กฤษณะ ศรีนิวาสัน ผู้อำนวยการ แผนกเอเชียและแปซิฟิกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) กล่าวว่า นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางเอเชียส่วนใหญ่ยังต้องรัดกุมและเข้มงวดต่อไป เนื่องจาก เงินเฟ้อสูงเกินเป้าหมาย และสกุลเงินอ่อนค่าลง จากแรงหนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา
สกุลเงินเอเชียจำนวนมากอ่อนค่าลง “ค่อนข้างมาก” เพราะค่าเงินสหรัฐฯ ตึงตัว นำไปสู่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น ผลักดันให้ต้นทุนการนำเข้าสำหรับประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
กฤษณะ ประเมินว่า เงินเฟ้อจะถึงจุดสูงสุดภายในสิ้นปี 2565 และการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยนเงินจำนวนมาก จะเป็นฉนวนให้อัตราเงินเฟ้อสูงและอยู่นานขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ทั่วโลกขยับอัตราดอกเบี้ยอย่างเข้มข้น เราจึงต้องการให้ยกระดับนโยบายการเงินเอเชียให้เข้มงวดเร็วขึ้น
“ปัจจัยเรื่องค่าเงินและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางการเงินในประเทศแถบเอเชีย ซึ่งมีหนี้สินสูง และขณะนี้ เอเชียเป็นลูกหนี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว และหลายประเทศมีความเสี่ยงสูงที่จะมีปัญหาหนี้สิน”
ด้าน Sanjaya Panth รองผู้อำนวยการ แผนกเอเชียและแปซิฟิกของ IMF เปิดเผยกับรอยเตอร์ วานนี้ (13 ตุลาคม 2565) ว่า หนี้ที่เพิ่มขึ้นของเอเชียส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศจีน แต่ยังเห็นได้ในประเทศเศรษฐกิจอื่นๆ
“เราไม่สามารถตัดเรื่องความตึงเครียดในบางตลาดออกได้ แต่สถานะการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งในบางประเทศทำให้เราสบายใจ โดยเฉพาะประเทศที่หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ มีทุนสำรองสูงขึ้น และระบบการเงินที่ยืดหยุ่น”
ที่มา: รอยเตอร์