2023 – The Rise of Asia |
INVESTMENT STRATEGY
By BBLAM – The Rise of Asia
“สัปดาห์นี้ สปอตไลท์ยังอยู่ที่เวียดนาม โดย BBLAM จะมาเพิ่มมุมมองโอกาสลงทุนในหุ้นเวียดนาม โดยเวียดนามกำลังจะกลายเป็นโรงงานของโลกแห่งต่อไปต่อจากประเทศจีน”
คุณวันภาสิริ พัฒนกิจการุณ Investment analyst จาก BBLAM ให้มุมมองโอกาสลงทุนในหุ้นเวียดนาม ดังนี้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความผันผวนต่อเศรฐกิจโลกอย่างมาก รวมถึงมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสงครามรัสเซีย ยูเครน ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน ปัญหาทางด้านพลังงาน แม้ว่า หลายปัญหามีสถานการณ์ที่ดีขึ้นในปี 2023 แต่หนึ่งปัญหาที่ยังคงไม่คลี่คลายและต่อเนื่องมา คงหนีไม่พ้น ปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาฯ กับจีน ซึ่งประเด็นดังกล่าวกำลังสร้างโอกาสให้ประเทศหนึ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เวียดนาม ที่กำลังถูกจับตามองว่า เวียดนามจะกลายเป็นโรงงานของโลกแห่งต่อไป ต่อจากประเทศจีน
โดยในช่วงก่อนหน้านี้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ยังมีต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งประเทศเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีนได้ออกนโยบายและท่าทีตอบโต้การกีดกันการค้ากันมาตลอด อย่างในช่วงเดือนตุลาคม 2022 ทางสหรัฐฯมีคำสั่งห้ามส่งออก เคลื่อนย้าย อุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปของจีน ส่งผลต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ ในจีน รวมถึงบริษัทที่เข้าไปตั้งโรงงานในจีน จากปัจจัยที่กล่าวมานี้ ได้ทำให้หลายบริษัทตัดสินใจเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบ จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และสร้างความมั่นคงให้กับห่วงโซ่อุปทานของตนเอง โดยเวียดนามนับเป็นหนึ่งในจุดมุ่งหมายที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น Foxconn ที่รับประกอบสินค้าให้กับ Apple ได้ย้ายฐานการผลิต iPad และ MacBook ออกจากจีนไปเวียดนาม โดย Foxconn ได้ลงทุนเม็ดเงินกับประเทศเวียดนามไปแล้วถึง 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และยังได้วางแผนจะระดมทุนอีกกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อีกทั้งเตรียมจะรับสมัครพนักงานเพิ่มอีก 10,000 คนด้วย หรือ Nike รองเท้าของแบรนด์กีฬายักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของรองเท้า Nike ของยอดขาย ณ ปัจจุบัน ผลิตในเวียดนาม ทำให้สัดส่วนที่ผลิตในจีนลดลงเหลือ 21%
คำกล่าวที่ว่า เวียดนามได้กลายมาเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ สะท้อนได้จาก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment (FDI) ที่ไหลเข้าเวียดนามเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ปี 2020 มูลค่า 537,200 ล้านบาท ส่วนปี 2021 มูลค่า 669,800 ล้านบาท และปี 2022 มูลค่า 762,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นทุกปี เป็นปัจจัยบวกต่อเวียดนามเป็นอย่างมาก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ เวียดนาม กลายเป็นโรงงานของโลกแห่งใหม่ มีดังนี้
- เวียดนามมีความได้เปรียบในเรื่องของแรงงาน ทั้งในเรื่องค่าแรงและอายุเฉลี่ยโครงสร้างของคนเวียดนาม ปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของเวียดนามอยู่ที่ 6,800 บาทต่อเดือน เมื่อเปรียบเทียบกับจีนในปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำของจีนอยู่ที่ 13,000 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าแรงถือเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเป็นต้นทุนหลักที่บริษัทต้องพิจารณาที่ทำให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่ง เลือกที่จะไปยังเวียดนาม เห็นได้จาก กรณี Sharp บริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเวียดนาม นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรของเวียดนาม ยังมีความพร้อมที่จะเป็นฐานรองรับการผลิต โดยเวียดนามนั้นมีประชากรที่อยู่ในวัยทำงานกว่า 56 ล้านคน หรือราว 61% ของจำนวนประชากรทั้งหมด มีการเปลี่ยนโครงสร้างอาชีพจากภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและบริการมากขึ้น ส่งผลให้รายได้ต่อหัว และการอุปโภค-บริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนเศรฐกิจเวียดนามให้เติบโตต่อเนื่องต่อไป
- เวียดนามยังเป็นชนชาติที่มีทักษะแรงงานดี ชาวเวียดนามเป็นชาติที่มีนิสัยพื้นฐานเป็นคนขยัน แรงงานมีฝีมือคุณภาพสูงและความซับซ้อนทางเทคนิคโดดเด่นในด้านการประกอบและการผลิตขนาดใหญ่ เห็นได้จากกรณี IKEA ที่มีฐานการผลิตในเวียดนาม คิดเป็นเกือบ 100% ของ supplier ในด้านของตกแต่งภายนอกที่ใช้วัสดุทำจากไม้ไผ่และหวาย ซึ่งทักษะนี้ต้องใช้ช่างทอและช่างฝีมือที่มีทักษะมากกว่าการทำเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ผลการสำรวจของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) พบว่า บริษัทต่างชาติที่ทำหรือคิดจะทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชี้ว่า แรงงานมีทักษะของเวียดนาม คือ ปัจจัยที่ดึงดูดการตัดสินใจการมาทำธุรกิจมากที่สุด ซึ่งสำรวจกับผู้มีอำนาจตัดสินใจมากกว่า 1,500 คนในบริษัทที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 170 ล้านบาท) ใน 6 ประเทศ ประกอบด้วย จีน อินเดีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนีและสหรัฐฯ
- เวียดนามออกกฎหมายและข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศ รัฐบาลเวียดนามได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศผ่านการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมายที่เอื้อต่อการลงทุน อาทิ กฎหมายการลงทุน 2014 ที่ช่วยลดกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจและอุปสรรคจากการค้า ทั้งทางตรงและทางอ้อม เห็นได้จากกรณี Samsung บริษัทผู้นำการผลิตสินค้าเทคโนโลยี ก็ได้ย้ายฐานการผลิตสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ มาอยู่ในเวียดนาม ซึ่ง Samsung ได้สิทธิประโยชน์ในการได้รับการยกเว้นภาษี อาทิ การได้รับยกเงินภาษีเงินได้ 4 ปีแรกจากการดำเนินงานและเสียในอัตราร้อยละ 10 เป็นเวลา 27 ปี และได้ประโยชน์ทางอ้อมจากข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-เกาหลีใต้ ที่เวียดนามจะลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเกาหลีใต้ลง ทำให้สามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น และสามารถนำเข้าสินค้าได้ในราคาถูกลง โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า นอกจากนี้ ปัจจุบันเวียดนามจับมือกับเขตการค้าเสรีที่สำคัญอีกหลายที่ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (The EU-Vietnam Free Trade Agreement: EVFTA) ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) เป็นต้น
- รัฐบาลเวียดนามทุ่มงบประมาณกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2021 (คิดเป็น 5% ของ GDP) เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนต่อ GDP สูงที่สุดในอาเซียน ต่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระหว่างปี 2021-2025 ของประเทศรวมทั้งหมด 1.25 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องการขนส่ง ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันในภูมิภาคและเป้าหมายก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2045
จากปัจจัยที่กล่าวมา ส่งเสริมให้เวียดนาม มีโอกาสขึ้นมาเป็น โรงงานแห่งต่อไปของโลก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้อย่างโดดเด่น เห็นได้ในปี 2022 GDP เวียดนามโตได้ 8.02% ซึ่งขยายตัวเร็วสุดในรอบ 25 ปี และถือเป็นตัวเลขสูงที่สุดของเวียดนามนับตั้งแต่ปี 1997 และยังคงมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยแรงผลักดันทางด้านการส่งออกและการลงทุน โดยเฉพาะสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนเป็นอย่างมาก อีกทั้งเวียดนาม ยังมีหลายนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ช่วยให้เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในจุดเด่นที่หายาก ท่ามกลางความถดถอยและวิกฤตทั่วโลก รวมถึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจที่น่าจะลงทุนในเวียดนามต่อไป
BBLAM แนะนำกองทุนลงทุนเวียดนาม : B-VIETNAM หรือกองทุนลดหย่อนภาษี ได้แก่ B-VIETNAMRMF และ B-VIETNAMSSF