ไชน่า เดลี่ รายงานว่า บริษัท สมาร์ทโฟนจีน รวมถึงกลุ่มธุรกิจยานยนต์ อี-คอมเมิร์ซ และสินค้าอุปโภคบริโภค (เอฟเอ็มซีจี) มองเห็นโอกาสในที่จะเข้าไปใช้เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21เพื่อไปสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก โดย แอนดี้ เจ้า ประธาน นีลเส็น บริษัทวิจัยด้านการตลาด สำนักงานจีน กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนเห็นโอกาสในเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ประชากรวัยหนุ่มสาว เศรษฐกิจโลกเติบโต การมีกำลังใช้จ่าย การใช้ชีวิตท่ามกลางความวุ่นวาย และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้สร้างพฤติกรรมของผู้บริโภครูปแบบใหม่ในตลาดต่างประเทศ สร้างแรงขับเคลื่อนใหม่
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตสมาร์ทโฟนจีนสูงเป็นอันดับ 4 อันดับของการผลิตสมาร์ทโฟนทั่วโลก และสมาร์ทโฟนจีนครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้ จากตัวเลขภาคอุตสาหกรรมพบว่า ยอดส่งออกรถยนต์จีนส่งไปยังประเทศในกลุ่มเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 กว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2017 เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ขณะที่สัดส่วนผู้ใช้งานสังคมออนไลน์ที่สูงขึ้น ก็สร้างโอกาสอันเข้มแข็งให้กับกลุ่มธุรกิจอี-คอมเมิร์ซที่จะออกไปขยายตลาดต่างประเทศ โดยปัจจุบัน เครื่องมือการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนท์) อย่าง วีแชท เพย์ ได้เข้าไปขยายใน 25 ประเทศแล้ว ขณะที่ อาลีเพย์ เข้าไปใน 70 ประเทศ และเจดี เพย์ เข้าไปใน 54 ประเทศ
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์จีน ระหว่างปี 2013-2017 พบว่า ยอดการค้าขายสินค้ากับประเทศในเส้นทางสายไหม สูงถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และยอดการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศสูงถึง 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในช่วงเวลานี้บริษัทจีน ได้จัดตั้ง 75 เขตเศรษฐกิจและการค้าร่วมกับประเทศและภูมิภาคต่างๆ สร้างงานไปกว่า 210,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามก็ยังมีความท้าทายสำคัญเพราะเป็นเพียงแค่บริษัทจำนวนไม่มากในจีนที่ไปประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ระดับนานาชาติได้
“สำหรับบริษัทจีนที่จะไปตลาดโลก พวกเขาไม่สามารถให้ความสำคัญแค่คุณภาพสินค้าเรื่องเดียวได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องบริการหลังการขายด้วย” จาง เจียงผิง ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยเศรษฐกิจภูมิภาค ประจำกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวไว้