BBLAM Weekly Investment Insights 14-18 มีนาคม 2022

BBLAM Weekly Investment Insights 14-18 มีนาคม 2022

Investment Strategy

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา BBLAM สื่อสารกับนักลงทุนไปแล้วว่า เราไม่ได้แนะนำการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสงครามเลย คือ ไม่ได้แนะนำให้นักลงทุนซื้อกองทุนทอง หรือน้ำมัน แต่แนะนำให้ลงทุนให้หุ้น เพราะจากสถิติ ตลาดหุ้นมักมีปฏิกิริยาเชิงลบมากเกินไป หรือ Overreact คือตกใจและเทขาย เวลาที่เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

คุณมทินา วัชรวราทร CFA® Head of Investment Strategy ของ BBLAM ยกตัวอย่างคำแนะนำของ นักลงทุนต้นแบบอย่าง Warren Buffet ที่เคยบอกไว้ว่า ระหว่างภาวะสงคราม ไม่เห็นด้วยถ้านักลงทุนจะขายหุ้น และถือเงินสด หรือทองคำ และคิดว่าการลงทุนในหุ้นจะเป็นการทำให้พอร์ตมั่งคั่งได้ดีที่สุด โดยคุณมทินา ชี้ว่า ถ้านักลงทุนคนอื่นก็คิดอย่างนี้ ก็ต้องกลับมาโฟกัสที่ปัจจัยที่ตลาดจะจับตามองในปีนี้คือ เงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และผลประกอบการของบริษัท ซึ่ง เงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดพอร์ตมาก และในสภาพแวดล้อมแบบนี้ เราต้องหาสินทรัพย์ที่สามารถป้องกันเงินเฟ้อได้ หรือปรับตัวขึ้นพร้อมๆ กับเงินเฟ้อได้ ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูตั้งแต่ปี 1950 ว่าสินทรัพย์ไหนปรับตัวขึ้นพร้อมเงินเฟ้อได้บ้าง จะเห็นว่าสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Real Asset) ได้แก่ สินค้าโภคภัณท์ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ งานศิลปะ และโครงสร้างพื้นฐาน มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับเงินเฟ้อ คือเวลาเงินเฟ้อขึ้นก็มักจะมีราคาขึ้นตามไปด้วย

เมื่อโฟกัสที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ ) คุณมทินา มองว่า เป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ดี เพราะบริษัทโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อก๊าซ โรงไฟฟ้า จะมีรายได้ มีกระแสเงินสดสม่ำเสมอ ในเวลาที่เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น รายได้ของบริษัทเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นตาม เพราะว่าสามารถปรับราคาค่าไฟ หรือว่าค่าทางด่วนเพิ่มได้ หรือบางกรณี มูลค่าของโครงสร้างพื้นฐานก็จะปรับเพิ่มพร้อมๆ เงินเฟ้อ เพราะบางบริษัทสามารถปรับราคาในสัญญาขึ้นได้ทุกปี ก็จะทำให้เพิ่มรายได้ เพิ่มกระแสเงินสด และเพิ่มเงินปันผลได้

ถ้าเรามาแบ่งกรณีการเกิดเงินเฟ้อเป็น 2 กรณี คือ

  1. กรณีแรกคือเงินเฟ้อสูง ราคาน้ำมันสูงๆ ไม่ยอมปรับลงมา ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตต่ำ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดต่ำลงมาก สงครามยืดเยื้อ เข้าข่ายเรียกว่า Stagflation นักลงทุนก็ยังสามารถลงทุนกับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานได้ เพราะโครงการเหล่านี้ แทบไม่มีผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตหรือไม่ คนก็ต้องการใช้ไฟฟ้า น้ำ ถ้าอากาศหนาวก็ต้องใช้เครื่องทำความร้อน ใช้ไฟฟ้า ใช้ก๊าซอยู่ดี
  2. กรณีที่ 2 สงครามจบได้เร็ว เศรษฐกิจอาจกลับมาค่อนข้างร้อนแรง และเงินเฟ้อสูง เราก็ยังลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานได้ โดยกองทุนจะให้น้ำหนักกับบริษัทที่น่าจะฟื้นตัวพร้อมกับการแพร่ระบาดของโควิดที่จบลง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เช่น สนามบิน ที่ดีขึ้นจากจำนวนเที่ยวบิน จำนวนคนเดินทางมากขึ้น หรือทางด่วน การใช้บริการรถไฟในยุโรป ที่ฟื้นตัวพร้อมการเดินทาง

ฉะนั้นจะเห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานมีหลายแบบ มีทั้งแบบที่ดูเหมือนการลงทุนจะมีความปลอดภัยค่อนข้างมาก เศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ก็ยังดำเนินธุรกิจได้เรื่อยๆ เช่น พลังงาน ไฟฟ้า และน้ำ กับแบบที่พร้อมฟื้นตัวไปกับเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เช่น สนามบิน ท่าเรือ และทางด่วน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานเป็นธุรกิจที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีด้านรายได้ ไม่ว่าเศรษฐกิจจะร้อนแรงหรือถดถอย

เมื่อดูปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน พบประเด็นสำคัญคือ ในปี 2021 ประธานาธิบดี Joe Biden ของสหรัฐฯ ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในสหรัฐฯ มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐออกมา และถ้าจะมัดรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ก็คาดว่า จากนี้จนถึงปี 2040 กลุ่มนี้จะมีการลงทุนด้านไฟฟ้าทั้งหมด 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในจำนวนนี้จะไปลงทุน 8.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และอีก 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแบบดิจิทัล คือ เครือข่ายและการกักเก็บพลังงาน

มาดูฝั่งประเทศกำลังพัฒนา ธีมก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะคาดว่า ประเทศกำลังพัฒนาจะมีเมืองใหม่เพิ่มจาก 33 เมืองในปัจจุบัน เป็น 43 เมืองภายในปี 2030 แปลว่าเราจะได้เห็นเมืองใหม่อีก 10 เมือง ก็ต้องลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ทั้ง Hard asset คือถนน ทางรถไฟ และ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยรวม คาดว่าประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชีย ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ของประเทศ ใน 20 ปีข้างหน้า โดยมองไปที่จีน สิ่งที่น่าสนใจคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีนจะมีขนาดใหญ่มาก เม็ดเงินทั้งหมดในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก 35% มาจากจีน เพราะจีนลงทุนปีละ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี รองลงมาคืออินเดีย ที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่อง และเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ

เมื่อพูดถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งที่ไม่ได้พูดถึงไม่ได้เลย ก็คือ โครงการก่อสร้างพื้นฐานที่จะมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมี นั่นคือ One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน เพื่อเชื่อมต่อถนน และเส้นทางรถไฟระหว่างจีนกับยุโรป โดยตัดผ่าน เอเชียกลาง แล้วก็มีเส้นทางทางทะเลด้วย เชื่อมท่าเรือจีนกับท่าเรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เส้นทางทั้งหมดนี้จะยิ่งใหญ่มาก เพราะตัดผ่านภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ เอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ เอเชียใต้ และยุโรป ซึ่งถ้าโครงการนี้เสร็จในปี 2049 นักลงทุนน่าจะได้เห็น Infrastructure Boom คือยุคที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเฟื่องฟู และได้เห็นการเติบโตของโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก

อีกประเด็นสำคัญไม่แพ้กันที่น่าสนใจของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็คือ การขาดแคลนพลังงานทั้งในจีน และยุโรป ทำให้เราเห็นแล้วว่าการลงทุนในพลังงานสะอาดยังน้อยไปและช้าไปด้วย การที่ยุโรปเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ไปมาก จนต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ของพลังงานที่ใช้ ทำให้เมื่อเกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนแล้ว ยุโรปเห็นความสำคัญของการลงทุนพลังงานสะอาด พึ่งพาตนเองมากขึ้น เพราะพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศด้วย การหวังพึ่งพาประเทศอื่นก็เหมือนกับยืมจมูกคนอื่นหายใจ ซึ่งไม่ยั่งยืน

จะเห็นได้ว่าจากปัจจัยการเติบโตของโครงสร้างพื้นฐานที่กล่าวมา บวกกับคุณลักษณะเด่นของหุ้นธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ที่มีรายได้สม่ำเสมอ คาดเดาได้ และมีการเติบโตจึงทำให้เป็นกลุ่มหุ้นที่น่าสนใจมีไว้อยู่ในพอร์ต

อ่าน BBLAM Weekly Investment Insights 7-11 มีนาคม 2022 ฉบับเต็มได้ที่

https://www.bblam.co.th/bualuang-insights/bblam-investment-insights/14-18-2022-1