โดย รุ่งนภา เสถียรนุกูล BBLAM
สถานการณ์ขยะมูลฝอยของประเทศไทย พบว่า ในปี 2564 ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นอยู่ที่ 24.98 ล้านตัน หรือประมาณ 68,434 ตันต่อวัน หรือคิดเป็นอัตราการเกิดขยะมูลฝอย 1.03 กิโลกรัม/คน/วัน ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณขยะมูลฝอยในปีที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าจะมีปริมาณที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ที่เริ่มคลี่คลายลง แต่ประชาชนยังคงพฤติกรรมในการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์ จึงทำให้มีขยะมูลฝอยประเภทบรรจุภัณฑ์หรือพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use plastic) ยังอยู่ในระดับที่สูง
ไม่เพียงแต่ในประเทศไทย ที่มีปัญหาในเรื่องของการกำจัดขยะมูลฝอย ทั่วโลกเองก็มีปัญหาในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน จากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ปริมาณขยะที่ทิ้งออกมามีปริมาณที่สูง ส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการบริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ซึ่งในการกำจัดขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ดังนั้น แนวคิดเรื่อง Zero Waste จึงเกิดขึ้นมา เพื่อเป็นแนวทางในการลดการเกิดขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดให้ลดเหลือน้อยที่สุดจนเป็นศูนย์ โดยอาศัยหลักการจัดการขยะในรูปแบบ 1A3R ประกอบไปด้วย
- Avoid หลีกเลี่ยงการใช้งานของที่ทำให้เกิดขยะ หรือส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถุงพลาสติก โฟม หรือ ช้อมส้อมพลาสติกใช้แล้วทิ้ง
- Reduce ลดวัสดุที่ทำให้เกิดขยะ หรือใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง เช่น การใช้ถุงผ้าไปช็อปปิ้ง แทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า การพกกล่องอาหาร กระบอกน้ำ ทดแทนการใช้พลาสติก เช่น จาน หรือแก้วใช้ครั้งเดียวทิ้ง
- Reuse นำของที่ใช้แล้วมาใช้ใหม่
- Recycle หมุนเวียนของที่ใช้ไปแล้ว แปรรูปของให้นำมาใช้ใหม่ได้ หรือเลือกซื้อสิ่งของที่ผลิตมาจากวัสดุ Recycle
สำหรับประเทศไทย ได้มีโครงการประชารัฐร่วมใจ ประเทศไทยไร้ขยะ โดยส่งเสริมให้มีความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็น ในภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือประชาชน ในการร่วมกันแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ให้ประเทศไทยไปสู่สังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) ภายใต้แนวคิด 3Rs-ประชารัฐ ส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทาง ลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) การนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) วางรากฐานการดำเนินการจัดการขยะให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เริ่มมีหลายองค์กรในประเทศไทยที่นำแนวคิดเรื่อง Zero Waste มาปรับใช้ในองค์กร ยกตัวอย่าง เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีแนวคิดตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2573 ในกระบวนการผลิตทางเครือเจริญโภคภัณฑ์จะพยายามลดขยะ ของเสีย ให้กลายเป็นศูนย์ ซึ่งในปัจจุบันที่เริ่มทำแล้ว เช่น CPF, CPALL ก็ลดใช้ถุงพลาสติก รณรงค์ให้ใช้ถุงผ้ามาซื้อสินค้า ลดการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด เป็นต้น กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ยกเลิกการใช้ถุงหิ้วพลาสติกใส่ยาให้ผู้ป่วย และเชิญชวนให้ผู้รับบริการนำถุงผ้า หรือ กระเป๋ามาใช้แทน เพื่อช่วยลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติก บริษัท เอสซีจี หนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่งเสริมแนวคิด ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก มีโครงการ “บางซื่อโมเดล” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวปฏิบัติ “SCG Circular Way” ที่มุ่งจัดการของเสียภายในสำนักงานใหญ่บางซื่อ เพื่อสร้างความตระหนักให้พนักงานเห็นคุณค่าของทรัพยากร เป็นต้นแบบที่ดีด้านบริหารจัดการของเสีย ปลูกฝังหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับพนักงานผ่านเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยแนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” ตลอดจนส่งต่อแนวคิดการบริหารจัดการขยะสู่ชุมชนภายนอก ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน “KoomKah” (คุ้มค่า) เพื่อช่วยบริหารจัดการรวบรวมและคัดแยกขยะจากชุมชน ทำให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะทำงานได้สะดวกมากขึ้น
ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ที่สนับสนุนแนวคิดเรื่องของ Zero Waste แต่ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใน ASEAN เช่น มาเลเซีย มีความตั้งใจผันประเทศไม่ให้เป็นที่ทิ้งขยะพลาสติกจากประเทศพัฒนาแล้ว พร้อมกับปรับวิธีคิดและวัฒนธรรมในการจัดการขยะพลาสติกจากสินค้าประเภทต่างๆ ภายในประเทศ มุ่งหน้าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีขยะเป็นศูนย์ (“Net Zero Waste Nation’’) โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรการใช้งาน (End-of-Life) ทำให้บริษัทหรือแบรนด์สินค้าต้องหันมาทบทวนการใช้ทรัพยากร กระบวนการเก็บขยะ ระบบการแยกขยะ และการออกแบบโครงสร้าง รวมถึงบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้ หรือให้นำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) ไปจนถึงเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ขณะที่ภาครัฐจะหันมาใช้นวัตกรรม การเก็บภาษี การช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงิน รวมทั้งการออกกฎระเบียบและกฎหมายที่จะอำนวยความสะดวกธุรกิจขนาดเล็กและปานกลาง ส่วนสิงคโปร์ก็จัดทำแผนแม่บทสิงคโปร์ปลอดขยะ (Zero Waste Masterplan) เมื่อปี 2562 กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะปรับเปลี่ยนประเทศไปสู่ประเทศปลอดขยะ (Zero Waste Nation) โดยกำหนดเป้าหมายที่จะลดปริมาณขยะที่จะต้องส่งไปกำจัด ด้วยการฝังกลบลงให้ได้ร้อยละ 30 นั่นคือ ลดจาก 0.36 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ในปีฐาน 2561 ให้เหลือ 0.25 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ภายในปี 2573 โดยจะเพิ่มอัตราการรีไซเคิลในภาพรวมให้ได้ร้อยละ 70
การใช้ชีวิตแบบ Zero Waste ไม่ได้ทำได้ยากเกินกำลัง แค่เริ่มจากตัวเราเองในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภค การเริ่มต้นอาจจะทำง่ายๆ เช่น เริ่มใช้ถุงผ้าเวลาไปซื้อของ ไม่รับช้อน ส้อม ตะเกียบพลาสติก เวลาสั่งอาหาร Delivery พกขวดน้ำประจำตัว เพื่อหลีกเลี่ยงและลดการใช้ชวดพลาสติก แยกขยะก่อนทิ้ง การแยกขยะจะทำให้สามารถแยกประเภทของขยะ ว่าอันไหนสามารถที่จะนำกลับมาใช้ได้ อันไหนสามารถที่จะ Recycle นอกจากนี้ ขยะที่ต้องกำจัดทิ้งก็สามารถนำไปกำจัดได้อย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ที่ตัวเรา และส่งเสริมให้คนรอบข้างมาร่วมอุดมการณ์ด้วย การร่วมมือร่วมใจกัน ลด ละ เลิก ใช้ขยะกันคนละเล็กคนละน้อย แนวคิด Zero Waste ก็ไม่ยากเกินที่จะทำให้เกิดขึ้นจริง