‘อีลอน มัสก์’ เยือนจีน สานต่อโครงการลงทุนอภิมหาโปรเจ็คท์

‘อีลอน มัสก์’ เยือนจีน สานต่อโครงการลงทุนอภิมหาโปรเจ็คท์

อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีโลก ซีอีโอ บริษัทเทสลา เดินทางเยือนจีนอีกครั้ง พร้อมประกาศเจตจำนง เพิ่มการลงทุนด้านตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในจีน เดินหน้าโรงงานขนาดใหญ่ผลิตแบตเตอรี่ที่เซี่ยงไฮ้

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วันนี้ (31 พ.ค.) ระบุ นายฉิน กัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน ได้ให้การต้อนรับ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจ และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของ บริษัทเทสลา ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลก ซึ่งกำลังเดินทางเยือนจีน เริ่มตั้งแต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (30 พ.ค.) โดยครั้งนี้ นับเป็นการเยือนจีนครั้งแรกของนายมัสก์ในรอบกว่า 3 ปี หรือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่ผ่านพ้นการแพร่ระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั่นเอง

กระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ เกี่ยวกับการพบหารือครั้งนี้ว่า ซีอีโอของเทสลามีความมุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจในจีน และยังเน้นย้ำว่า เทสลาไม่เห็นด้วยกับการใช้นโยบายแบ่งแยกทางธุรกิจ ขณะที่ นายฉินกล่าวกับนายมัสก์ว่า รัฐบาลปักกิ่งยินดีสร้างเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ให้มีความเป็นมิตร และมุ่งเน้นแนวคิดกลไกตลาดตามหลักนิติธรรมสำหรับบริษัทต่างชาติทุกราย

ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดยานยนต์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของเทสลาด้วย โดยบริษัทประกาศเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมาว่า มีโครงการลงทุนเตรียมสร้างโรงงานแห่งที่สองในจีน โดยจะยังคงตั้งอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ และมีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่สองของปี 2567 ตั้งเป้าผลิตแบตเตอรี่เมกะแพ็ก (Megapack) หรือแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ให้ได้ 10,000 หน่วยต่อปี หรือเทียบเท่าการกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 40 กิกะวัตต์ชั่วโมง และจะส่งขายไปทั่วโลก

โรงงานขนาดใหญ่ของเทสลาในเมืองเซี่ยงไฮ้

รายงานข่าว ระบุว่า โรงงานแห่งใหม่ในเซี่ยงไฮ้จะช่วยให้เทสลาสามารถเพิ่มกำลังผลิต และลดต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเมกะแพ็ก เพื่อตอบสนองต่อความต้องการกักเก็บพลังงานที่เพิ่มสูง ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

ถึงแม้เทสลาจะมีรายได้ส่วนใหญ่จากการขายรถยนต์ไฟฟ้า ทว่า มหาเศรษฐี อีลอน มัสก์ ก็ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะขยายธุรกิจด้านพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ให้เติบโตได้พอๆ กัน

ปัจจุบัน เทสลามีโรงงานผลิตแบตเตอรี่เมกะแพ็ค อยู่ที่เมืองลาธร็อป ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถผลิตแบตเตอรี่ประเภทนี้ได้ราวๆ 10,000 ชุดต่อปี

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว (2565) เทสลายังมีแผนจะขยายโรงงานกิกะแฟคทอรี (Gigafactory) ในนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งที่นี่ คือ โรงงานแห่งแรกของเทสลานอกประเทศสหรัฐอเมริกา (ก่อสร้างขึ้นในปี 2562 เพื่อผลิตรถยนต์เทสลารุ่นโมเดล 3)  และถือเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ของเทสลาที่มีกำลังผลิตสูงที่สุด โดยบริษัทตั้งเป้าผลิตรถเพิ่มให้ได้ถึง 450,000 คันต่อปี

สานสัมพันธ์ได้ดีกว่าภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างนายมัสก์กับรัฐบาลปักกิ่ง ได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิดมาตลอดจากรัฐบาลวอชิงตัน โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ เคยกล่าวว่า “เรื่องนี้ควรค่าแก่การตรวจสอบ” ซึ่งนางเหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งยินดีต้อนรับผู้บริหารบริษัทเอกชนจากต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจ เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัทนั้นๆ กับรัฐบาลจีน

สำหรับการเยือนจีนของนายมัสก์ครั้งนี้ แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศจีน ระบุว่า รัฐมนตรีฉิน กล่าวกับนายมัสก์ว่า “เราจำเป็นต้องรักษาพวงมาลัย (รถ) ให้มุ่งไปในทิศทางที่ถูกต้องของการเคารพซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย” นอกจากนี้ ยังกล่าวในเชิงเปรียบเทียบด้วยว่า “ทั้งสองประเทศควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ที่เป็นอันตราย”

นายอีลอน มัสก์ เยือนจีนครั้งนี้ ในขณะที่รัฐบาลจีนกำลังพยายามฟื้นฟูการลงทุนจากต่างชาติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัวลง แม้ที่ผ่านมา บริษัทต่างชาติหลายรายยอมรับว่า พวกตนเผชิญการคุกคามจากเจ้าหน้าที่จีน ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ที่บาดหมางระหว่างรัฐบาลจีนกับสหรัฐในหลายประเด็น ก็ดูจะไม่ช่วยส่งเสริมการค้า-การลงทุนของภาคเอกชนมากนัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีฉิน ยืนยันว่า จีนจะ “เปิดรับ สนับสนุน และสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจระหว่างประเทศ” ที่อยู่บนพื้นฐานทางกฎหมายและกลไกตลาด และยังย้ำด้วยว่า การพัฒนาของจีนคือโอกาสสำหรับบริษัทต่างๆ ทั่วโลก

ปัจจุบัน ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของยอดขายรถประเภทนี้ทั่วโลก ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีนกล่าวว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของจีนยังสามารถเติบโตได้อีกมาก

ในส่วนของบริษัทเทสลานั้น ได้เริ่มเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในจีน ตั้งแต่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว (ปี 2562) หลังจากที่ทางการจีนผ่อนคลายกฎเกณฑ์ควบคุม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและยกระดับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าของจีนเอง

แถลงการณ์ของจีน ระบุว่า นายมัสก์เห็นด้วยว่า เทสลาต้องการขยายธุรกิจในจีน และเขายังต่อต้านแนวคิดการกระจายตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเป็นหลายตลาดโดยที่ไม่มีสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีเพียงพอ

ที่มา: รอยเตอร์