สรุปความสัมภาษณ์
ฐนิตา ตุมราศวิน
ทีม Economic Research
BBLAM
อัปเดตเศรษฐกิจยูโรโซน ญี่ปุ่น และอินเดีย ในเดือนมิ.ย.-ก.ค. 2022
เริ่มกันที่ยูโรโซน ล่าสุดภาพเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลง โดยเมื่อดูที่ดัชนี PMI ของยูโรโซนในเดือนมิ.ย. จะเห็นว่าเริ่มหักหัวลง และปัจจุบัน เริ่มมองว่ามีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยูโรโซนจะชะลอตัว ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้หลังเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยเหตุผลหลักมาจากการที่ยุโรปอาจเผชิญกับภาวะขาดแคลนก๊าซธรรมชาติรุนแรง หากไม่สามารถสะสมสต็อกให้เพียงพอกับความต้องการในช่วงฤดูหนาวได้ทัน เนื่องจากเมื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญในช่วงกลาง คือ รัสเซียได้ลดการส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อ Nordstream 1 มายังยุโรปลดลง จนเหลือแค่ 40% ของ Capacity ทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า เกิดจากปัญหาเชิงเทคนิค ซึ่งหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ก็คงจะทำให้ยุโรปต้องพบกับสถาณการณ์ที่ยากลำบากในฤดูหนาวนี้ ขณะที่ ด้านความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. ก็ปรับตัวลดลงไปที่ -23.6 ใกล้ๆ กับในช่วงที่เกิดการระบาดของ COVID ในปี 2020 โดยมีสาเหตุหลักจากราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญกับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
ด้วยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ แต่ด้วยเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเกิน 8% ทำให้ ECB มีท่าทีจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือนก.ค.นี้ โดยเราคิดว่า ECB น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยก่อน 25bps และดูว่าเศรษฐกิจมีทิศทางเป็นเช่นไร ก่อนจะตัดสินใจว่า จะขึ้นดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ที่ 25bps หรือ 50bps
โดยประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจในช่วงนี้ คือ การปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หลังตลาดคาดว่า ECB จะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยได้ในเดือนก.ค. โดยเฉพาะ Bond Yield ของประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจอ่อนแอกว่า อย่างอิตาลี ที่ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่าเยอรมนี ทำให้ส่วนต่างระหว่าง Bond Yield สองประเทศนี้ ปรับเพิ่มขึ้นจนไปแตะ 2.42% ในช่วงต้นเดือนมิ.ย. ซึ่งดอกเบี้ยที่สูงขึ้นนี้ทำให้ความเสี่ยงวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปเริ่มกลับมาอีกครั้ง ดังนั้น ECB จึงออกมาประกาศว่า จะมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบตรงนี้ และเราคาดว่า รายละเอียดจะมีมากขึ้นในการประชุมเดือนก.ค. ซึ่งถ้านักลงทุนมองว่ามาตรการมีความชัดเจน และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดวิกฤติหนี้ได้ ก็จะส่งผลดีกับตลาดหุ้นยูโรป แต่ในทางกลับกัน นักลงทุนอาจมองว่า มาตรการนี้ลดทอนประสิทธิภาพของการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ เนื่องจากต้องมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลประเทศที่มีหนี้สูงอยู่ ทำให้ยูโรจะยังอ่อนค่า และเงินเฟ้อก็จะยังคงสูงต่อเนื่อง
ด้านสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่น การบริโภคซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ชะลอตัวในเดือนพ.ค. โดย Retail sales หรือยอดค้าปลีก ในเดือนพ.ค. ขยายตัว 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ซึ่งรวมการจับจ่ายเพื่อซื้อทั้งสินค้า และบริการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ -1.9% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลง เนื่องจากอำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดลง หลังราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าสาธารณูปโภคในญี่ปุ่นต่างทยอยปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การบริโภคยังได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวหลังการระบาดของ COVID-19 อยู่ และในภาพรวมผลกระทบจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นของญี่ปุ่นในตอนนี้ ยังไม่สะท้อนลงมาที่การบริโภคอย่างชัดเจน แต่ในระยะข้างหน้า เราคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงพัฒนาการของการใช้จ่ายในประเทศ เนื่องจากจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BoJ อย่างมาก โดยเรายังคงมุมมองว่า BoJ จะยังคงไม่เปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นในปีนี้ นอกเสียจากว่า ค่าเงินเยนจะอ่อนค่ารุนแรงจนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศมีแนวโน้มพุ่งสูงเกิน 2% ไปได้อีก 2-3 ปี ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เรายังมองว่ามีความเป็นไปได้น้อย โดยเงินเยนที่อ่อนค่ายังเป็นปัจจัยกดดันธุรกิจที่ต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และธุรกิจค้าปลีก เนื่องจากไม่สามารถผลักต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคได้มากนัก ขณะที่ ผู้ส่งออกอย่างผู้ผลิตยานยนต์จะเป็นผู้ได้ประโยชน์จากการอ่อนค่าของเยน
ส่วนอินเดีย อย่างที่รู้กันว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น มักจะส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจอินเดีย เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันในสัดส่วนที่สูง ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลมากขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของ FED เองก็ส่งผลให้ต่างชาติมีการเทขายสินทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา เราจึงเห็น flows เงินไหลออกจากอินเดียอย่างต่อเนื่อง และกดดันค่าเงินรูปีให้อ่อนค่าลง ส่งผลให้ทางการอินเดียต้องออกมาตรการมาเพื่อช่วยชะลอการไหลออกของเงิน อย่างการปรับภาษีนำเข้าทองคำเพิ่มขึ้น และการเพิ่มภาษีส่งออกน้ำมัน ซึ่งสะท้อนว่า รัฐบาลมีแนวโน้มจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้ออย่างไม่ลังเล ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนในเชิงนโยบาย ที่อาจทำให้ภาคธุรกิจเผชิญกับความผันผวนได้มากขึ้น ขณะที่ การอ่อนค่าต่อเนื่องของรูปี และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางอินเดีย ก็ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันตลาดอินเดียในช่วงนี้อยู่
กล่าวโดยสรุป ปัจจุบัน เรามองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในยุโรปในช่วงปลายปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่ในขณะเดียวกันยังไม่ได้เป็นภาพที่ว่าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการอ่อนค่าของค่าเงินเยน ทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะคงนโยบายการเงินแบบนี้ไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปี ด้านอินเดีย ทางการมีความพยายามในการชะลอการไหลออกของเงินทุน แต่ในระยะสั้น การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ยังเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดต่อไป ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน และการประชุม BoJ ในเดือนก.ค. นี้