ธนาคารขนาดใหญ่ของจีนหลายแห่งได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในสกุลเงินหยวน เมื่อวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) เพื่อเป็นการลดแรงกดดันต่ออัตราการทำกำไร และเป็นการลดต้นทุนการกู้ยืม ซึ่งช่วยให้ภาคธุรกิจการเงินและเศรษฐกิจจีนในวงกว้างมีความผ่อนคลายมากขึ้น
ธนาคารอินดัสเตรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล แบงก์ ออฟ ไชนา ลิมิเต็ด (ICBC) ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งประเทศจีนแบงก์ ออฟ ไชน่า และธนาคารการก่อสร้างจีน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ของแต่ละธนาคารทั้งหมดนี้ ระบุว่า ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมีผลตั้งแต่วันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) เป็นต้นไป
ธนาคารของรัฐเหล่านี้ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกระแสรายวันลง 0.05% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 ปี และ 5 ปี ลง 0.15% ซึ่งเป็นการปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ภายในรอบ 1 ปี ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งก่อนเกิดขึ้นในเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว
นาย Gary Ng นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสเอเชียแปซิฟิกของบริษัท Natixis กล่าวว่า “การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะผลักดันการออมไปสู่การบริโภคและการลงทุนและผ่อนคลายแรงกดดันต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคาร ซึ่งเป็นการเปิดประตูสำหรับมาตรการกระตุ้นทางการเงินที่เพิ่มเติมเข้ามามากขึ้น
นาย Gary Ng กล่าวว่า เขาคาดว่าจะมีการปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองที่กำหนดโดยธนาคารกลาง (RRR) ลงจำนวน 0.5% ในอีกไม่ช้านี้ เพื่อสนับสนุนการออกพันธบัตรของรัฐบาลท้องถิ่น แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) เพิ่มเติม จะเกิดขึ้นเพียงในกรณีที่ข้อมูลทางเศรษฐกิจ หรือความเสี่ยงทางการเงินที่ทรุดตัวลงจนถึงระดับที่ทำให้เศรษฐกิจจีนไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ 5%
จีนได้ปรับลดอัตราส่วนเงินสำรองที่กำหนดโดยธนาคารกลาง (RRR) ในเดือน มี.ค.ปีนี้ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐาน (MLF) ไม่เปลี่ยนแปลงในปีนี้ ขณะที่ ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ กว้างมากขึ้น ทำให้จำกัดขอบเขตในการผ่อนคลายนโยบายการเงินขนาดใหญ่
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของธนาคารหลักของรัฐบาลจีนหลายแห่งได้หดตัวลง ทำให้เกิดแรงกดดันในการลดต้นทุนการกู้ยืม (อัตราดอกเบี้ย) ตามมาสำหรับบุคคลแต่ละคนทั่วไปและภาคธุรกิจต่างๆ เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ และเนื่องจากความต้องการสินเชื่อยังคงมีน้อย
เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ แต่สูญเสียแรงกระตุ้นขับเคลื่อนในช่วงแรกของไตรมาสที่ 2 ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับการส่งออกที่ยังไม่ดีนัก รวมถึงตลาดบ้านที่ซบเซาและอัตราการว่างงานที่สูง
บุคคลในแวดวงการเงินของจีนกล่าว เมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ว่า หน่วยงานด้านกฎระเบียบที่ดูแลโดยธนาคารกลางของจีนได้เรียกร้องให้ธนาคารผู้ปล่อยกู้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ลงอีกด้วย
ด้านนักวิเคราะห์จากโนมูระ กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วยทำให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารดีขึ้น และเป็นการเตรียมการสำหรับธนาคารกลางจีน เพื่อที่จะลดอัตราดอกเบี้ยประเภทอื่นๆ ลงอีกด้วย โดยนาย Ting Lu หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระและทีมงานระบุในรายงานว่า “เราเชื่อว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารจะส่งสัญญาณที่แข็งแรงว่า ธนาคารกลางจีนกำลังเตรียมการสำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มาตรฐาน (MLF) เพื่อที่จะชี้นำการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) ลงอีกด้วย”
อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลาง หรือ MLF ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องการสภาพคล่อง จะถึงกำหนดประกาศในวันที่ 15 มิ.ย.นี้ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดี (LPR) จะถึงกำหนดประกาศวันที่ 20 มิ.ย.นี้
ธนาคารกลางจีน (PBOC) ไม่ได้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยทั้ง MLF และ LPR มานานกว่า 9 เดือนแล้ว อัตราดอกเบี้ย MLF 1 ปีอยู่ที่ 2.75% ในเดือน พ.ค. ขณะที่อัตราดอกเบี้ย LPR 1 ปีอยู่ที่ 3.65% และอัตราดอกเบี้ย LPR 5 ปีอยู่ที่ 4.3%
ที่มา: รอยเตอร์ / ซีเอ็นบีซี