B-SELECT แนะนำกองทุนน่าสนใจ ไตรมาส 2 ปี 2022

B-SELECT แนะนำกองทุนน่าสนใจ ไตรมาส 2 ปี 2022

โดย…คุณมทินา วัชรวราทร CFA® 

Head of Investment Strategy 

BBLAM

ก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 แล้ว เรามองว่า ณ วันนี้ ตลาดมองข้ามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนมาแล้ว พิจารณาได้จากดัชนี S&P500 ที่กลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดความขัดแย้งนี้ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่เคยให้คำแนะนำนักลงทุนไปตามช่องทางต่างๆ ว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จะทำให้ตลาดหุ้นเทขายเพียงระยะสั้นๆ ตลาดหุ้นจะสามารถให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกได้เมื่อเวลาผ่านไปเพียงหนึ่งเดือน ซึ่งก็ทำให้ตั้งแต่มีนาคมที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่ดีของการเข้าสะสมกองทุนพื้นฐานดีๆ ส่วนในไตรมาสนี้ เรามองว่าสิ่งที่ตลาดจะให้ความสนใจคือ

  1. ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ที่ทยอยประกาศออกมาในเดือนเมษายนนี้
  2. การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในเดือนพฤษภาคม
  3. ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ที่จะประกาศออกมาทุกๆ ต้นเดือน

ในยามที่ตลาดถูกปกคลุมไปด้วยความกลัว ความกังวล ไม่ว่าจะเป็น เรื่องเศรษฐกิจถดถอย หรือว่าภาวะที่เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่เศรษฐกิจชะลอตัว (stagflation) ก็ตาม สุดท้ายแล้ว บริษัทที่รายงานผลกำไรแข็งแกร่ง จะเป็นการลงทุนที่อยู่รอดได้ในสถานการณ์เช่นนี้

จากประเด็นเหล่านี้เอง BBLAM ได้นำมาวิเคราะห์และจัดทำ B-SELECT คำแนะนำกองทุนที่น่าสนใจประจำไตรมาส โดยมีกองทุนแนะนำทั้งหมด 5 กองทุน แบ่งเป็น กองทุนต่างประเทศ 4 กองทุน คือ B-GLOB-INFRA, B-INNOTECH, B-SIP และ B-CHINE-EQ กับอีก 1 กองทุนหุ้นไทย คือ B-SMEQ

มาดูกันว่าทำไมถึงต้องเป็น 5 กองทุนนี้

  • B-GLOB-INFRA

กองทุน B-GLOB-INFRA เป็นกองทุนน้องใหม่ที่เพิ่ง IPO ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ท่ามกลางสถานการณ์สงครามที่เกิดขึ้น แต่กองทุนก็ปรับตัวขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่ง

กอง B-GLOB-INFRA ลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า ถนน รางรถไฟ ทางด่วน ท่าเรือ ท่อก๊าซ โดยจะเน้นไปที่โครงการที่มีลักษณะดังนี้

  1. รายได้ปรับตัวขึ้นพร้อมเงินเฟ้อได้
  2. ต้องเป็นโครงการที่มีความต้องการค่อนข้างสม่ำเสมอ
  3. มีโอกาสเติบโตได้ในอนาคต อย่างเช่น โครงการพลังงานสะอาด อย่าง พลังงานลม แสงอาทิตย์ ที่มีความสามารถในการเติบโตได้สูง

เพราะฉะนั้นในสถานการณ์แบบนี้ ที่เงินลงทุนมีการหมุนเวียนเปลี่ยนกลุ่มลงทุน มาในหุ้นกลุ่มที่ปลอดภัยมากขึ้น คือ กลุ่มหุ้นเชิงรับ หรือ Defensive ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ Healthcare หรือ Utility สาธารณูปโภคที่ปรับตัวขึ้นมาได้ดี กองทุน B-GLOB-INFRA ก็สามารถปรับตัวขึ้นมาได้ดีเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ตลาดมีความกังวลว่า เงินเฟ้อจะสูงไปต่อเนื่อง ก็ควรหากองทุนที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเช่นนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่ม real asset หรือสินทรัพย์ที่จับต้องได้

จากสถิติที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิด stagflation ปี 1970 ก็เห็นแล้วว่า สินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้นตามเงินเฟ้อก็คือ real asset เพราะฉะนั้น กองทุน B-GLOB-INFRA จะเป็นกองทุนที่สามารถปรับตัวขึ้นพร้อมเงินเฟ้อ เป็น inflation hedge คือเป็นกลุ่มที่ป้องกันเงินเฟ้อได้ดี

สำหรับกองทุน B-GLOB-INFRA ลงทุนใน กองทุน Legg Mason ClearBridge Global Infrastructure Income Fund ที่บริหารจัดการโดยบริษัทในเครือ Franklin Templeton  กองทุนนี้ใช้ดัชนีชี้วัด (benchmark) เป็นเงินเฟ้อของประเทศในกลุ่ม G7 +5.5% ซึ่งเมื่อดูจาก track record หรือข้อมูลผลงานย้อนหลังแล้ว กองทุนสามารถเอาชนะดัชนีชี้วัดได้แทบทุกปี ดังนั้นเรามองว่า สำหรับคนที่กังวลเรื่องเงินเฟ้อ ควรมีกองทุนนี้ไว้ในพอร์ต

  • B-INNOTECH

กองทุน B- INNOTECH ลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เรารู้จักกันดี ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนักจากประเด็นความกังวลเรื่อง 10Y US Treasury หรืออัตราผลตอบพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นสูง จนทะลุ 2.5% ไปแล้ว ทำให้ระยะสั้นๆ เกิด sector rotation หรือการย้ายออกจากกลุ่มหนึ่งไปลงทุนอีกกลุ่ม ซึ่งก็ทำให้หุ้นเทคโนโลยีถูกเทขายลงมาทั้งกลุ่ม จนมูลค่าหุ้น หรือ valuation ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเทคขนาดใหญ่ หรือขนาดกลางที่เติบโตสูงๆ เริ่มน่าสนใจ และเป็นโอกาสในการเข้าสะสม

สำหรับ หลักการลงทุนของ B-INNOTECH คือ เน้นบริษัทที่มีกำไรแล้ว กำไรสม่ำเสมอ และ valuation ไม่แพง เป็นกองทุนหุ้นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างระมัดระวังในการเลือกซื้อหุ้น โดยเราจะไม่ค่อยเห็นกองทุนซื้อบริษัทเทคฯ ที่ไม่มีกำไร นอกเสียจาก valuation ปรับลดลงมา จนทำให้การลงทุนมี margin of safety  หรือมองแล้วว่ามีส่วนต่างที่สูงจริงๆ ซึ่งพอราคาปรับลดลงมา ก็ทำให้ผู้จัดการกองทุนเข้าไปซื้อบริษัทที่เติบโตสูงๆ บ้าง เช่น กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน (fintech) เนื่องจากมูลค่าปรับลดลงมา จนน่าสนใจ บวกกับผู้จัดการกองทุนมองว่า โลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่สภาวะปกติ การจับจ่ายใช้สอยนอกบ้าน หรือการเดินทาง จะต้องมีมากขึ้น ดูได้จากบริษัท fintech ในกลุ่มการชำระเงิน (payment) อย่างเช่น visa และ mastercard ที่ประกาศผลประกอบการในรอบที่ผ่านมาออกมาดี

ทั้งนี้ จริงอยู่ว่า ในระยะสั้นๆ บริษัทเทคฯ จะปรับตัวลงถ้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield) ปรับตัวสูงขึ้น แต่ถ้าเราขยายช่วงเวลาออกมาให้มากขึ้น เราจะเห็นว่า yield ที่ปรับสูงขึ้น ไม่มีผลต่อการลงทุนในหุ้นเทคฯ ระยะยาว จะเห็นว่า ในบางช่วงเวลาที่ yield ปรับขึ้น ดัชนี Nasdaq ก็สามารถปรับขึ้นได้ตาม หรือแม้กระทั่งว่า เวลาที่เฟด ขึ้นดอกเบี้ย หุ้นกลุ่มเทคฯ ก็ยังสามารถปรับตัวขึ้นได้ตาม

นอกจากนี้ ราคาหุ้นเทคฯ จะปรับขึ้นตามกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากกว่า เพราะฉะนั้น บริษัทเทคฯ ที่กำไรแข็งแกร่ง ก็จะสะท้อนไปที่ราคาของหุ้นเทคฯ นั้นด้วย และถ้าพิจารณามูลค่าของบริษัทเทคฯ จะเห็นได้ว่า ราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่เคยสูงกว่า 30 เท่า ในอดีต เวลานี้ปรับลดลงมาแล้ว ทั้งจากราคาที่ปรับลงมา และกำไรที่ยังคงส่งมอบได้ดี ทำให้ P/E ของหุ้นเทคฯ ปรับลงมาจนไม่ถือว่าแพงแล้ว

และหากนักลงทุนถือหุ้นเทคฯ เพียง 1 ปี ก็มีโอกาสขาดทุนถึง 50% แต่ถ้าถือได้ถึง 10  ปี โอกาสขาดทุนแทบไม่มี และยังมีโอกาสได้กำไรเฉลี่ยปีละ 10% ไปทุกๆ ปีอีกด้วย

ดังนั้น เรามองว่า กำไรจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า บริษัทเทคฯ บริษัทไหนน่าลงทุน เรายังแนะนำกองทุน B-INNOTECH ทั้งที่เป็นกองทุนรวมทั่วไป และแบบประหยัดภาษี ไม่ว่าจะเป็น B-INNOTECHRMF หรือ B-INNOTECHSSF เพราะเรามองว่ากองทุนนี้มีแนวทางการเลือกหุ้นที่ค่อนข้าง defensive ค่อนข้างปลอดภัย ผู้จัดการกองทุนใช้ความระมัดระวังในการเลือกบริษัทเทคฯ อย่างมาก และถ้ามองการลงทุนหุ้นเทคฯ เป็นการลงทุนระยะยาว จะทำให้พอร์ตลงทุนเติบโตมากกว่าการลงทุนเพียงระยะสั้นๆ เพราะฉะนั้น เรามองว่าควรสะสมอย่างต่อเนื่องสำหรับ B-INNOTECH

  • B-SIP

กองทุนเปิดบัวหลวงยั่งยืน หรือ B-SIP ลงทุนในบริษัทที่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด โดยกองทุน B-SIP เป็น thematic fund หรือกองทุนที่ลงทุนเจาะจงไปกับเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่ง ที่เราแนะนำให้สะสมอย่างต่อเนื่อง

เนื่องจาก เป็นเมกะเทรนด์ของโลก ยิ่งหลังจากสงครามรัสเซียและยูเครน ก็ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ การที่ยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมาก เมื่อเกิดสงครามครั้งนี้ก็ทำให้ยุโรปต้องหยุดคิด และมาทบทวนแผนการใช้พลังงานของประเทศตัวเอง จนออกแผนที่ชื่อ REPowerEU เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ และเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น และเร่งให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ให้ได้เร็วขึ้น

สิ่งนี้เราคิดว่า จะไม่ได้เกิดขึ้นแค่ยุโรป ประเทศอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาพลังงานนอกประเทศ ก็ต้องกลับมาคิด และใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็ได้สะท้อนเข้าไปในราคาของบริษัทพลังงานทดแทน อย่างเช่น  Ostred และ NextEra Energy ที่ราคาปรับขึ้นมาสวนทางกับตลาด ตั้งแต่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

สำหรับ กองทุน B-SIP ลงทุนใน 2 กองทุนของ Pictet Asset Management นั่นก็คือ Global Environmental Opportunities (GEO) และ Clean energy ซึ่งราคาหน่วยลงทุนปรับลงมา เพราะส่วนหนึ่งมีการลงทุนในหุ้นเทคโนโลยี โดยถ้าดูจากข้อมูลหุ้นที่กองทุนถืออันดับต้นๆ หรือ top holdings จะเห็นว่า ของ GEO มีบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์อยู่พอสมควร ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มนี้อาจจะถูกปัจจัยกดดันจากห่วงโซ่การผลิตที่มีปัญหา แต่เรามองว่า หากปัญหานี้คลี่คลายได้ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์จะกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีอีกครั้ง

นอกจากนี้ บริษัทที่กองทุน B-SIP ลงทุน ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาห่วงโซ่การผลิตมีปัญหาน้อยมากอีกด้วย เพราะเป็นบริษัทผู้ออกแบบซอฟต์แวร์การผลิตชิปเสียมากกว่า ไม่ใช้ผู้ผลิตชิปเสียทีเดียว แปลว่า ถ้าเราวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐาน หรือมองแบบ bottom up บริษัทที่กองทุนนี้ถืออยู่ก็มีพื้นฐานดี และราคาไม่แพง

ส่วนในอนาคตข้างหน้า เราจะได้เห็นแต่ละประเทศพูดถึงเรื่องพลังงานสะอาด รถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า ความมั่นคง การกำจัดขยะ การรีไซเคิล ความสะอาดของอากาศ ความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น ซึ่งแต่ละอย่างนี้อยู่ในขอบเขตการลงทุนของกองทุน B-SIP แทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น เราแนะนำให้สะสมกองทุนนี้อย่างต่อเนื่อง หรือลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (DCA) ไปเลย

  • B-CHINE-EQ

กองทุนต่างประเทศกองสุดท้ายที่แนะนำในไตรมาสนี้คือ กองทุน B-CHINE-EQ เป็นกองทุนที่ลงทุนในทั้งหุ้นจีน A-Shares, H-shares และ ADRs แปลว่าลงทุนได้แทบทุกตลาดที่หุ้นจีนจดทะเบียนอยู่ ทำให้กองทุนมีความยืดหยุ่นในการปรับน้ำหนัก และผลตอบแทนก็จะไม่ปรับตัวลงมากเท่ากองทุนหุ้นจีนที่ลงทุนเฉพาะตลาดใดตลาดหนึ่ง โดย BBLAM มองว่า กองทุนนี้เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนที่อยากจะกระจายความเสี่ยงไปหลายๆ ตลาด

สำหรับปัจจัยบวกของการลงทุนหุ้นจีน ได้แก่ นโยบายจากทางการจีนที่ดูเหมือนจะสนับสนุนตลาดมากขึ้น อย่างเช่นที่ผ่านมา มีความกังวลเรื่องบริษัทจีนที่ไปจดทะเบียนที่ตลาดสหรัฐฯ ที่เรียกว่า ADRs อาจถูกถอนออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ ถ้าบริษัทจีนไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลตามที่สหรัฐฯ กำหนดไว้ติดต่อกัน 3 ปี ซึ่งทำให้ตลาดฮ่องกงถูกเทขายอย่างหนักในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2022

แต่จากความคืบหน้าล่าสุด ทางการจีน นำโดย Liu He รองนายกรัฐมนตรีจีน ก็ออกมาพูดแล้วว่า จีนยังคงสนับสนุนการจดทะเบียนหุ้นในต่างประเทศ และพูดว่า การเจรจากับสหรัฐฯ คืบหน้าในเชิงบวก ทั้งยังเสริมด้วยว่าทั้งสองฝ่ายกำลังเจรจาเพื่อกำหนดแผนความร่วมมือโดยละเอียด ส่วนเรื่องบริษัทเทคฯ ของจีน ทางการจีนก็จะจัดระเบียบบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด

ส่วนปัจจัยเสี่ยงของการลงทุนหุ้นจีน คือ นโยบายเรื่อง Zero Covid ในเซี่ยงไฮ้ ว่าจะยืดยาวหรือไม่ รวมถึงผลประกอบการของบริษัทที่ยังคงไม่ได้ปรับตัวดีขึ้น หรือเติบโตในไตรมาสนี้ นักวิเคราะห์มีการปรับประมาณการลงจากปัจจัยเรื่องล็อคดาวน์

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ BBLAM จึงแนะนำ slightly overweight จีน แปลว่า หาจังหวะซื้อหุ้นจีน เนื่องจากมูลค่าหุ้นจีนที่ยังไม่แพง และเงินยังไหลเข้าไปลงทุนในจีนอยู่

หากมองที่ค่า P/E ของหุ้นจีน ณ สิ้นปี 2022 ทั้ง MSCI China และ หุ้นเทคฯ จีน MSCI China Internet อยู่ที่ 9.3 เท่า และ 13.6 เท่า ตามลำดับ ซึ่งค่า P/E นี้อยู่ในระดับต่ำกว่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน หรือ S.D. ย้อนหลัง 5 ปี ถึงเกือบ 2 S.D. และหากพิจารณาดัชนี Hang Seng จะเห็นว่าระดับการเทขาย (oversold) อยู่ในระดับที่เทียบเท่ากับตอนเกิดวิกฤติการเงินปี 2008 แล้ว

  • B-SMEQ

สุดท้ายนี้ เราจะเห็นได้ว่า ยังมีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า ภูมิภาคนี้ก็เป็นผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) และมีความเป็นหุ้นคุณค่ (value) สูง หากนักลงทุนสนใจลงทุนในหุ้นไทย เราก็แนะนำกองทุน B-SMEQ ซึ่งลงทุนในหุ้นไทยขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยอาจจะใช้จังหวะที่หุ้นไทยย่อตัวเพื่อทยอยเข้าสะสมอย่างต่อเนื่องได้