โดย สรณกร เตชะยัน BBLAM
ในปัจจุบัน แทบปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม สามารถนับเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต สภาวะเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมต่างๆ เป็นวงกว้าง แต่อุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากเป็นบริการพื้นฐานที่จำเป็น โดยในปี 2564 อุตสาหกรรมนี้ต้องเจอกับความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่รายได้รวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 320,000 ล้านบาท ยังเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 2 จำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม 96 ล้านราย ขยายตัวร้อยละ 6 จากปีก่อน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของอุตสาหกรรมนี้ยังมีความท้าทายจากหลายปัจจัย ซึ่งจำกัดการเติบโตของธุรกิจ ปัจจัยแรก คือ สภาวะการแข่งขันของอุตสาหกรรมที่ผู้ให้บริการแต่ละรายยังคงเน้นการแข่งขันด้านราคา เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมและขยายส่วนแบ่งการตลาด โดยนำเสนอ Package การใช้ข้อมูลแบบไม่จำกัด (Unlimited Data Plan) ในอัตราค่าบริการต่ำ ทั้งในตลาดผู้ใช้บริการแบบรายเดือน (Post-Paid) และเติมเงิน (Pre-Paid) อีกทั้งตลาดอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง ผู้ให้บริการยังคงเสนอ Package ระดับราคาต่ำ เริ่มต้นที่ประมาณ 400 บาท และนำเสนอส่วนลดพิเศษแก่ลูกค้าใหม่และลูกค้าที่ย้ายค่าย เป็นปัจจัยกดดันรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งานต่อเดือน (ARPU) ของอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่สอง คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไป การใช้โทรศัพท์สนทนาด้วยเสียง (Voice Call) และส่งข้อความ (Text Message) ด้วยการใช้ Application จากต่างประเทศ เช่น Line, WhatsApp, Facebook Messenger มากขึ้นเรื่อยๆ จนสัดส่วนการโทรออกแบบปกติ หรือการส่งข้อความ SMS จากหมายเลขโทรศัพท์ลดน้อยลง ส่งผลให้สัดส่วนรายได้ของผู้ให้บริการ ทั้งส่วนของ Voice call และ SMS มีแนวโน้มที่ลดลงจากเดิมมาก และ Application เหล่านี้ หรือที่เรียกกันว่า ผู้ให้บริการ OTT (Over-the-top) ต้องส่งผ่านข้อมูลมหาศาลในระบบ โดยเฉพาะบริการ Content Streaming เช่น Netflix, Disney+ และ Online Gaming ส่งผลให้ผู้ให้บริการมีความจำเป็นในการเข้าประมูลคลื่นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากระดับหลายหมื่นล้านบาท อีกทั้ง กสทช. ยังกำหนดเพดานอัตราค่าบริการ (ประกาศ กสทช. ปี 2562) ทั้งในส่วนของ Voice และ Data ทำให้ผู้ให้บริการไม่สามารถขึ้นค่าบริการในอัตราที่สูงได้
ความท้าทายอีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ให้บริการอาจจะต้องพบในอนาคต คือ บริการอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง อาจถูกทดแทนโดยบริการ High Speed Internet ผ่านดาวเทียมโดยผู้ให้บริการจากต่างประเทศ อย่าง Starlink ที่ Elon Musk ได้คิดค้นและทดลองให้บริการในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2563 ขณะนี้ให้บริการในทวีปอเมริกาและยุโรป มีจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 500,000 คน (เดือนมิถุนายน 2565) มีดาวเทียมในระบบกว่า 3,000 ดวง โดยมีแผนที่จะปล่อยดาวเทียมขึ้นสู่ระบบทั้งหมดกว่า 42,000 ดวงในอนาคต เป็นอีกเทคโนโลยีที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต
ดังนั้น โจทย์สำคัญของผู้ให้บริการ คือ จะปรับตัวอย่างไรต่อปัจจัยต่างๆ ที่เข้ามากระทบ เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคง มีการเติบโตของรายได้ กำไร รวมถึงเงินปันผลในอนาคต โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อทั้งผู้ถือหุ้นและผู้บริโภคเป็นสำคัญ แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ การเข้าถึงเทคโนโลยี 5G คาดว่าจะขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าระดับกลางมากขึ้น โดยจะมีมือถือที่รองรับเทคโนโลยี 5G ออกสู่ตลาดมากขึ้นในระดับราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการมีแนวโน้มที่จะออก Package บริการ 5G ที่เหมาะสมกับลูกค้าระดับกลางมากขึ้น ส่งผลให้รายได้เฉลี่ยต่อหมายเลขต่อเดือน (ARPU) ในกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ 5G ปรับตัวเพิ่มขึ้น และนอกจากกลุ่มลูกค้าทั่วไปแล้ว ลูกค้าองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมเกษตร ขนส่ง การผลิต บริการ 5G จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีบริการอย่าง 5G Private Network, 5G MEC, 5G Network Slicing มารองรับ และลูกค้าองค์กรสามารถใช้บริการ Cloud Service, Cyber Security, Internet-of-Things (IoT) และ IT Solution ได้อีกด้วย
ส่วนธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้านความเร็วสูง อัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตบ้านต่อจำนวนครัวเรือนในประเทศไทย อยู่ที่ร้อยละ 60 แสดงให้เห็นถึงโอกาสในการเติบโตเพิ่มเติม โดยเฉพาะในต่างจังหวัด นอกจากนี้ ธุรกิจ Digital Lifestyle เป็นอีกธุรกิจที่ผู้ให้บริการกำลังให้ความสำคัญ จึงมีแนวโน้มที่จะลงทุนในธุรกิจ Content Streaming ต่างๆ เพิ่ม โดยจับมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีประสบการณ์ และช่องทางการสร้างรายได้ระยะยาว อาจมาจากค่าสมาชิกรายเดือน/รายปี หรือรายได้โฆษณา
เรื่องสุดท้ายที่คงต้องกล่าวถึง คือ ประเด็นการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE/DTAC ซึ่งเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ถือหุ้น ซึ่งผลลัพธ์นั้นยากที่จะคาดเดา แต่ถ้าวิเคราะห์ในมุมมองของบริษัทผู้ให้บริการ ถ้าการควบรวม 2 บริษัท ส่งผลให้เกิด synergy ได้จริง การที่ผู้ให้บริการมีการประหยัดทางขนาด (Economies of Scale) และสามารถบริหารโครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้ผู้ให้บริการมีพื้นฐานกิจการที่ดีขึ้น ส่งผลให้มีความสามารถที่จะให้บริการได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค โดยในระยะยาวอัตราการค่าบริการไม่น่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง เนื่องจาก กสทช.กำกับดูแล ซึ่งประกาศปี 2562 เรื่องการกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ ยังคงถูกบังคับใช้อยู่
จากภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เป็นบริการพื้นฐานที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันและต่อการดำเนินงานของทั้งภาครัฐและเอกชน จึงมีความต้านทานในระดับหนึ่งต่อความผันผวนของสภาพเศรษฐกิจ แต่ภาพอุตสาหกรรมโดยรวมยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ผู้ให้บริการจึงต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง โดยกิจการของผู้ให้บริการเองน่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ จากการเติบโตของรายได้ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และช่องทางการให้บริการใหม่ๆ รวมถึงสามารถเพิ่มอัตรากำไรจากพื้นฐานของกิจการที่ดีขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ การประหยัดทางขนาดและการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกจากจะทำให้ความสามารถในการให้บริการดีขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคแล้ว ยังตอบโจทย์ในมุมของผู้ถือหุ้นที่น่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีอีกด้วย