โดย ดร.มิ่งขวัญ ทองพฤกษา Chief Economist, BBLAM
การประชุมนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC) ครั้งล่าสุด ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ส่งสัญญาณหนักหน่วงว่า
มื้อนี้ ต้องเอาเงินเฟ้อลงให้ได้ แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสู่ขิตก็ยอมแลก
เล่นเอาหลายๆ ประเทศอกสั่นขวัญแขวนค่ะ
เพราะไม่ว่า Fed จะสามารถพิชิตภารกิจนี้ได้ไหม แต่ที่แน่ๆ การที่ Fed ดีดนิ้วหนึ่งครั้ง เท่ากับ น็อครอบธนาคารกลางอื่นไปแล้วสามรอบ
ก็ Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 75 ตัง ทั้งที่ประเทศอื่นปรับขึ้นครั้งละ 25 ตัง และเมื่อ Fed มีความมุ่งมั่นเช่นนี้
ดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็ดีดนำประเทศชาติบ้านอื่นให้ส่วนต่างระหว่างกันกว้างขึ้นไปอีก
น็อครอบประเทศอื่นไปหลายรอบสนามเลย
เดือดร้อนญี่ปุ่น ต้องออกมาตรการมาป้องกันค่าเงินเยนที่อ่อนสุดโต่ง และเมื่อมีคนหนึ่งทำ อีกคนต้องทำตาม นั่นคือ เวียดนาม และประเทศกลุ่ม EM อื่นๆ ตามๆ กันมา
เลยได้รับคำถามว่า จากนี้ไป ต่อไปจะมีประเด็นด้านค่าเงินอะไรให้ติดตามบ้าง
ส่วนตัว มองว่า เราจะเริ่มเห็นธนาคารกลางประเทศต่างๆ (หมายถึง ธนาคารกลางประเทศอื่นที่ไม่ใช่ Fed) ทยอยออกมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพของค่าเงินดังนี้ค่ะ
- ข้อแรก ธนาคารกลางอาจจะขอความร่วมมือผู้ส่งออกอย่าเพิ่งแลกดอลลาร์ฯ ให้นำรายได้ส่งออกที่ได้มา มาฝากไว้ในบัญชีที่เราเรียกว่า Foreign Currency Deposit หรือ FCD ก่อนสักระยะเวลาหนึ่ง
- ข้อสอง ธนาคารกลางอาจจะขอให้ผู้นำเข้าชำระสินค้าด้วยค่าเงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์ฯ เพื่อลดแรงกดดันความต้องการของดอลลาร์ฯ ไปก่อน เช่น ถ้าค้ากับจีนก็จ่ายหยวน อย่าจ่ายดอลลาร์ฯ เป็นต้น
- ข้อสาม ธนาคารกลางอาจจะนำเกณฑ์ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาพิจารณาใหม่ เช่น แต่เดิม จากที่เคยลดหย่อนเกณฑ์การนำเงินออกนอกประเทศได้ง่าย ก็อาจจะลดความใจดีลงและอาจจะกำหนดเงื่อนไขการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่รัดกุมมากขึ้น เพื่อไม่ให้นักลงทุนเอา Local Currencies ไปแลกดอลลาร์ฯ แล้วออกไปลงทุนต่างประเทศ
- ข้อสี่ ธนาคารกลางอาจจะขอความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐบาลว่า ช่วยให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน FDI เพื่อจะได้มี Flow ของเงินดอลลาร์ฯ เข้ามาแบบอยู่นานๆ
- ข้อห้า ถ้าบังคับสี่ข้อข้างต้นไม่ได้ ก็อาจจะกลับไปทำ Capital Control กล่าวคือ หากมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ ก็อาจจะกำหนดให้ก็จะให้ฝากเงินไว้ในประเทศก่อน เช่น อาจจะให้ฝากเงินไว้สัก 30% แล้วที่เหลืออีก 70% จึงจะสามารถลงทุนได้
- ข้อหก ถ้าทำห้าข้อไม่ได้จริงๆ ธนาคารกลางอาจจะต้องใช้กลไกด้านนโยบายการเงินในช่องทางของการป้องกันค่าเงินผ่านการใช้ทุนสำรองฯ หรืออาจจะจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย อาจารย์ที่ปรึกษาสมัยเรียนปริญญาเอก แกเคยเล่าให้ฟังว่า ธนาคารกลางส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มตลาดเกิดใหม่ที่ใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน แต่เอาเข้าจริงก็ต้องบริหารเสถียรภาพของค่าเงินเช่นกัน ตราบใดก็ตามรายได้ของหลายๆ ประเทศมาจากการส่งออกนำเข้า จะไม่บริหารค่าเงินเลยคงเป็นไปได้ยาก แต่การป้องกันค่าเงินมากไปก็ไม่ใช่เรื่องดี ใครที่ทันยุค 90s คงจะจำมหากาพย์สงครามค่าเงินกันได้
ประเด็นด้านค่าเงิน ถือว่า เป็นประเด็นเชิงเศรษฐกิจมหภาคที่นักลงทุนจะต้องให้ความสนใจค่อนข้างมาก หากเทียบกับประเด็นเรื่องเงินเฟ้อ เศรษฐกิจโตช้า ที่ก็สำคัญ แต่เมื่อมีประเด็นเรื่องค่าเงินขึ้นมา เรื่องอื่นๆ ก็ดูจะเบาไปเลย ส่วนตัวจึงมองว่า นักลงทุนควรให้ความระมัดระวังและนำประเด็นด้านค่าเงินเข้ามาประมวลผลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนในช่วงนี้ด้วยค่ะ