BBLAM Monthly Economic Review – เช็คชีพจรเศรษฐกิจโลก

BBLAM Monthly Economic Review – เช็คชีพจรเศรษฐกิจโลก

สรุปความสัมภาษณ์

ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา

Chief Economist 

BBLAM

นับตั้งแต่เดือนเมษายนจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2022 เราได้รับคำถามจากหลายคนมากว่าจะเกิด Recession หรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ รวมทั้งจะเกิด Crisis หรือวิกฤติเศรษฐกิจรึเปล่า และเศรษฐกิจโลกในเวลานี้อยู่ในภาวะแบบไหน

โดยส่วนตัวมองว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่ผ่านวิกฤติโควิดรอบก่อนเลย เรายังอยู่ในช่วงปลายวิกฤติของปี 2019 และกำลังฟื้นตัว ดังนั้นหากจะเทียบเคียงภาวะเศรษฐกิจโลกกับโรคภัย ก็คือ เศรษฐกิจโลกกำลังอยู่ในช่วง Long Covid

อาการของ Long Covid ก็คือ เหนื่อย หอบ เป็นผื่น ผมร่วง ความจำไม่ค่อยดี อาจปวดข้อปวดกระดูกบ้างเล็กน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่อาการที่รุนแรง แต่เป็นอาการที่น่ารำคาญ ซึ่งถ้าเทียบเคียงกับเศรษฐกิจโลกแล้ว ก็อาจจะเผชิญกับอาการ Long Covid อยู่ คือกำลังเผชิญอาการน่ารำคาญคล้ายๆ กัน คือ เงินเฟ้อสูง การหยุดชะงักในภาคอุปทานทั่วโลกก็ยังมีอยู่ แถมทั่วโลกยังมาทะเลาะกันอีก จึงเกิดภาวะที่เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวได้ไม่เท่ากับปี 2021 พร้อมกันนี้ก็ยังเผชิญความท้าทายด้านนโยบายการเงินอีกด้วย

เมื่อมาเช็คชีพจรเศรษฐกิจโลกของ 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย กับอีก 1 กลุ่มประเทศใหญ่ คือสหภาพยุโรป โดยพิจารณาจากคะแนนเชิงเศรษฐกิจ ที่ใช้เครื่องชี้วัดหลายๆ ตัวมาจัดทำ พบว่า กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งค่อนข้างจะไปด้วยกันในแง่ของการเมือง รวมถึงสิ่งที่ตลาดมองเกี่ยวกับนโยบายการเงิน เริ่มเห็นการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจรายเดือน แม้จะยังไม่แย่ลงจากปี 2021 แต่ก็ถือว่าการเติบโตแผ่วลงจากระดับสูงสุดที่ทำไว้

ส่วนญี่ปุ่นกับอินเดียมีภาพใกล้เคียงกัน คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ค่อยกลับมา

ในส่วนของอินเดียอาจเผชิญกับประเด็นนโยบายการเงินด้วย เพราะเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินเหนือความคาดหมาย มีการจัดประชุมลับปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไป 40 bps หรือ 0.40% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินเดียปรับขึ้นไปเป็น 4.40% แล้ว

สำหรับญี่ปุ่นได้รับแรงกดดันจากการที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินสอดคล้องไปกับประเทศพัฒนาแล้วอีก 2 ประทศ ก็คือ สหรัฐฯ และยุโรป โดยยังคงเดินหน้าทำ QE หรือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแบบเดิม ตัวเลขจึงกระชากออกจากแนวร่วมไปค่อนข้างมาก เพราะเผชิญภาวะเงินเยนอ่อน แล้วยังมีเรื่องกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และการจ้างงานที่ยังดูไม่ดีนักด้วย

เมื่อมาดูที่จีนกับไทย ดูแล้วจีนมีภาษีในเชิงที่เศรษฐกิจลงไปอยู่ในจุดต่ำสุดไปแล้วและขณะนี้กำลังพยายามไต่ระดับขึ้นมา โดยระดมทั้งนโยบายการเงินการคลังทั้งหมด พยายามผ่อนคลายเต็มที่ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งไว้ 5.5% ในปี 2022 ให้ได้ ขณะที่ไทย ถ้าดูไปแล้วกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศทรงตัว แต่มีปัจจัยให้ลุ้นอยู่

หากฉายภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดยดูจากข้อมูลเศรษฐกิจล้วนๆ แล้ว ยุโรปและสหรัฐฯ เศรษฐกิจดูชะลอตัว ส่วนญี่ปุ่นและอินเดีย เศรษฐกิจก็ยังไม่ค่อยมา ขณะที่จีนและไทยเศรษฐกิจทรงตัวและเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวได้บ้างแล้ว

เมื่อมองในมุมของตลาด พบว่า ได้รับแรงกดดันจากคำพูดของ Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหัฐฯ (Fed) พอสมควร เพราะสิ่งที่พูดออกมามีทั้งในโทนลบ (แดง) บวก (เขียว) และกลางๆ (เหลือง) ทำให้มีคนทำการ์ตูนล้อเลียน Fed ว่า ท้ายที่สุดแล้ว Fed ก็ไม่รู้ใช่หรือไม่ว่าตัวเองกำลังจะเดินไปในทิศทางไหน เหมือนกับตาบอดคลำทาง

โดยส่วนตัวมองว่า สิ่งที่เราคิดได้จากคำพูด Fed คือ เราอาจจะนำคำพูดนี้มามองตลาดได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ที่บอกว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 50 bps หรือ 0.50% ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม ซึ่งเรื่องนี้เรามองว่า อาจจะมีความเป็นไปได้สูง แต่หลังจากนั้นแล้วคำพูดของประธาน Fed จากการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2022 ไม่น่าจะมีนัยสำคัญ ดังนั้นครึ่งปีหลังนี้ต้องติดตามต่อ ส่วนครึ่งปีแรกอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อมากที่สุดรวม 1% หรือ ครั้งละ 0.50%

มาดูที่เรื่องของจีน จริงๆ แล้วสัญญาณเศรษฐกิจจีนมาแล้ว แต่ตลาดไม่มาด้วย เพราะตลาดนำเรื่องนโยบาย zero Covid มาเป็นแกนหลักในการมอง ถึงแม้ว่ามีการประชุมนโยบายการเงิน นโยบายการคลัง มีประชุม Politburo ซึ่งเป็นการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน เกี่ยวกับเรื่องนโยบายต่างๆ โดยบอกว่าพร้อมทำทุกอย่างเพื่อที่จะทำให้เป้าหมายเศรษฐกิจเติบโต 5.5% ในปี 2022 เป็นไปได้ มีการผ่อนคลายมาตการด้านอสังหาริมทรัพย์ ลงทุนเพิ่มด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีนโยบายพุ่งเป้าหมายไปยังการบริโภคด้วย

แต่ตลาดก็ยังไม่พึงพอใจเท่าไหร่ เพราะจุดที่จะเป็นตัวตัดสินตลาดจีนคือ ยังปิดประเทศอยู่ ทำให้เกิดการหยุดชะงักในภาคอุปทานทั่วโลกพอสมควร ซึ่งตลาดต้องการให้จีนเปิดประเทศ โดยจีนจะทำได้หรือไม่นั้น ก็ถือเป็นความเสี่ยงต่อการลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกัน

เมื่อกลับมาดูประเทศไทย ในแง่การเมือง ก็เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองพอสมควร โดยนายกรัฐมนตรีพยายามออกมาลดอุณหภูมิการเมือง โดยบอกว่า ยังไม่มีการหารือเรื่องการเลือกตั้งภายในปี 2022 แต่สิ่งที่ดีคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมายืนยันว่า นโยบายการเงินไม่ได้มีออกมาเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อจากฝั่งอุปทาน ซึ่งก็คือ ภาวะที่เงินเฟ้อเกิดจากต้นทุนของสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมัน

หมายความว่า ดอกเบี้ยจัดการกับน้ำมันไม่ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นด้วยกับประเด็นนี้ ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายกำจัดเงินเฟ้อไม่ได้ และยังมีปัจจัยอื่นในแง่ของเศรษฐกิจในประเทศที่ยังต้องดูแลอยู่ หากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไป ภาวะหนี้ครัวเรือนอาจจะแย่ลง

ดังนั้นสิ่งที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ทำ คือ เรื่องในประเทศต้องมาก่อน ดังนั้นนโยบายการเงินของไทย คงจะเห็นตัวเลขอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.50% ไปจนถึงสิ้นปี 2022 ส่วนที่อาจจะมี Upside (แนวโน้มที่จะทำให้ปรับตัวดีขึ้น) ก็คือ การท่องเที่ยว ซึ่งธปท. มองเป้าหมายไว้ที่ 5.6 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งก็ไม่ได้ปรับเป้าหมายขึ้นหรือลงด้วย แต่ถ้านโยบายของรัฐบาลเอื้อให้นักท่องเที่ยวมาได้ง่ายขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวได้รับการปรับประมาณการขึ้นจากเดิม 5.6 ล้านคน ก็จะเป็น Upside ในแง่การท่องเที่ยว ไม่ว่าเราจะรู้สึกหรือไม่ก็ตาม

นอกจากนี้ กรณีที่มีข่าวเข้ามาในตลาดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น เรากำลังพัฒนาวัคซีนขึ้นมาเองอยู่ เราจะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วและเปิดกว้างกับการท่องเที่ยวมากขึ้น ถือเป็นข่าวด้านบวกแบบเบาๆ จะเห็นได้ว่า ตลาดประเทศอื่นปรับฐานลงไปค่อนข้างแรง แต่ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับลดลงแรงขนาดนั้น ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีความน่าดึงดูดใจมากกว่าเมื่อเทียบกับตลาดพัฒนาแล้วในเวลานี้