คริสตาลินา จอร์เจียวา กรรมการจัดการ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ส่งสัญญาณว่า ประเทศในเอเชียมีความเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเรียกร้องให้หน่วยงานกำหนดนโยบายในแต่ละประเทศเสริมสร้างกันชนสำหรับแรงกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน นายมาซัตสึกุ อาซาคาวะ ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของเอเชียตื่นตัวต่อสัญญาณกระแสเงินทุนไหลออกแบบฉับพลัน จากผลพวงของกรณีที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบต่อเนื่อง
“เราเห็นความเสี่ยงจากการคุมเข้มนโยบายการเงินในเชิงรุกของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออกแบบฉับพลัน หรือเงินอ่อนค่าอย่างหนัก” นายอาซาคาวะ กล่าวผ่านระบบทางไกลต่อที่ประชุมอาเซียน+3 ณ ประเทศสิงคโปร์
จอร์เจียวา กล่าวต่อว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จะเป็นกลุ่มที่มีความสดใสมากที่สุดในเศรษฐกิจโลก โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะอยู่ที่ 5% ในปีนี้ และลดลงเล็กน้อยในปี 2566 อย่างไรก็ตาม จอร์เจียวายังเตือนว่า แนวโน้มยังมีความไม่แน่นอน และถูกกดดันด้วยความเสี่ยง เช่น ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก และการเติบโตในจีนที่ชะลอตัวลง
“อีกปัจจัยที่สร้างความท้าทายไปทั่วโลก คือ เงินเฟ้อ แม้คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อเอเชียจะเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 4% ในปีนี้ แต่แรงกดดันเงินเฟ้อในภูมิภาคดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ”จอร์เจียวา กล่าว พร้อมกับยังระบุว่า ไม่สามารถรู้ได้ว่า แรงกดดันนี้จะอยู่ไปอีกนานแค่ไหน และจะมีแรงกดดันใหม่เข้ามาอีกหรือไม่ แต่ทั่วโลกจำเป็นต้องเสริมสร้างกันชนไว้ และมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือทางการเงิน
ที่มา: รอยเตอร์