BBLAM Knowledge Tips: จัดพอร์ตลงทุนด้วยวิธี DCA ต้องใส่ใจอะไรบ้าง

BBLAM Knowledge Tips: จัดพอร์ตลงทุนด้วยวิธี DCA ต้องใส่ใจอะไรบ้าง

โดย พริ้มพัชร จิรบวรพงศา, AFPTTM BBLAM

               ปัจจุบันการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย หรือ DCA (Dollar Cost Averaging)  ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมือใหม่  รวมถึงวัยทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลา ด้วยหลักการที่ว่า การลงทุนด้วยวิธี DCA จะช่วยจัดการความเสี่ยง หรือความผันผวนที่เกิดจากการจับจังหวะเข้าลงทุน (Market Timing) ทำให้เรามีโอกาสได้รับราคาต้นทุนแบบถัวเฉลี่ย ที่ไม่ถูกไม่แพงจนเกินไป อีกทั้งยังช่วยสร้างวินัยให้เกิดการลงทุนอย่างสม่ำเสมอไปพร้อมๆ กันด้วย  ทำให้ในภาพรวมสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับพอร์ตการลงทุนได้ในระยะยาว    

               การลงทุนด้วยวิธี  DCA  มักจะได้รับทัศนคติในเชิงบวก และถูกพูดถึงเสมอว่า  สามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีได้แน่นอน  … แต่ในโลกของการลงทุน  ความแน่นอน คือ ความไม่แน่นอน เพราะในความเป็นจริง  DCA ไม่ได้เหมาะกับสินทรัพย์ทุกประเภท แต่เหมาะกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง หรือความผันผวนค่อนข้างมาก และสินทรัพย์ที่เลือกลงทุนด้วยวิธี DCA ก็ควรจะต้องเป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว รวมถึงตัวของเราเองก็ควรที่จะลงทุนระยะยาว เพื่อให้สอดคล้องไปกับวิธี DCA ด้วยเช่นกัน เพราะอย่างที่เรารู้กันดีว่า  การลงทุนด้วยวิธี DCA ในแต่ละครั้ง ก็อาจจะได้ราคาถูกบ้าง แพงบ้าง สลับสับเปลี่ยนกันไป  ซึ่งถ้าหากเราลงทุนได้ไม่นานพอ โชคไม่ดีก็อาจทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของเราแพงกว่าที่คิด

               ทั้งนี้ การลงทุนด้วยวิธี DCA ได้ถูกแนะนำให้นำมาปรับใช้ ในการจัดพอร์ตลงทุนอยู่เสมอ โดยเฉพาะการลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งก็มีหลายกองทุน และหลายนโยบายลงทุน ที่นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย  ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำ อย่างตราสารหนี้ ไปจนถึงความเสี่ยงสูง อย่างหุ้น หรือทองคำ โดยการจัดพอร์ตลงทุน จะมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทมากน้อยแตกต่างกันไป ตามเป้าหมายและความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนแต่ละคนเอง

               โดยการจัดพอร์ตลงทุนด้วยวิธี  DCA มีข้อที่ควรใส่ใจอยู่หลายอย่าง อย่างแรก ก็คือ สัดส่วนของเงินลงทุนที่อยู่ในพอร์ตของเราจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จากการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์แต่ละประเภท เดี๋ยวกำไร เดี๋ยวขาดทุน และในขณะเดียวกัน พอร์ตของเรา ก็จะมีเงินเติมเข้ามาสม่ำเสมอเป็นประจำทุกเดือน (หรือตามความถี่ที่เรากำหนด DCA) ทำให้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเคลื่อนไหว และอาจมีความเสี่ยงที่ผิดไปจากเป้าหมาย หรือความตั้งใจของเราในทีแรก ซึ่งเราควรที่จะใส่ใจทำการปรับสัดส่วนสินทรัพย์แต่ละประเภท ให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอยตามเป้าหมาย หรือ Re-Balancing

               จากนั้นก็ต้องใส่ใจ ติดตามข่าวสาร หรือสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนอยู่เสมอด้วย เพราะคนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่า เมื่อลงทุนด้วยวิธี DCA แล้ว ก็สามารถทิ้งไปได้เลย ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง เพราะ DCA เหมาะสำหรับสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตได้ในระยะยาว เติบโตต่อไปได้นานๆ ดังนั้น ถ้าหากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิด หรือเปลี่ยนแปลงไป เราก็อาจจะต้องพิจารณาขายคืนออกมา (Cut Loss) เพื่อหาโอกาสจากการลงทุนระยะยาวในสินทรัพย์ใหม่ๆ ที่มีโอกาสมากกว่าแทน