สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่คึกคักสำหรับตลาดการเงิน เพราะมีการจัดการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำ ของโลกถึง 3 แห่ง ท่ามกลางกระแส คาดการณ์ว่าจะมีการดำเนินนโยบาย ที่แตกต่างกัน เริ่มจาก เฟดจัดการประชุม ในวันที่ 13-14 มิ.ย. ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) จัดประชุมวันที่ 15 มิ.ย. ปิดท้ายด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่จัดการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย.
นักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะประกาศคงอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมนโยบายการเงินในวันพรุ่งนี้ หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ต่ำสุดในรอบ 2 ปี
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 96.4% ที่เฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. และ ให้น้ำหนักเพียง 3.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%
การที่นักลงทุนมั่นใจว่าเฟดจะ คงดอกเบี้ย มีขึ้นหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัด เงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือนพ.ค.ในวันนี้ โดยตัวเลข CPI ทุกรายการสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์
ทั้งนี้ ดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.0% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็น ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.2564 และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 4.9% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนพ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จาก ระดับ 0.4% ในเดือนเม.ย.
ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.3% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 5.5% ในเดือนเม.ย.
เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนพ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 0.4% ในเดือนเม.ย.
นอกจากความเคลื่อนไหวด้านอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ แล้ว ประเทศอื่นๆ อย่างนิวซีแลนด์ ก็มีรายงานว่า เศรษฐกิจแดนกีวีส่อเค้าว่าถดถอยเร็วกว่าคาด จากผลกระทบแบงก์ชาติขึ้นดอกเบี้ย
นักวิเคราะห์จากโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจนิวซีแลนด์อาจจะหดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) คาดการณ์ไว้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของ นิวซีแลนด์จะหดตัวลง 0.1% ในไตรมาส 1 ปี 2566 หลังจากที่หดตัวลง 0.6% ในไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งเข้าเกณฑ์ของคำนิยามที่ว่า จีดีพีที่หดตัวลงติดต่อกัน 2 ไตรมาสบ่งชี้ถึง ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยสำนักงานสถิติ แห่งชาติของนิวซีแลนด์มีกำหนดเปิดเผย ตัวเลขจีดีพีประจำไตรมาส 1 ปี 2566 ในวันพฤหัสบดีนี้ (15 มิ.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น
“ไมเคิล กอร์ดอน” นักวิเคราะห์จากเวสต์แพค แบงกิ้ง คอร์ป กล่าวว่า “เศรษฐกิจนิวซีแลนด์เผชิญกับความ ไม่แน่นอนเป็นวงกว้างในไตรมาสแรกของปีนี้ และภาพรวมบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจ ชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบของการที่ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย”
ทั้งนี้ ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วทั้งสิ้น 5.25% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเป้าหมาย เพื่อควบคุมอุปสงค์และชะลอความร้อนแรงของเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุไซโคลนพัดถล่มนิวซีแลนด์ในเดือนก.พ.ปีนี้ ยังส่งผลกระทบต่อ พื้นที่ส่วนใหญ่ในนอร์ธไอส์แลนด์หรือ เกาะเหนือของนิวซีแลนด์
ขณะที่ ชาติยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจโลกอย่างจีน กลับดำเนินนโยบายตรงข้ามกับสหรัฐ โดยแบงก์ชาติจีนลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 เดือน หวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากโควิด
ธนาคารกลางจีนหั่นอัตราดอกเบี้ย กู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร 7 วัน เป็นครั้งแรก ในรอบ 10 เดือน หวังกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังโควิด-19
เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ธนาคารกลางจีนประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นลง 10 basis points จาก 2.00% ลงเหลือ 1.9% และอัดฉีดเงินอีก 2 พันล้านหยวน เข้าระบบเศรษฐกิจผ่านตราสารหนี้ระยะสั้น หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจ บ่งชี้ว่า ดีมานด์สำหรับสินค้าและอัตราการบริโภคของผู้คนในประเทศยังคงต่ำ ทำให้นักลงทุน มีมุมมองที่ไม่ดีต่อตลาดจีน
การเคลื่อนไหวของธนาคารจีนนับว่า เป็นการเคลื่อนไหวสวนทางกับประเทศอื่นๆ ที่ในขณะนี้ยังคงเจอปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารกลางต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อ ลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลง
ปัจจุบัน จีนกำลังเสี่ยงเจอปัญหา ภาวะเงินฝืด (deflation) เพราะเศรษฐกิจหลังเปิดประเทศฟื้นตัวไม่เร็วอย่างที่หวัง เพราะคนในจีนยังไม่กลับมาใช้จ่าย ทำให้ดีมานด์ในประเทศลด
นอกจากนี้ บริษัทในจีนยังได้รับคำสั่งผลิตสินค้าจากบริษัทในประเทศลดลง ทำให้กิจกรรมการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญกับเศรษฐกิจจีนซบเซาตามไปด้วย
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของจีนลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ในเดือนพ.ค. โดยลดลง 4.6% จากปีก่อนหน้า ลดลงมากที่สุด ตั้งแต่เดือนก.พ. 2559 และมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ อยู่ที่ 4.3% ในขณะที่ ดัชนีราคา ผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% จาก ปีก่อนหน้า น้อยกว่าการคาดการณ์ที่ 0.3%
หลังจากมีการปรับลดดอกเบี้ย ค่าเงินหยวนอ่อนลงไปอยู่ที่ 7.1646 หยวนต่อดอลลาร์ เป็นค่าที่อ่อนที่สุดนับตั้งแต่ วันที่ 29 พ.ย. 2565 เพราะนักวิเคราะห์มองว่า การตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ของธนาคารกลางในครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแบบอื่น อีกในอนาคตเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ระหว่างการไปเยือนเมืองเซี่ยงไฮ้ ในวันศุกร์ที่ผ่าน ‘ยี่ กัง’ ผู้ว่าแบงก์ชาติจีน กล่าวว่า CPI ของจีนจะขึ้นไปถึง 1% ภายในสิ้นปีนี้ และธนาคารกลางจะมีการใช้มาตรการอื่นๆ อีก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อ โดยมองว่า จีนยังมีศักยภาพในการฟื้นตัวที่ดี และยังมีพื้นที่ ให้ธนาคารกลางใช้นโยบายทางการเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่องของเศรษฐกิจได้อยู่
นักวิเคราะห์มองว่า จะมีการลด Medium-term lending facility rate (MLF) หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระยะกลาง (3 เดือน -1 ปี) ในวันที่ 15 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ และมีการลดอัตราดอกเบี้ย Loan prime rates(LPR) หรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ ธนาคารพาณิชย์ให้แก่ลูกค้าชั้นดี ซึ่งเกี่ยวข้อง กับอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อในการซื้อบ้าน
ที่ผ่านมา ธนาคารใหญ่ๆ หลายแห่งในจีน ประกาศลดดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อลดภาระทางการเงินของภาคการเงินในประเทศ และดึงต้นทุนในการกู้เงินให้ต่ำลงไปด้วย
ที่มา: รอยเตอร์