทุนลดความเสี่ยงได้

อ่าน BBLAM Weekly Investment Insights 7-11 มีนาคม 2022 ฉบับเต็มได้ที่

https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/7-11-2022-1