ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เรียกประชุมฉุกเฉินในวันนี้ เพื่อทบทวนและกำหนดอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าและอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน แต่เป็นไปได้ว่า การปิดเอสวีบีเมื่อวันศุกร์ ทำให้เฟดต้องเร่งประชุมด่วน
เฟด และบรรษัทรับประกันเงินฝากกลาง (เอฟดีไอซี) และผู้บริหารธนาคารกำลังหารือกันถึงเครื่องมือพิเศษชุดใหม่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและช่วยสกัดความตื่นตระหนก
เอสวีบีเป็นธนาคารใหญ่สุดที่ล้มนับตั้งแต่วิกฤติการเงินปี 2551 สร้างผลสะเทือนไปทั่วระบบธนาคาร เงินฝากหลายพันล้านดอลลาร์ที่ไม่ได้รับการค้ำประกันจะเป็นอย่างไร ต้องรอผลการประชุมในวันจันทร์นี้ (13 มี.ค. 2566)
ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลภาคการเงินแคลิฟอร์เนีย มีคำสั่งปิด เอสวีบี และได้แต่งตั้งบรรษัทค้ำประกันเงินฝากกลาง (เอฟดีไอซี) เป็นผู้รับโอนสินทรัพย์
โดยเอฟดีไอซี ระบุว่า ผู้ฝากเงินที่ได้รับการค้ำประกันทุกคนจะเข้าถึงเงินฝากที่ค้ำประกันได้ทั้งหมดไม่เกินเช้าวันจันทร์นี้ แต่ 89% ของเงินฝาก 1.75 แสนล้านดอลลาร์ไม่ได้รับการค้ำประกันเมื่อสิ้นปี 2565 และยังไม่ทราบชะตากรรม
เกร็ก เบคเกอร์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอ เอสวีบี ไฟแนนเชียล ส่งสารผ่านวีดิโอไปยังพนักงาน 48 ชั่วโมงก่อนแบงก์ล้ม โดยยอมรับว่า “เป็นความยากลำบากอย่างไม่น่าเชื่อ”
ปัญหาที่เกิดกับเอสวีบี เน้นย้ำถึงการที่เฟดและธนาคารกลางชาติอื่นๆ ต่อสู้เงินเฟ้อด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สร้างความเสี่ยงในตลาด ความกังวลกำลังเล่นงานภาคธนาคารอย่างมาก
จากการคำนวณของรอยเตอร์ ช่วงสองวันนับถึงวันศุกร์ มูลค่าตลาดของธนาคารสหรัฐหายไปกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ และธนาคารยุโรปหายไปราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์จำนวนหนึ่งคาดการณ์ว่า ความเสียหายในภาคธนาคารจะมีมาอีก เมื่อความกังวลเรื่องความเสี่ยงที่ซุกซ่อนอยู่ในภาคธนาคารและการขึ้นอัตราดอกเบี้ยกระจายไปทั่ว
รอยเตอร์สรุปว่า ปฐมบทเอสวีบีล่มอยู่ที่บรรยากาศการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเป็นเหตุให้การนำหุ้นออกขายต่อสาธารณะครั้งแรก หรือไอพีโอของสตาร์ทอัพหลายแห่งต้องหมดไป การระดมทุนนอกตลาดแพงขึ้น ลูกค้าเอสวีบีบางรายเริ่มถอนเงินออก และเพื่อหาเงินมาให้ลูกค้าเอสวีบีต้องขายตราสารหนี้ 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรกระทรวงการคลัง และธนาคารจะขายหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิแปลงสภาพ 2.25 พันล้านดอลลาร์เพื่อมาปิดช่องโหว่เงินทุนที่หายไป แต่เมื่อราคาหุ้นดิ่งเอาไม่อยู่ การระดมทุนจึงเป็นไปไม่ได้ โดยเอสวีบีพยายามมองหาทางเลือกอื่น เช่น ขายกิจการ จนกระทั่งคณะกรรมการกำกับดูแลเข้ามาจัดการปิดธนาคาร
สองวันก่อนเกิดเหตุกับเอสวีบี ซิลเวอร์เกต แคปิตอล ผู้ปล่อยสินเชื่อรายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ประกาศว่า บริษัทจะยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) เพื่อชำระหนี้
ซิลเวอร์เกต แบงก์ถือเป็น 1 ใน 2 ธนาคารหลักสำหรับบริษัทคริปโทฯ ร่วมกับซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งอยู่ในนิวยอร์ก มีสินทรัพย์ประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับซิกเนเจอร์ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1.14 แสนล้านดอลลาร์
โดยซิลเวอร์เกตเชื่อว่าการระงับการดำเนินงาน และทำการชำระหนี้ถือเป็นหนทางที่ดีที่สุด พร้อมระบุว่าเงินฝากทั้งหมดจะถูกชำระคืนแบบเต็มจำนวนให้กับลูกค้า
ไปอีกราย! ทางการสหรัฐสั่งปิด Signature Bank ป้องวิกฤติการเงินลาม ล่าสุด ‘เฟด’ ประกาศแผนช่วยเหลือแล้ว
.ปัญหาภาคการเงินในสหรัฐฯ ดูเหมือนจะเริ่มบานปลายออกไปมากขึ้น ล่าสุดหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ ได้สั่งปิดธนาคารเพิ่มอีกแห่ง คือ Signature Bank ที่อยู่ในนิวยอร์ก โดย Signature Bank เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี ซึ่งคำสั่งปิด Signature Bank ในครั้งนี้เพื่อป้องกันวิกฤติการเงินในภาคธนาคารไม่ให้ลุกลามออกไป
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ประกาศว่า จะจัดตั้งโครงการเงินกู้ ‘Bank Term Funding Program’ เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงินต่างๆ ที่อาจโดนผลกระทบจากการปิดกิจการของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ (SVB)
ขณะที่ กระทรวงการคลัง สหรัฐฯ ย้ำว่า ประชาชนที่ฝากเงินไว้กับ SVB และ Signature Bank ที่เพิ่งถูกสั่งปิดไปล่าสุด จะสามารถเข้าถึงเงินฝากของตัวเองได้เต็มจำนวน โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันนี้ (13 มี.ค.) เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด และ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหรัฐฯ และ มาร์ติน กรุนเบิร์ก ประธานบรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) ออกแถลงการณ์ร่วมกันในเช้าวันนี้ (13มี.ค.) ตามเวลาประเทศไทย ระบุว่า ทางการได้ตัดสินใจใช้นโยบายที่เด็ดขาด เพื่อป้องกันเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบธนาคาร
สำหรับโครงการ Bank Term Funding Program จะมีการเสนอเงินกู้อายุ 1 ปี ให้กับธนาคารพาณิชย์ สถาบันรับฝากเงิน เครดิตยูเนี่ยน และสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ โดยที่สถาบันการเงินซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่จะกู้เงินจากโครงการนี้ได้ จะถูกขอให้ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS)
ขณะที่ เฟด ระบุในแถลงการณ์ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับระบบธนาคารในการป้องกันเงินฝาก และสร้างความเชื่อมั่นว่าจะจัดหาเงินสดและสินเชื่อให้ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เฟด ยังย้ำด้วยว่า พร้อมจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องในระบบ หากพบว่าปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงมากขึ้น