BF Knowledge Tips: วางแผน Asset Allocation อย่างไรในสภาวะปัจจุบัน

BF Knowledge Tips: วางแผน Asset Allocation อย่างไรในสภาวะปัจจุบัน

 

โดย เสกสรร โตวิวัฒน์ CFP®   BBLAM

ทุกวันนี้การลงทุนยากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ทำให้นักลงทุนกังวล หลายคนเคยได้ยินคำแนะนำในการปรับพอร์ตให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันว่าต้องลดความเสี่ยงถือเงินสดมากขึ้น หรือโยกการลงทุนมาไว้หุ้นหรือกองทุนที่สามารถต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ เช่น กองทุนที่ลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก หุ้นเฮลธ์แคร์ หรือเทคโนโลยีชนิดที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การดำเนินธุรกิจ หรือสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนในปัจจุบัน ส่วนตราสารหนี้ก็ให้ลดการลงทุนในตราสารหนี้อายุยาวๆ ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

หลายคนก็เกิดข้อสงสัยตามมา แล้วแบบนี้พอร์ตการลงทุนที่เราจัดสัดส่วนการลงทุนไว้ ตั้งใจลงทุนระยะยาว เราต้องเปลี่ยนไหม หรือต้องถือกองทุนที่เลือกไว้นั้นต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต้องปรับอะไร

เรื่องนี้ขอให้มองที่วัตถุประสงค์เป็นหลักนะครับ เราเลือกเป้าหมายการลงทุนระยะยาว แน่นอนว่าสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตก็ควรจะเป็นสัดส่วนที่เราเลือกไว้ ไม่อ่อนไหว ขายทิ้ง ซื้อใหม่ ย้ายไปย้ายมาตามความกลัวหรือข่าวสารระยะสั้น ถ้าเราเชื่อว่าสุดท้ายมันจะผ่านไปได้ และพอร์ตที่เราเลือกไว้เหมาะสมแล้วกับการลงทุนระยะยาว การยึดสัดส่วนการลงทุนที่ตั้งใจในระยะยาวยังเป็นหัวใจสำคัญที่ละเลยไม่ได้ เว้นแต่เกิดเหตุที่ทำให้โครงสร้างของผลตอบแทนเป้าหมายที่เราวางไปไว้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อันนั้นก็ถือเป็นข้อยกเว้นเป็นกรณีไป เช่น กิจการหรือหุ้นที่เราเลือกไว้ว่าดี ถูกการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี disrupt จนเกิดความเสียหายไปต่อไม่ได้ หรือไม่น่าสนใจแบบเดิม แบบนี้ก็สามารถเปลี่ยนแปลงการลงทุนได้

แต่เวลาเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบสูงอย่างปัจจุบัน เราอาจจะเปลี่ยนแปลง สินทรัพย์ที่เราลงทุน หรือไส้ในของพอร์ต หรือโยกย้ายได้บ้าง อย่างเช่น ตั้งใจลงทุนหุ้นครึ่งหนึ่ง ตราสารหนี้ครึ่งหนึ่ง  ในส่วนของตราสารหนี้ ถ้าทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นชัดเจน เราอาจโยกย้ายตราสารหนี้บางส่วนจากพอร์ตในกองทุนตราสารหนี้ปกติ หรือตราสารหนี้ระยะยาว มาไว้ตราสารหนี้ระยะสั้นได้ เพื่อลดความผันผวน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องย้ายมาทั้งหมด เพราะก็ต้องเผื่อใจไว้สำหรับความไม่แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิด

แต่ในส่วนของหุ้น เวลาเกิดความกังวล สถานการณ์ความผันผวน คนที่กลัวและลืมวินัยของ asset allocation ก็อาจจะขายทิ้งหุ้น ขายกองทุนหุ้นไปถือเงินสด เพื่ออุ่นใจ แต่การทำแบบนั้นอาจทำให้พอร์ตเราเสียหายได้ เพราะยิ่งผันผวนมาก จะยิ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เวลาที่กลัวมากๆ ก็มักจะเป็นเวลาที่หุ้นตกมากๆ มีข่าวร้ายเต็มไปหมด และนั่นอาจจะเป็นจังหวะที่หุ้น หรือ NAV กองทุนตกไปมากแล้ว ทรงๆ หรือรอเวลาเด้งกลับจนไม่ควรขายทิ้งก็ได้

ดังนั้น ในส่วนของหุ้น อยากให้ลองวิเคราะห์พอร์ตของเราดูว่าเป็นอย่างไร โดยแบ่งพอร์ตหุ้นออกเป็นพอร์ตหลัก คือกองทุนที่มีพื้นฐานดี มีการกระจายความเสี่ยงที่ดีพอ ถือไว้เป็นพอร์ตหลักระยะยาว และพอร์ตเสริมตามที่เราชอบ เราเชื่อมั่นหรือสอดคล้องกับสถานการณ์ ยกตัวอย่างกองทุนในพอร์ตหลักก็เช่นกองทุนที่กระจายความเสี่ยงลงทุนในหุ้นพื้นฐานดีทั่วโลก แบบ B-GLOBAL หรือลงทุนในหุ้นไทยแบบกระจายความเสี่ยงไม่กระจุกตัวในกลุ่มไหนเป็นพิเศษ กองทุนแบบนี้จะไม่ผันผวนมากเท่ากับกองทุนประเภทกลุ่มอุตสาหกรรมหรือมีธีมเฉพาะที่ลงทุนแบบกระจุกตัว

ส่วนพอร์ตเสริมก็เช่นกองทุนที่เราเชื่อมั่นในธีม เช่น สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี สุขภาพ ซึ่งเรายังเชื่อมั่นในระยะยาว แต่ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนไป หรือกองทุนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่นกองทุนที่ลงทุนในกิจการที่สู้กับเงินเฟ้อได้ เช่น กองทุนที่ลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศสำคัญๆ ทั่วโลก อย่าง B-GLOB-INFRA ก็อาจจะเพิ่มน้ำหนักกองทุนเหล่านี้แทนในพอร์ตเสริม แทนกองทุนเดิมบางกองที่ผันผวนมากหรือได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยหรือสงครามที่เกิดขึ้น หรือช่วงผันผวนมากๆ เรากังวลสูง อาจจะลดสัดส่วนกองทุนหุ้นลงมาถือเงินสด เพื่อรอเวลาซื้อกลับได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็น พอร์ตหลักหรือพอร์ตเสริม เช่น 10% แต่ไม่ใช่ขายทิ้งทั้งหมด หรือครึ่งหนึ่ง

การทำแบบนี้จะทำให้เรามีหลักในการลงทุน วินัยเรื่อง Asset Allocation ยังคงอยู่ ยังทำ DCA ต่อไปได้ เพียงแค่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ ในพอร์ตเสริม ซึ่งเมื่อสถานการณ์คลี่คลายพอร์ตของเราก็จะมีโอกาสกลับมาเติบโตได้ โดยไม่เสียหายจากการตัดสินใจผิดพลาดล้มเลิกวินัยที่ตั้งใจไว้