องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียจะก้าวข้ามสาธารณรัฐประชาชนจีนในปีนี้ และปีถัดไป
รายงานแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดของ OECD ระบุว่า อินเดีย จีน และอินโดนีเซีย จะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี สูงเป็นอันดับต้นๆ ในปี 2566 และ 2567 โดยทั่วโลกคาดว่าจะเห็นการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7% ปีนี้ ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยของโลกที่ช้าที่สุดเป็นอันดับสอง นับตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในช่วง พ.ศ. 2550–2551 หากไม่รวมปี 2563 ที่เกิดสถานการณ์โควิดระบาด
Clare Lombardelli หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ OECD ระบุว่า ราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาคอขวดที่ผ่อนคลาย รวมถึงการเปิดประเทศของจีน ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง และการเงินของครัวเรือนที่คงตัว ล้วนแล้วแต่ส่งผลบวกต่อคาดการณ์การฟื้นตัว
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวจะยังอ่อนแอหากเทียบกับการเติบโตเฉลี่ยของโลกในปีอื่นๆ พร้อมกันนั้นยังกล่าวเพิ่มด้วยว่า ผู้กำหนดนโยบายการเงินจะต้องเผชิญกับหนทางที่ยากลำบาก
OECD คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียในปีนี้จะอยู่ที่ 6% ส่วนจีนจะเห็นการเติบโต 5.4% และ 4.7% สำหรับอินโดนีเซีย ส่วนในปี 2567 นั้นก็จะยังเป็นสามประเทศนี้ที่มีการเติบโตเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัว 7.0% ส่วนจีน และอินโดนีเซียจะเติบโต 5.1% ในขณะที่ ทั่วโลกจะเติบโต 2.9%
อินเดียจะยังคงได้รับแรงส่งจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2565 อย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากที่ผลผลิตทางการเกษตร และการลงทุนจากภาครัฐสูงเกินคาด OECD ยังระบุว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 จะช่วยทำให้การใช้จ่ายจากครัวเรือนฟื้นตัว นอกจากนั้นแล้วยังมองว่าธนาคารกลางอินเดียจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยช่วงกลางปี 2567
รายงานยังคาดการณ์ว่า ประเทศที่อยู่ในการสำรวจของ OECD จะเห็นอัตราเฉลี่ยเงินเฟ้อที่ลดลงมาอยู่ที่ 6.6% ในปีนี้ จากค่าเฉลี่ยสูงสุดที่ 9.4% ของปีก่อนหน้า นอกจากนั้นแล้วยังคาดว่า สหราชอาณาจักรจะมีอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในปีนี้ โดยจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.9% และในกลุ่มประเทศที่ OECD ทำการวิเคราะห์อัตราเงินเฟ้อ อาร์เจนตินาและตุรกี จะเป็นสองประเทศที่มีเงินเฟ้อสูงกว่าประเทศอื่น ๆ
OECD ยังเตือนว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลกนั้นยังคงมีความเปราะบาง จากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งยังคงมีความเข้มงวดกับนโยบายการเงินอยู่ ซึ่งจะส่งผลลบต่อตลาดการเงิน โดยความกังวลหลักๆ นั้นก็คือ ความเปราะบางที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในกลุ่มธนาคาร และจะทำให้ตลาดสูญเสียความมั่นใจ
ในขณะที่ การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกอาจชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่เด่นสุด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในทวีปทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยการเปิดเมืองของจีนจะยิ่งช่วยสนับสนุนอุปสงค์อย่างกว้างขวาง
ส่วนญี่ปุ่นนั้น OECD คาดว่า จะเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.3% ผลักดันโดยการสนับสนุนทางนโยบายการเงินในขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นไปแตะ 2%
นักวิเคราะห์จากโนมูระ ระบุว่า เมื่อมองจากสถานะทางการเงินในโลกแล้ว เอเชียจะถือเป็นภูมิภาคที่โดดเด่นมากที่สุด โดยจะเห็นการ Outperform ในระยะกลางจากเอเชีย ซึ่งภาวการณ์เติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศอื่น ๆ ที่อ่อนตัว และวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยที่ใกล้ถึงจุดสิ้นสุดนั้น จะส่งผลให้นักลงทุนมองหาโอกาสใหม่ ๆ และเข้าลงทุนในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานที่แข็งแรง โดยเอเชียมีคุณสมบัติครบทุกประการ
ที่มา: ซีเอ็นบีซี