เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า หัวหน้ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวว่า ขณะนี้มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินเพิ่มขึ้น พร้อมเรียกร้องให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการดำเนินการของประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วได้ทำให้ความเครียดของตลาดสงบลง
กรรมการผู้จัดการ IMF ย้ำมุมมองว่า ปี 2566 จะเป็นอีกปีที่ท้าทาย โดยการเติบโตทั่วโลกจะชะลอตัวลงเหลือต่ำกว่า 3% เนื่องจากผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19 สงครามในยูเครน และการเข้มงวดทางการเงิน แม้จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปี 2567 แต่การเติบโตทั่วโลกจะยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ 3.8% และแนวโน้มโดยรวมยังคงอ่อนแอ
IMF ซึ่งคาดการณ์การเติบโตทั่วโลกไว้ที่ 2.9% ในปี 2566 โดยจะมีการออกการคาดการณ์ใหม่ในเดือนเมษายน
คริสตาลินา จอร์จีวา กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตอบสนองอย่างเด็ดขาดต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน หลังจากการล่มสลายของธนาคาร แต่ถึงกระนั้นก็ยังต้องมีการเฝ้าระวัง
“ดังนั้น เรายังคงติดตามการพัฒนาอย่างใกล้ชิดและกำลังประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพทางการเงินโลก” พร้อมเสริมว่า IMF ให้ความสนใจอย่างใกล้ชิดกับประเทศที่เปราะบางที่สุด โดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำ แต่มีระดับของหนี้สูง
นอกจากนี้ ยังเตือนด้วยว่าการกระจายตัวของเศรษฐกิจทางภูมิศาสตร์ อาจทำให้โลกแตกออกเป็น 2 กลุ่มทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกที่เป็นอันตราย ซึ่งจะทำให้ทุกคนยากจนลงและมีความปลอดภัยน้อยลง
คริสตาลินา จอร์จีวา กล่าวว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน โดยคาดการณ์การเติบโตของ GDP ที่ 5.2% ในปี 2566 ให้ความหวังแก่เศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าจีนจะมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการเติบโตทั่วโลกในปี 2566 โดย IMF ประเมินว่าทุกๆ 1 จุดที่เพิ่มขึ้นของการเติบโตของจีดีพีในจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจอื่น ๆ ในเอเชียเพิ่มขึ้น 0.3 จุด
ทั้งนี้ ได้เรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายในจีนทำงานเพื่อเพิ่มผลิตภาพและปรับสมดุลเศรษฐกิจให้ห่างไกลจากการลงทุน และมุ่งสู่การเติบโตที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคที่คงทนมากขึ้น รวมถึงผ่านการปฏิรูปที่มุ่งเน้นตลาด เพื่อยกระดับสนามแข่งขันระหว่างภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปดังกล่าวสามารถเพิ่ม GDP ที่แท้จริงได้มากถึง 2.5% ภายในปี 2570 และประมาณ 18% ภายในปี 2580